×

รัสเซียถูกประณามรุกรานยูเครน สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ดีขึ้น สรุปประเด็นสำคัญจากเวทีประชุม G20 ที่บาหลี

17.11.2022
  • LOADING...

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ที่เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย สิ้นสุดลงวานนี้ (16 พฤศจิกายน) โดยไฮไลต์ของการประชุมมีทั้งการออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และสัญญาณบวกจากการปรากฏตัวของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ออกนอกประเทศเป็นครั้งที่ 2 หลังเผชิญวิกฤตโควิดมานานกว่า 3 ปี และได้มีการพูดคุยนอกรอบกับผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำโลกอีกหลายคน

 

และนี่คือสรุปประเด็นสำคัญทั้งหมดจากการพูดคุยในเวทีประชุม G20 ที่เกิดขึ้นตลอด 2 วันที่ผ่านมา

 

ประณามรัสเซียรุกรานยูเครน

ในการประชุมระดับรัฐมนตรี G20 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สิ้นสุดลงโดยไม่สามารถประกาศแถลงการณ์ร่วมกรณีการเปิดฉากบุกยูเครนของรัสเซีย เนื่องจากท่าทีของรัสเซียที่คัดค้านการแทรกแซง

 

แต่ในที่ประชุมสุดยอด G20 สัปดาห์นี้ บรรดาผู้นำชาติสมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องในการรับรองแถลงการณ์ เพื่อแสดงความไม่พอใจในแง่ที่ ‘รุนแรงที่สุด’ ต่อรัสเซียที่รุกรานยูเครน และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกมาโดยไม่มีเงื่อนไข

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังตระหนักว่า ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามในยูเครน ‘ยังมีมุมมองอื่น ตลอดจนการประเมินสถานการณ์และการลงโทษที่แตกต่างกันอยู่’

 

ทั้งนี้ บรรดาผู้นำระบุว่า แถลงการณ์นี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ ขณะที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม กล่าวว่า ทุกอย่างแสดงให้เห็นถึง “ความยืดหยุ่น”

 

“สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามในยูเครนอย่างรุนแรง และเน้นย้ำว่า มันก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ และส่งผลให้ความเปราะบางที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลกเลวร้ายยิ่งขึ้น ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน” แถลงการณ์ของผู้นำ G20 ระบุ พร้อมประณามการขู่คุกคามด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย

 

ทางด้าน เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมแทนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประณามการประชุม G20 ครั้งนี้ว่า “ถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง”

 

สัมพันธ์ สหรัฐฯ-จีน อยู่ในจุดที่ดีขึ้น

ก่อนเปิดฉากการประชุมสุดยอด G20 มีการพบปะหารือทวิภาคีนอกรอบ ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองผู้นำมหาอำนาจพบกัน นับตั้งแต่ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคมปี 2021

 

โดยแม้ว่าการพบปะกันของทั้งสอง จะมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้เพียงเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วก็เป็นการพูดคุยเชิงบวก หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ลดลงจนเกือบจะต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงต้นปี

 

ทั้งสองผู้นำกล่าวในการพูดคุยที่มีขึ้นนาน 3 ชั่วโมง ซึ่งยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน และข้อจำกัดทางด้านการค้าและการถ่ายโอนเทคโนโลยี ขณะที่ไบเดนและสี ตกลงที่จะเปิดช่องทางการสื่อสารไว้ต่อไป และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือการที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีแผนไปเยือนจีนในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นการเยือนจีนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ในรอบกว่า 4 ปี

 

มุ่งเน้นที่เศรษฐกิจโลก

ผู้นำ G20 เห็นพ้องกันในแถลงการณ์ ที่ระบุถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ และเตือนความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้นในการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่มุ่งเน้นการแก้ไขผลที่เกิดจากการระบาดของโควิด

 

โดยการอ้างอิงถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นการยอมรับถึงความกังวลของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการไหลออกของเงินทุนมหาศาล หากสหรัฐฯ ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกต่อไป

 

และด้วยสงครามยูเครน รวมถึงการใช้จ่ายมหาศาลในยุคโควิด ซึ่งถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้กลุ่มประเทศ G20 ระบุว่า มาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมหลังจากนี้ ควรเป็นแบบ ‘ชั่วคราวและมีเป้าหมาย’

 

ส่วนด้านปัญหาหนี้นั้น ผู้นำ G20 แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางบางประเทศ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของเจ้าหนี้ทุกรายที่ต้องแบกรับภาระร่วมกัน

 

ความมั่นคงทางอาหาร

บรรดาผู้นำ G20 ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการประสานงาน เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่ชื่นชมการทำข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เปิดทางให้มีการส่งออกธัญพืชจากยูเครนในท่าเรือทะเลดำท่ามกลางภาวะสงคราม โดยยูเครนถือเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชาสังคม Global Citizen วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีประชุมนี้ว่า ไม่มีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในการจัดการกับปัญหาความอดอยากที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 

“G20 เป็นเพียงการทำซ้ำคำมั่นสัญญาเก่าๆ จากปีก่อนหน้า หรือระบุถึงการพัฒนาในที่อื่นๆ แทนที่จะรับหน้าที่ผู้นำเอง ผู้คนกว่า 50 ล้านคนกำลังอยู่ในภาวะอดอยากในขณะที่เรากำลังพูด ไม่มีเวลาสำหรับ G20 ที่จะประกาศข้อเรียกร้องให้ดำเนินการ พวกเขาคือคนที่ต้องลงมือทำ” ฟรีเดอริก โรเดอร์ จากกลุ่ม Global Citizen กล่าว

 

ภาวะโลกรวน (Climate Change)

บรรดาผู้นำ G20 ตกลงที่จะดำเนินการตามความพยายามเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส โดยยืนยันว่าพวกเขาได้ปฏิบัติตามเป้าหมายด้านอุณหภูมิของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2015 (Paris Agreement)

 

ท่าทีดังกล่าวอาจส่งเสริมการเจรจาในการประชุมรัฐสภากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 ที่อียิปต์ ซึ่งผู้เจรจาบางคนกลัวว่า G20 จะล้มเหลวในการสนับสนุนเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส และอาจขัดขวางการผลักดันข้อตกลงในเรื่องนี้ ซึ่งกำลังมีการพูดคุยกันระหว่างผู้แทนเกือบ 200 ประเทศ

 

ในการพูดคุยนอกรอบการประชุม G20 ระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และชาติพันธมิตร มีการยืนยันท่าทีที่จะระดมเงินทุนจากภาครัฐและเอกชนมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลืออินโดนีเซียในการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และบรรลุเป้าหมายการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับสูงสุด (Peak Emission) ของภาคส่วนดังกล่าวภายใน 7 ปี ไปจนถึงปี 2030

 

ขณะที่อีกสัญญาณบวกของผู้นำ G20 ในการรับมือต่อภาวะโลกรวน คือการที่ไบเดนและสีเห็นพ้องกันในการพูดคุยนอกรอบ โดยตกลงที่จะกลับมาร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

จีนเข้าถึงนานาชาติ มุ่งลดความขัดแย้ง

ในการเดินทางร่วมประชุม G20 ของสี ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งที่สองนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด สีได้จัดการพบปะหารือระดับทวิภาคีกับบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ หลายประเทศ โดยเป็นการส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะแก้ไขและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน

 

โดยนอกจากการพบปะกับไบเดนแล้ว สียังได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย ประธานาธิบดี ยุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดา และประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส

 

ขณะที่การพูดคุยกับ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถูกยกเลิกเนื่องจากปัญหาเรื่องตารางเวลา นอกจากนี้สียังมีกำหนดพบปะกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ในช่วงปลายสัปดาห์นี้

 

“มันไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ชี้ขาด แต่เป็นขั้นตอนสำคัญในการพยายามลดความขัดแย้ง” ชิ ยินหง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง กล่าว

 

ภาพ: Dita Alangkara / POOL / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising