วันนี้ (18 พฤศจิกายน) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่บริเวณถนนดินสอ มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มมวลชนที่ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายประชาชน ราษฎรหยุด APEC 2022’ มุ่งหน้าเดินขบวนจากลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงผู้นำเศรษฐกิจที่ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2022 (APEC 2022) ใน 3 ข้อเรียกร้อง
- ให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
- ต้องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติบทบาทการเป็นผู้นำการประชุม APEC เนื่องจากไม่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของประชาชน
- ต้องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยุติบทบาทผู้นำประเทศโดยยุบสภา มีเงื่อนไข ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องชี้แจงหลักเกณฑ์ในการคำนวณสูตรของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหลักเกณฑ์ในการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ชัดเจนให้ประชาชนได้รับทราบ
ขณะที่เมื่อช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 08.30 น. กลุ่มมวลชนเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากลานคนเมือง มุ่งหน้าไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีการจัดแถวหน้ากระดาน ใช้เส้นทางถนนดินสอไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในขบวนมีผู้ชุมนุมที่แต่งกายเป็นชุดสัตว์เชิงสัญลักษณ์ และตามด้วยผู้ชุมนุมจากเครือข่ายต่างๆ
เวลา 08.44 น. พ.ต.อ. ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล (สน.) สําราญราษฎร์ กล่าวยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าการชุมนุมจะต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตามข้อกำหนดเท่านั้น
ทั้งนี้ มีการกำหนดระยะเวลาในการชุมนุมถึงเวลา 17.00 น. ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้มีการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยเด็ดขาด เนื่องจากผิดเงื่อนไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 15 และมาตรา 16 และขอให้กลับไปในพื้นที่การชุมนุมที่ลานคนเมือง
เวลา 08.59 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งด่านสกัดบริเวณหน้าทางแยกศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ถนนดินสอ ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าเจรจาและสามารถขอเปิดทางด่านนี้ได้
เวลา 09.05 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนต่อมาอีก 200 เมตร และเจอด่านสกัดของตำรวจ มีแผงเหล็กมากั้นและล็อกด้วยโซ่สลิงแน่นหนา ป้องกันการเคลื่อนย้ายแผงเหล็ก
เวลา 09.10 น. ด่านตำรวจบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งถนนดินสอ ใช้รถกระบะของตำรวจมาจอดขวางถนนเพื่อปิดกั้นเส้นทาง ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่าน กลุ่มมวลชนได้ส่งตัวแทนพยายามที่จะขอเจรจาแต่ไม่สามารถผ่านแนวกั้นด่านได้
ทางผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้สั่งเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนตรวจอาวุธพิเศษว่าหากมวลชนฝ่าแนวกั้นตำรวจเข้ามา ให้ดำเนินการจับกุมได้ทันที
เวลา 09.30 น. วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ ป้าเป้า ได้ฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และถูกควบคุมตัวขึ้นรถออกไปจากพื้นที่
เวลา 09.35 น. ผู้ชุมนุมประกาศให้เวลา 20 นาที ขอให้ตำรวจถอนกำลังทั้งหมดออกไป และให้เคลียร์เส้นทางเพื่อให้ประชาชนเดินไปที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยปลอดภัย หากไม่ทำตามข้อเสนอ ผู้ชุมนุมจะยกรถทั้งหมดของตำรวจเพื่อเปิดทาง
เวลา 09.45 น. ผู้ชุมนุมให้แนวการ์ดเข้าประชิดแนวรถตำรวจที่ใช้กีดขวางถนนไว้ และพยายามผลักดันรถตำรวจเพื่อจะเปิดทาง
ด้านตำรวจได้เคลื่อนรถหกล้อขยายเสียงเข้ามาเสริมในพื้นที่ และเจรจากับทางผู้ชุมนุมให้กลับไปทำกิจกรรมที่ลานคนเมือง และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถอนุญาตให้ผ่านพื้นที่ไปได้
เวลา 10.10 น. มวลชนได้พยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจด้วยการใช้เชือกดึงรถตำรวจที่จอดขวางถนนเพื่อเปิดทาง และตำรวจได้ใช้ยุทธวิธีเข้าจับกุมผู้ชุมนุม ทำให้เกิดความชุลมุนในช่วงหนึ่ง
เวลา 10.20 น. แกนนำประกาศบนรถปราศรัย ขอสื่อสารผ่านสื่อมวลชนไปยังผู้นำ APEC ทั้ง 21 ประเทศ เพื่อขอให้ส่งตัวแทนผู้นำแต่ละประเทศมาร่วมสังเกตการณ์การเคลื่อนไหว และมารับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณถนนดินสอ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงมีการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกลุ่มมวลชนที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำขึ้นปราศรัยบนรถขยายเสียง ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่หลังมีการยิงกระสุนยางใส่มวลชน พร้อมฝากถึงแนวทางการเคลื่อนไหว ต้องการสื่อสารถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐบาลนี้ว่าไม่ควรบริหารประเทศอีกต่อไป พร้อมระบุว่าอาจมีการสลายการชุมนุม แต่จะเดินหน้าขับเคลื่อนประเด็นที่ต้องการสื่อสารต่อไป
เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศบนรถขยายเสียง ให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายใน 30 นาที หรือเวลา 11.00 น.
จากนั้นเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศบนรถขยายเสียงให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ทำการปรับแนวกั้นการชุมนุม เข้าใกล้มวลชนยิ่งขึ้น
สำหรับบรรยากาศล่าสุดยังคงมีมวลชนที่ปักหลักในพื้นที่และยืนยันจะเดินหน้าต่อไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องของทางกลุ่ม