ในขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ดีขึ้น ‘อาเซียน’ กลายเป็นพื้นที่ศักยภาพเนื้อหอมที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจ เพราะเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ที่เจอสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเช่นกัน ทว่าอัตราเงินเฟ้อ และ GDP มีทิศทางที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน หรืออินเดีย สอดคล้องกับข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีที่เผยให้เห็นว่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นสามประเทศในอาเซียนที่น่าจับตามอง เพราะกำลังฟื้นตัวได้ดีและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดตลอดช่วงปี 2565
เริ่มต้นที่เวียดนาม ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงสุด และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก คาดการณ์ปี 2573 ระบุว่าเวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588
ด้านอินโดนีเซีย หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทิศทางเศรษฐกิจในประเทศก็เริ่มดีขึ้น อีกทั้งนโยบายที่สอดรับกับโอกาสด้านการลงทุน ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสรรพ บุคลากรมีคุณภาพ และเป็นตลาดใหญ่ ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาดุลการค้าพุ่งสูงขึ้น 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีทิศทางเป็นบวก
ส่วนฟิลิปปินส์ จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียฉบับล่าสุดของ ADB มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี 2565 จะเติบโต 6% ส่วนสำคัญมาจากการลงทุนจากต่างประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจำพวกเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งนี้ GDP ของฟิลิปปินส์ในปี 2564 เติบโตที่ 5.7% และนักวิเคราะห์จาก Jefferies คาดว่าปี 2565 อาจได้เห็น GDP ของฟิลิปปินส์เติบโตได้ถึง 7% เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง กรุงศรี สถาบันการเงินไทยที่มีเครือข่ายครอบคลุมประเทศในอาเซียนมากที่สุด ภายใต้เครือข่ายที่เข้มแข็งของ MUFG และความแข็งแกร่งของกรุงศรีในการเชื่อมโยงตลาดในภูมิภาคอาเซียน จึงพร้อมพาธุรกิจไทยเดินหน้าสู่อาเซียนกับกรุงศรี ด้วยกลยุทธ์ ‘GO ASEAN with krungsri’ สานต่อพันธกิจในการเป็น ‘สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน’
ที่ผ่านมากลยุทธ์การเติบโตในภูมิภาคของกรุงศรีต่างจากธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่นๆ โดยกรุงศรีใช้ธุรกิจลูกค้ารายย่อยเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดอาเซียน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ และกรุงศรีเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจลูกค้าบุคคลของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับเครือข่ายที่แข็งแกร่งระดับโลกของ MUFG จึงสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดอาเซียนได้เป็นอย่างดี
เมื่อต้นปีกรุงศรีประกาศที่จะพาลูกค้าเดินหน้าสู่อาเซียนผ่านสามแกนหลัก ได้แก่ Beyond Thailand ไปให้ไกลกว่าประเทศไทย ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่เข้มแข็งของ MUFG และความแข็งแกร่งของกรุงศรีในการเชื่อมโยงตลาดในภูมิภาคอาเซียน, Beyond Banking เป็นมากกว่าสถาบันการเงิน และ Beyond Tech ทำมากกว่าเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้า
ถึงเวลาที่กรุงศรีต้องเร่งเครื่องเดินหน้าต่อ เพื่อพร้อมรับการเติบโตของตลาดอาเซียน ด้วยการชูกลยุทธ์ GO ASEAN ตัวช่วยธุรกิจไทยเติบโตไกลในอาเซียน
‘รู้’
จากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของกรุงศรีที่ได้ศึกษาและวิจัยถึงความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนและปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการมองขาดในตลาดอาเซียน ทั้งด้านเศรษฐกิจภาพรวม มองเห็นความเหมือน เข้าใจความต่าง และโอกาสในตลาดที่น่าสนใจ อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ทั้งสามประเทศนี้เป็นตลาดที่น่าจับตามองและมีความเป็นไปได้สำหรับนักธุรกิจและสตาร์ทอัพชาวไทย รวมไปถึงผู้บริโภคที่จะไปทำธุรกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน
‘ทำ’
เมื่อรู้และมองเห็นโอกาส กรุงศรีเดินหน้ากลยุทธ์ต่อมาด้วยการลงมือทำ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านการเงินต่างๆ ที่ช่วยให้การทำธุรกรรมในต่างแดนเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงการขยายบริการและโซลูชันทางการเงินของกรุงศรีผ่านความร่วมมือของพันธมิตรธนาคารท้องถิ่นในประเทศต่างๆ และเครือข่ายที่มีศักยภาพของ MUFG ส่งผลให้การต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย เพื่อเดินหน้าสู่ตลาดอาเซียนอย่างเข้มแข็ง
เช่น Krungsri Global Transfer นวัตกรรมบริการโอนเงินต่างประเทศ การโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันที (Real-time Cross-Border Money Transfer) หรือการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code Payment) ที่เริ่มเปิดให้ลูกค้า ‘กรุงศรี’ ใช้จ่ายหรือซื้อสินค้าในญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น หรือบริการ Krungsri Internet Banking Laos ที่ให้บริการลูกค้านิติบุคคลใน สปป.ลาว สามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้สะดวกขึ้น
‘ช่วย’
ด้วยศักยภาพของกรุงศรี พร้อมเสริมทัพด้วยความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น (MUFG) กรุงศรีพร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจไปอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการ Cross-Border Value Chain Advisory โดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำกับธุรกิจที่กำลังมองหาลู่ทางในการขยายโอกาสในอาเซียน พร้อมแนะนำโซลูชันใหม่ๆ ช่วยให้การทำธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้น หรือบริการ ‘Value Chain Solutions’ ต่างๆ เช่น Krungsri Cashless Chain, Krungsri PayAlert, Krungsri e-Guarantee on Blockchain ที่จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจในต่างแดนเป็นเรื่องง่าย และบริการ Thai Desk ในกัมพูชา ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับองค์กรธุรกิจและผู้ประกอบการไทยที่เข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชา
รวมไปถึงการจัด Business Matching การเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อพบปะเจรจาการค้า และหาพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ, การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพในอาเซียน, การเชื่อมโครงข่ายธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ
จับมือธนาคารในอาเซียน เสริมแกร่งการเชื่อมต่อธุรกิจไม่มีสะดุด
หมุดหมายสำคัญของกรุงศรีคือการขยายบริการและความร่วมมือไปยังเครือข่ายในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่ออาเซียนให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านให้บริการโซลูชัน บริการธุรกิจระหว่างประเทศ เชื่อมธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงทุกความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันเครือข่ายกรุงศรี และ MUFG ในอาเซียน ครอบคลุมมากถึง 9 ประเทศเศรษฐกิจหลัก จากทั้งหมด 10 ประเทศในอาเซียน โดยมีธุรกิจและสาขา/สำนักงานของกรุงศรีใน 5 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย
กัมพูชา
Hattha Bank Plc. ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่กรุงศรีถือหุ้นทั้งหมด และเป็น 1 ใน 5 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในด้านการให้สินเชื่อในประเทศกัมพูชา ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของกรุงศรีที่สามารถขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เป็นสถาบันไมโครไฟแนนซ์รับฝากเงิน มาเป็นธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่งในกัมพูชา และที่ผ่านมากรุงศรีได้ร่วมกันขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้เกิดขึ้น อย่างเช่นบริการธุรกรรมระหว่างประเทศ ผ่านบริการโอนเงินต่างประเทศแบบเรียลไทม์ระหว่างไทย-กัมพูชา แม้กระทั่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ แต่ Hattha Bank ยังได้รับการจัดระดับเสถียรภาพที่ BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ ในปี 2565 จากการจัดอันดับของบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด แสดงถึงความแข็งแกร่งของ Hattha Bank และการส่งต่อประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญของกรุงศรีไปยังธุรกิจที่ขยายออกไปในต่างประเทศ
ล่าสุด Hattha Bank นำเสนอบริการ ‘Thai Desk’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าธุรกิจที่วางแผนขยายกิจการในกัมพูชา รวมถึงเปิดให้บริการรับชำระเงินและโอนเงินแบบเรียลไทม์จากกัมพูชาไปยังธนาคารกรุงศรีในประเทศไทย เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และคุ้มค่าใช้จ่ายกับโปรโมชันค่าบริการทำธุรกรรมเพียง 2.5 ดอลลาร์ต่อครั้ง
เวียดนาม
SHBank Finance (SHB Finance) 1 ใน 10 ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันกรุงศรีกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการรับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถโอนธุรกิจทุนก่อตั้งของ SHB Finance จำนวน 50% ไปยังกรุงศรีในปีแรก และที่เหลืออีก 50% ในอีก 3 ปีให้หลัง ปัจจุบัน SHB มีบริการสินเชื่อส่วนบุคคล พร้อมกับการมุ่งเน้นด้านสินเชื่อดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และยังวางแผนที่จะเปิดตัวบัตรเครดิต เพื่อให้สอดรับกับการใช้จ่ายในกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีการเติบโตสูง
ฟิลิปปินส์
SB Finance Company, Inc. (SBF) ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย และเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกรุงศรีเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 50% ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็น Flagship Products ของกรุงศรีหลายตัว ขยายและเติบโตในตลาดฟิลิปปินส์ อย่างเช่นบริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อคาร์ ฟอร์ แคช (Car4Cash) และสินเชื่อสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ (MotorsikLOAN) และสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระสินค้า (Hooloogan) ผ่านแอป Zuki ช่วยให้ลูกค้าสามารถสมัครขอสินเชื่อได้โดยตรงจากแอปเดียว
อินโดนีเซีย
แม้กรุงศรีจะยังไม่มีธุรกิจในอินโดนีเซีย แต่มีพันธมิตรที่สามารถทำงานร่วมกันอย่าง Bank Danamon ธนาคารพันธมิตรในเครือข่าย MUFG ช่วยกันผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทั้งผู้ประกอบธุรกิจในไทยและอินโดนีเซีย อย่างเช่นการเชื่อมต่อ API ภายใต้โครงการ MUFG P2P Remittance Network สามารถโอนเงินระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซียได้ทันทีผ่านบริษัทตัวกลาง และการสแกนชำระเงินข้ามประเทศด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านการใช้งาน Krungsri Mobile App (KMA) ตอบโจทย์ทั้งคนทำธุรกิจที่ต้องโอนเงินไปมาระหว่างประเทศ และผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องเดินทางไปทำธุรกิจที่อินโดนีเซีย
“เราเชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมากในภูมิภาคอาเซียน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กรุงศรีขยายธุรกิจในอาเซียนเพื่อสร้างรากฐานที่มั่งคงของการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่แข็งแกร่งของบริษัทแม่อย่าง MUFG รวมถึงความพร้อมที่จะให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และเป็นพันธมิตรกับลูกค้าทุกระดับ ไปจนถึงความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงสามารถนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขานำพาธุรกิจให้ก้าวไกลและเติบโตได้อย่างมั่นคงในตลาดอาเซียน” ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง: