ตลาดหุ้นไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 พฤศจิกายน) มีมูลค่าซื้อขายทรุดลงอย่างหนักเหลือ 3.68 หมื่นล้านบาทต่อวัน เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่มีมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยเบาบางมากเหลือเพียง 4.59 หมื่นล้านบาท เป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบประมาณ 2 ปี
โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มูลค่าซื้อขายหุ้นไทยที่เบาบางมากเหลือเพียง 4.59 หมื่นล้านบาทต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากประเด็นปัญหาของหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) กดดันให้นักลงทุนชะลอการซื้อขายหุ้นขนาดเล็ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- 9 หุ้นสุดฮอต ค่า P/E Ratio สูงทะลุ 500 เท่า
- เช็ก! 10 หุ้น SETHD จ่ายเงินปันผลสูง
สังเกตได้จากในรอบ 1 สัปดาห์ ดัชนี mai ปรับตัวลดลง 5% สวนทางดัชนี SET50 ที่ปรับขึ้น 0.8% โดยมีแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อกว่า 6.3 พันล้านบาท ซื้อสุทธิ 4 ใน 5 วัน โดยคาดหวังต่างชาติยังซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องจากภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นชัดเจนขึ้น
เผดิมภพ สงเคราะห์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.กรุงศรี กล่าวกับ THE STANANDARD WEALTH ว่า มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นที่ลดลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี สาเหตุหลักคาดว่าจากผลกระทบที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทย รวมทั้งชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เพื่อรอติดตามข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจในหลายประเด็น
โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ดัชนี PMI กับ ISM ภาคการผลิต, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานของเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะเป็นปัจจัยที่นำทางเศรษฐกิจ และนำข้อมูลมาย่อยเพื่อประกอบการพิจารณาการลงทุน รวมทั้งยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ทั้งการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กับธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed จะมีการประชุมในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ ส่วน ECB มีนัดประชุมดอกเบี้ยในวันที่ 15 ธันวาคมนี้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความกังวลเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดภาวะถดถอย (Recession) ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า มีความเสี่ยงกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) จะไหลออกจากตลาดหุ้นโลกในช่วงไตรมาส 1/66 ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยอาจได้รับผลกระทบให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จะเคลื่อนไหวได้จำกัด ซึ่งคาดว่าจะเห็นการผันผวนในกรอบแคบหรือค่อนข้างซึมตัวในกรอบดัชนีระหว่าง 1,600-1,650 จุด
อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวที่ดี โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าประเทศไทยและจีนเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจจะขยายตัว โดยคาดว่า GDP ไทยในปี 2566 จะขยายตัว 3.7% ต่อเนื่องจากปีนี้ที่จะขยายตัวที่ 2.8%
ทั้งนี้ จากปัจจัยบวกดังกล่าว เชื่อจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ให้เริ่มทยอยปรับตัวเพิ่ม รวมถึงสร้างความน่าสนใจกับนักลงทุนให้กลับมาลงทุน รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสเข้ามาซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้น โดย บล.กรุงศรี ให้เป้าหมายดัชนีช่วงสิ้นปี 2566 หรือต้นปี 2567 ไว้ที่ 1,800 จุด พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า EPS ของตลาดหุ้นไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 114 บาทต่อหุ้น เติบโตขึ้น 6-7% จากปี 2566
ขณะที่ ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ประเมินว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น เพราะในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาขาดปัจจัยชี้นำจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่หยุดซื้อขายในวันขอบคุณพระเจ้า
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบภายในจากกรณีหุ้น MORE อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเรื่องนี้เริ่มคลายกังวลลงแล้ว หลังจากช่วงท้ายสัปดาห์เริ่มเห็นหุ้นขนาดกลางและเล็กกลับมามีการซื้อขายที่แอ็กทีฟขึ้น
อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์นี้ (28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565) คาดว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะมีมูลค่าการซื้อขายกลับมาปกติเฉลี่ยระดับ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวันได้ หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปิดการซื้อขายตามปกติ รวมทั้งในสัปดาห์นี้หลายปัจจัยข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่สำคัญมาช่วยชี้นำการตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุน
โดยข้อมูลที่เตรียมประกาศในสัปดาห์นี้ ได้แก่
- วันนี้ (28 พฤศจิกายน) กระทรวงพาณิชย์จะรายงานตัวส่งออกของไทยของเดือนตุลาคมปีนี้ และข้อมูลส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2565
- วันที่ 30 พฤศจิกายน ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมดอกเบี้ยนโยบาย
- วันที่ 30 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัย กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังมีการแก้ที่มา ส.ส. ใหม่
- วันที่ 2 ธันวาคม สหรัฐฯ จะรายงานข้อมูลการจ้างงานเดือนพฤศจิกายนปีนี้
“ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าสภาพคล่องที่สูงที่เป็นเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยกำลังจะหมดไปหรือไม่ หลังจากมูลค่าซื้อตลาดหุ้นลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี แต่เชื่อว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น หลังจากมีปัจจัยชี้นำ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเปิดการซื้อขายในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าจะกระตุ้นให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับปกติที่เฉลี่ย 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน”
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า ยังคงเป้าหมาย SET Index ในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,690 จุด แม้ว่ากำไรรวมของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 3/65 ที่ออกมาอยู่ที่ 2.40 แสนล้านบาท ต่ำกว่าที่คาดไว้อยู่ที่ 2.90 แสนล้านบาท หรือลดลงราว 10%
และยังคงเป้าหมายกำไรต่อหุ้น (EPS) ในปีนี้ไว้ที่ 97 บาทต่อหุ้น เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน แม้ว่าล่าสุด Bloomberg Consensus ได้ปรับ EPS ของตลาดหุ้นไทยลงเหลือ 104 บาทต่อหุ้น จากเดิมทำไว้ที่ 107 บาทต่อหุ้น เนื่องจากกำไรของ บจ. ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นกระทบจากรายการกำไรพิเศษหุ้นกลุ่มธุรกิจพลังงาน ที่กำไรจากสต๊อกน้ำมัน (Stock Gain) ลดลงอย่างมาก ตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกในไตรมาส 3/65 ที่ราคาปรับตัวลดลงแรงจากช่วงไตรมาส 2/65
สำหรับใน 2566 คาดว่า EPS ของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ 107 บาทต่อหุ้น เติบโตขึ้น 15% จากปีนี้ตามการขยายของเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้เทรดดิ้งหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ได้แก่ หุ้นกลุ่มค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์ และโรงไฟฟ้า
ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่นักวิเคราะห์หลายแห่งในต่างประเทศเริ่มออกมาคาดการณ์ถึงผลกระทบในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ที่จะมีการประชุมดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ 2 แห่ง ทั้งของ Fed และ ECB ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.50-0.75% เพื่อใช้สกัดเงินเฟ้อที่กำลังเร่งตัวสูงขึ้นว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกนั้น
ประเมินว่าจะมีผลกระบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างจำกัด เนื่องจากมีปัจจัยบวกภายในประเทศเข้ามาสนับสนุน จากประเด็นการฟื้นตัวของ GDP ไทย หลังจากเริ่มกลับมาทยอยเปิดระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปีนี้ ทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจไทยเริ่มเคลื่อนตัวได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน และจะส่งผลให้ GDP ไทยในปีนี้และปีหน้าจะยังขยายตัวได้ตามที่ IMF คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังสามารถขยายตัวได้ รวมทั้งยังมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง
“ประเด็นดังกล่าวเข้ามาเป็นปัจจัยกันชนช่วยให้ตลาดหุ้นไทยในปีนี้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมีเสถียรภาพ สามารถต้านทานกับปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศได้ เมื่อดูข้อมูลจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นแล้ว 1.82 แสนล้านบาท ถือเป็นการกลับมาซื้อครั้งแรกในรอบ 5 ปี เป็นปัจจัยสะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติกลับมามีความสนใจในตลาดหุ้นไทย”