วันนี้ (25 พฤศจิกายน) บัณฑูร ล่ำซำ ไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศวิหารและวัดญาณสังวราราม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทยบนความไม่แน่นอน’ บนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงคำว่า เศรษฐกิจไทยบนปากเหวนั้นที่ผ่านมาตนก็เห็นมาทุกปี มันก็ปากเหวทุกปี ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องอะไรเท่านั้น ที่น่าสนใจคือมนุษย์ชอบเอาตัวเองไปอยู่ที่ปากเหว แล้วยกเท้าถีบตัวเองลงเหว THE STANDARD ตั้งชื่อมา ตนกลัวจะจำไม่ได้ ทั้ง VUCA, BANI กลัวจะจำไม่ได้ ขอตั้งอันใหม่สั้นๆ J&J คือเจ๊งกับเจ๊ง
บัณฑูรกล่าวถึง Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งในปัจจุบันมนุษย์ยังคิดไม่ออกว่าจะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศกลับมาอย่างไร เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเฉื่อย ดูดกลับมายากมาก แม้จะมีความพยายามในการวิจัยมากมาย
“วิธีเดียวที่ธรรมชาติสร้างมาให้คือต้นไม้ โดยกระบวนการต้นไม้ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไป ทำให้สมัยก่อนมีความสมดุลในโลกมนุษย์ เพราะมนุษย์ยังไม่ได้ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นมา แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น ตัวดูดสู้ตัวพ่นก๊าซออกไม่ได้ มิหนำซ้ำตัวดูดยังหายไป โลกมีแต่เสียป่า แต่ไม่ได้ป่า นั่นคือโจทย์ใหญ่” บัณฑูรกล่าว
บัณฑูรกล่าวต่อไปว่า แม้จะมีความพยายามรณรงค์การรักษาป่า แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกที่ขณะนี้ป่าก็ทยอยหายไป โดยได้ยกตัวอย่างป่าบอร์เนียว ซึ่งเป็นป่าใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยข้างหนึ่งเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกฝั่งหนึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้มนุษย์ ซึ่งทุกวันนี้พืชเศรษฐกิจเบียดพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะความพยายามสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะที่บอร์เนียว ที่ป่าแอมะซอนก็เช่นเดียวกัน
บัณฑูรกล่าวว่า จริงๆ สิ่งที่มนุษย์อยากได้คือป่าต้นน้ำชั้น 1 โดยยกตัวอย่างป่าต้นน้ำที่จังหวัดน่าน ซึ่งถูกคำนวณแล้วว่าเป็นที่กลั่นกรองมวลน้ำซึ่งคิดเป็น 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นทรัพยากรที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้
สำหรับจังหวัดน่านก็ถือเป็นหนึ่งจังหวัดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ 85% ของจังหวัด ราว 6.4 ล้านไร่ ถูกประกาศเป็นป่าสงวนตั้งแต่ปี 2507 ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนบริหารและกิจการต่างๆ ของประเทศ ทำให้ป่าหายไป 1.8 ล้านไร่ หรือ 28% ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 ของประเทศไทย
“ถามว่าทำไมไม่แก้ ทำไมไม่ปลูกป่า มันไม่ได้แก้ง่ายๆ อย่างที่คิด ถ้าแก้ง่ายมันก็แก้กันไปแล้ว กว่าจะรู้ตัวว่าหายไป 28% ก็ใช้เวลาตั้งนาน ระหว่างทางไม่มีใครสนใจ นี่คือโจทย์ ถามว่าใครจะแก้ มันต้องแก้กันหลายๆ มือ เพราะแก้คนเดียวไม่ได้” บัณฑูรกล่าว
บัณฑูรกล่าวต่อไปว่า ขณะที่ทุกบริษัทก็ประกาศเรื่อง ESG ซึ่งเป็นภาพใหญ่ แต่ถามว่าใครจะดูภาพเล็ก ซึ่งหากภาพเล็กไม่เสร็จ ภาพใหญ่ก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งทุกคนพูดปลูกป่า แต่ไม่เคยมีคนถามว่าการปลูกป่าสงวนชั้น 1 มันต้องใช้ต้นไม้ไร่ละกี่ต้น
โดยตนไปถามกรมป่าไม้ ซึ่งตามทฤษฎีวนศาสตร์เขาก็จะบอกว่าป่า 1 ไร่ต้องมีต้นไม้ 200 ต้น และต้องเป็นต้นไม้ตามรายชื่อของกรมป่าไม้ ไม่ใช่ปลูกทุเรียน มะม่วง แบบนี้นับเป็นป่าไม่ได้
“200 ต้นต่อไร่ ผมบอกมีปัญหาแน่ เพราะไม่มีพื้นที่ที่เหลืออยู่ใต้ต้นไม้ที่คนจะทำงานได้ และคนทำงานกับป่าหลายจุดต้องหาทางออก ทำงานอยู่กับป่าต้องอยู่ใต้ต้นไม้ในป่า ผมก็เจรจากับกรมป่าไม้ว่า 200 ต้นต่อไร่เราไม่ถึง เจรจากับคนไม่ได้ จึงพูดคุยเหลือ 100 ต้นต่อไร่ พบกันครึ่งทางพอไหว ถ้าได้แบบนี้ก็ถือว่าได้ป่าที่ดีพอจะยึดน้ำยึดดิน” บัณฑูรกล่าว
ปัญหาต่อมาคือป่ามันต้องพื้นที่ต่อกัน หากเราดูตามพื้นที่ 72% ป่ายังคงอยู่ ส่วน 10% คือพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ และอีก 18% คือปลูกป่าทำกินใต้ป่า ซึ่งเราจะขอคืนส่วนนี้เพื่อปลูกต้นไม้ให้กลับมาเป็นป่าอีกครั้ง ก็ต้องออกแรงเจรจาและหาทางออกการทำมาหากินให้ชาวบ้าน เราจึงคิดว่ารายได้ต่อไร่ต่อคนต้องเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ชาวบ้านปลูกข้าวโพดกำไรนิดเดียว ต้องปลูกคนละ 40 ไร่ แล้วป่าต้นน้ำน่านมันมีให้ไหมคนละ 40 ไร่ มันถึงไถกันอย่างนี้ มันก็ต้องหาที่ที่แคบลง เอาพืชแบบไหน มีตลาดไหม แปรรูปอย่างไร มีน้ำหรือเปล่า ต้องใช้เทคโนโลยีแบบไหน เกษตรกรขายของเป็นไหม โจทย์พวกนี้ต้องแก้ ไม่ใช่พูดเฉยๆ เป็นภาพกว้าง มันต้องมีคนลงไปแก้เรื่องพวกนี้ มันถึงยากไง
“เราพูดถึงเศรษฐกิจทุกจุดต้องมีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีพอสมควรที่จะสู้กับเขาในตลาดที่มีการแข่งกันมากทุกวัน ประเทศไทยมีใครดูแลเรื่องนี้ไหม ถ้ามีแต่แจกเงินอย่างเดียว แจกเงินมันก็ใช้ได้ในยามที่ฉุกเฉิน เกิดโรคระบาด 3 ปี ก็ต้องเยียวยากัน พืชผลราคาตกต่ำก็ต้องทดแทนกัน แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกปี ในที่สุดก็ไม่มีเงินที่จะไปแจก มันก็หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ ว่ามี แต่จริงๆ ไม่มี และในที่สุดเงินงบประมาณก็ถูกใช้ไปหมด อันนี้เป็นโจทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นรัฐบาล ใครที่อยากเป็นรัฐบาลต้องไปคิด ไม่ใช่คิดแจกอย่างเดียว แจกด้วย ช่วยด้วย แต่ต้องคิดหาทางให้คนสามารถยืนบนขาตัวเองได้” บัณฑูรกล่าว
บัณฑูรกล่าวอีกว่า ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำนั้นตนมีข้อเสนอ 4 ข้อ โดยเรียงจากง่ายไปยากคือ
- การเก็บภาษีอย่างทั่วถึง เก็บให้หมดทุกอย่าง เก็บเท่าไร อย่างไร ก็ไปตกลงกันในสภา
- ช่วยให้สู้กันได้ แม้รู้ว่าสู้ไม่ได้ SMEs ที่ไม่มีทุน ไม่มีความรู้ สู้กับเจ้าสัว
- อะไรที่จำนวนจำกัดต้องมีการจำกัดไม่ให้ใครเอาไปหมด โดยเฉพาะที่ดินที่มีจำกัด ถึงจุดหนึ่งต้องมีวิธีจำกัดว่าคนหนึ่งมีเท่าไรได้ก็ไปถกในสภา
- คนทำผิดเหมือนกัน รับโทษเหมือนกัน
“คนทำผิดเหมือนกัน รับโทษเหมือนกัน เมาเหล้าชนคนตาย มันไม่สำคัญว่ารถที่ชนนั้นจะเป็นซูเปอร์คาร์หรูหรา หรือรถคันเล็กๆ กระป๋อง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นน้ำมัน รับโทษเท่ากัน อันนี้จะแก้ความเหลื่อมล้ำในหัวใจคนได้ทันที แล้วมันพิสูจน์ได้ในเชิงคณิตศาสตร์ คนมีร้อยบาทกับคนมีร้อยล้านบาทก็ซื้อระบบยุติธรรมไม่ได้ เท่ากับเป็นศูนย์ ความเหลื่อมล้ำในหัวใจ นั่นคือที่ที่ความเหลื่อมล้ำน่ากลัวที่สุดที่อยู่ในหัวใจ มันจะหายไปทันที และก็พูดตรงๆ อันนี้ทำยากที่สุด แต่จะทำได้” บัณฑูรกล่าวในที่สุด