การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งสุดท้ายก่อนรัฐบาลหมดวาระครบ 4 ปี ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังคงเฝ้ารอการปรับ ครม. ครั้งนี้ที่สุด หนีไม่พ้นพรรคที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งหัวหน้าพรรคอยู่
พรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการให้มีปรับ ครม. ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของ นิพนธ์ บุญญามณี ที่ว่างลงจากการลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีการเสนอ ‘นริศ ขำนุรักษ์’ ส.ส. จังหวัดพัทลุง ขึ้นดำรงดำแหน่งแทน พร้อมทั้งยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการแค่ปรับตำแหน่งที่ว่างลงในโควตาของพรรคเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีวี่แววใดๆ
ย้อนกลับไป จุรินทร์แสดงท่าทีต่อการปรับ ครม. ในหลายครั้งหลายโอกาส นับตั้งแต่นิพนธ์พ้นตำแหน่งไป แต่ท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปรับ ครม. ยังปฏิเสธการปรับ ครม. ต่อสื่อมวลชนในทุกครั้งที่มีการให้สัมภาษณ์
วันที่ 5 ตุลาคม จุรินทร์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนเข้าร่วมการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการจะหารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ เรื่องการปรับ ครม. ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความประสงค์ที่จะให้มีบุคคลของพรรคมาทำหน้าที่แทนนิพนธ์ แต่ขณะนั้นยังไม่ได้พิจารณาตัวบุคคล และไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของพรรค
“การเสนอปรับ ครม. เป็นสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ไม่มีผลผูกพันและกระทบกับพรรคอื่น ส่วนพรรคอื่นจะปรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพรรคนั้น และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจนายกรัฐมนตรีด้วย” จุรินทร์กล่าว
วันที่ 11 ตุลาคม จุรินทร์ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมเสนอชื่อเพื่อขอปรับ ครม. อีกครั้ง โดยยืนยันว่า ปรับตำแหน่งเดียวคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนเงื่อนไขจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามมติพรรค มีการพิจารณาตามความเหมาะสม
วันที่ 12 ตุลาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมกรรมการบริหารของพรรค โดยที่ประชุมได้มีการลงมติ เลือก นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส. จังหวัดพัทลุง ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยแทน นิพนธ์ บุญญามณี
จากนั้นระยะเวลาผ่านมาเกือบ 1 เดือน วันที่ 15 พฤศจิกายน จุรินทร์ให้สมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังการประชุม ครม. ถึงการปรับ ครม. เพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างลงอีกครั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอชื่อตัวบุคคลที่เข้ารับตำแหน่งแทนนิพนธ์ไปแล้ว ซึ่งการเสนอชื่อครั้งนี้หมายความว่าพรรคมีความประสงค์ที่จะปรับ ครม.
ส่วนท่าทีของพรรคอื่นจะปรับ ครม. หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับพรรคนั้นๆ ไม่มีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ที่จะดำเนินการคือท่านนายกฯ จะให้เกียรติท่าน โดยไม่สอบถามเรื่องนี้เพิ่มเติม ขอให้เวลาแก่ท่านว่าจะเสนอทูลเกล้าฯ ทั้งนี้คาดว่าจะเป็นช่วงหลังการประชุม APEC
แต่หลังจากผ่านการประชุม APEC จบสิ้นไปแล้ว 1 สัปดาห์ ก็ยังไม่ปรากฏการทูลเกล้าฯ นำรายชื่อขึ้นถวาย ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จุรินทร์กล่าวยอมรับว่าสมาชิกของพรรคหลายคนเริ่มมีอาการอึดอัดต่อการไม่ปรับ ครม.
พร้อมระบุว่า ปกติรัฐบาลผสม เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอชื่อรัฐมนตรีไปยังหัวหน้ารัฐบาลแล้ว ไม่ค่อยมีปรากฏว่านายกรัฐมนตรีจะเก็บรายชื่อไว้ก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ นานขนาดนี้
“การเสนอชื่อบุคคลแทน นิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่มีผลผูกพันพรรคร่วมรัฐบาลอื่น และหากพรรคอื่นไม่มีความประสงค์ที่จะปรับคณะรัฐมนตรีก็สามารถดำเนินการเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้เลย” จุรินทร์ระบุ
ขณะที่ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคปราธิปัตย์ ได้ส่งเสียงไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ว่า พรรคยึดหลักการในการปรับ ครม. เมื่อมีรัฐมนตรีของพรรคว่างลง เนื่องจากมีการลาออกของนิพนธ์ พรรคได้เลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน และมีมติเลือกนริศ และหัวหน้าพรรคได้นำชื่อส่งให้นายกฯ เพื่อดำเนินการต่อครบถ้วนตามกระบวนการแล้ว
“หลักการสำคัญอีกประการ คือมีนโยบายสำคัญที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยคนเดิมได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของพรรค คือเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชน พรรคตั้งใจที่จะให้นริศ ขำนุรักษ์เร่งเข้าไปขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุดในช่วงที่รัฐบาลกำลังจะหมดวาระ หากเข้ามาทำหน้าที่จะเป็นผลดีต่อประชาชนเป็นอย่างมาก” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลอดอายุรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2562-2565 มีการแต่งตั้ง-ปรับเข้าปลดออกคณะรัฐมนตรีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2 จำนวน 36 คน 39 ตำแหน่ง
หลังจากการเลือกตั้งมีการร่วมรัฐบาลของ 6 พรรคการเมืองคือ พลังประชารัฐ (พปชร.) ภูมิใจไทย (ภท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) หรือพรรครวมพลัง และพรรคชาติพัฒนาในปัจจุบัน ที่มี พล.อ. ประยุทธ์นั่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
วันที่ 10 กรกฏาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี มีจำนวนทั้งสิ้น 36 คน รวม 39 ตำแหน่ง มีรายชื่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี
- สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมตรี
- วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง
- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
- ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
- สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
- อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
- พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรรม
- สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
- สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
- อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- 30 มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- 31 กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
- สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ครั้งที่ 2 สี่กุมารออก เสริมทัพ 7 ตำแหน่ง
ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่งจำนวน 6 ราย คือ
- สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
- อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
จากนั้นวันที่ 4 สิงหาคม 2563 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่ม 6 คน 7 ตำแหน่ง
- ดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรองนายกรัฐมนตรี เพิ่มอีกตำแหน่ง
- สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- อนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- ปรีดี ดาวฉาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง
- เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- สุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ครั้งที่ 3 ปรับ-เปลี่ยนตัว รมว.คลัง
จากนั้นระยะเวลาผ่านไป 25 วัน สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศ พล.อ. ประยุทธ์ รับทราบการขอลาออกของ ปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยปัญหาทางสุขภาพ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2563 เป็นต้นไป และเป็นการแต่งตั้ง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563
ครั้งที่ 4 รัฐมนตรี กปปส. พ้นตำแหน่ง
การปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย ราชกิจจาประกาศให้ 3 รัฐมนตรี คือ 1. ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 2. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากถูกศาลพิพากษาจำคุก ความเป็นรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ประกาศเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564
ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 160 (7) บัญญัติไว้ว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยไม่คำนึงว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ หรือคำพิพากษาที่ให้ลงโทษจำคุกนั้นจะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ความผิดที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษนั้นจะเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดฐานหมิ่นประมาท
ดังนั้น หากรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุก ถึงแม้ว่าคำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด ยังอยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ฎีกาตามกฎหมายอยู่ก็ตาม ก็ถือเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 (7)
จากนั้น วันที่ 23 มีนาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีและโยกย้ายตำแหน่งตั้งรัฐมนตรี อีก 4 คน 4 ตำแหน่ง
- วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
- ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- สินิตย์ เลิศไกร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
- ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีคณะรัฐมนตรีที่ถูกปลดออกและลาออกอีกหลายครั้งที่ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างลง
- ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 กันยายน 2564 ประกาศให้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
- ราชกิจจาประกาศ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 นิพนธ์ บุญญามณี ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่คือ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องคดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง รุกที่ป่าเขาใหญ่ อีกด้วยส่งผลให้สถานะคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงว่างลงรวม 3 ตำแหน่ง
ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเฝ้ารอ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด ทั้งท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล และความเป็นไปได้ที่ พล.อ. ประยุทธ์จะยุบสภาก่อนหมดวาระเดือนมีนาคมนี้ด้วยหรือไม่