TCI Fund Management ซึ่งเป็นกองทุนที่ถือหุ้นใหญ่ใน Alphabet ส่งจดหมายตรงถึง ซันดาร์ พิชัย ซึ่งเป็นซีอีโอของ Alphabet เพื่อเร่งรัดแผนการปรับโครงสร้างและลดต้นทุนค่าจ้างพนักงาน และขอให้ส่งมอบแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนให้กับนักลงทุน
สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานอ้างอิงจดหมายของบริษัทบริหารจัดการกองทุน TCI Fund Management ที่เขียนถึง ซันดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) Alphabet บริษัทแม่ของเสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่ยอดนิยมอย่าง Google ซึ่งเรียกร้องให้ Alphabet ต้องดำเนินการ ‘เชิงรุก’ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและเงินเดือน พร้อมส่งมอบแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนให้กับบรรดานักลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ต้องฉลาด ประหยัด ขี้เหนียว เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอ Google กล่าวกับพนักงาน ในช่วงที่ต้องลดต้นทุนและเผชิญความไม่พอใจของทีม
- มีดีตรงไหน? เปิดนัยสำคัญเรื่องเชื้อชาติผู้บริหาร จาก Microsoft ถึง Starbucks ที่เลือก ‘ซีอีโอใหม่’ เป็น ‘คนอินเดีย’ อย่าง สัตยา นาเดลลา และ ลักซ์แมน นาราซิมฮัน
- ไม่ใช่แค่ Facebook! แต่ ‘แม่ทัพของ Google’ บอกเอง จะชะลอการ ‘จ้างงาน’ จนถึงปี 2023 จากปัญหาเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ TCI Fund Management ถือครองหุ้น Alphabet มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ TCI เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 20 อันดับแรกของ Alphabet โดยข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า สัดส่วนการถือหุ้นของ TCI คิดเป็น 0.27% ของหุ้น Alphabet ทั้งหมด โดยเป็นการเข้าลงทุนมาตั้งแต่ปี 2017
เนื้อความในจดหมายอ้างถึงการหารือกับทีมผู้บริหารชุดก่อนของ Alphabet ที่มองว่าบริษัทจะต้องยกระดับการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยกำลังคนที่น้อยลง
รายงานครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐอเมริกาตกอยู่ในสภาพบอบช้ำอย่างหนัก ที่ทำให้หลายบริษัทจำต้องปรับโครงสร้างและสั่งปลดพนักงานชุดใหญ่ โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง The New York Times รายงานว่า Amazon อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เตรียมปลดพนักงานรวม 10,000 คน ขณะที่สัปดาห์ที่แล้วทาง Meta เจ้าของ Facebook ก็ประกาศปลดพนักงาน 11,000 คน
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน Alphabet นับเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งในสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีการปลดพนักงาน โดย ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของบริษัท มีเพียงคำสั่งให้ระงับการจ้างงานเพิ่มเท่านั้น
ข้อมูลของ TCI พบว่า Alphabet มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 20% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งในมุมมองของ TCI ถือว่าเป็นการจ้างงานที่มากเกินความจำเป็น
Google ถูกปรับ 391.5 ล้านดอลลาร์ ฐานติดตามตำแหน่งผู้ใช้งาน
วันเดียวกันสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษรายงานว่า Google เสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ จำเป็นต้องควักเงิน 391.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 330 ล้านปอนด์) เพื่อยุติข้อกล่าวหาเกี่ยวกับวิธีการรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานด้วยการติดตามตำแหน่งของผู้ใช้ แม้จะเลือกไม่ใช้บริการระบุตำแหน่งบนอุปกรณ์ของตนแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นใน 40 รัฐทั่วสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้ Google มีความโปร่งใสในการติดตามตำแหน่งของผู้ใช้งานในอนาคต รวมถึงการพัฒนาหน้าเว็บที่บอกให้ผู้คนทราบเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว นับเป็นข้อตกลงหลายรัฐที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
ด้าน Google ออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงระบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากนโยบายด้านผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างล่าสมัย ซึ่งทาง Google ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้วทาง Google เพิ่งจะบรรลุข้อตกลงและยินยอมจ่ายค่าปรับให้กับทางรัฐแอริโซนา มูลค่า 85 ล้านดอลลาร์ จากข้อกล่าวหาที่ใกล้เคียงกันเกี่ยวกับปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน
รายงานระบุว่า การระบุตำแหน่งผู้ใช้งานของ Google สร้างรายได้จากการโฆษณาให้กับบริษัทถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เนื่องจากการทราบตำแหน่งของผู้ใช้งานช่วยให้นักการตลาดสามารถลงโฆษณาโดยกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์ได้
โดยสิ่งที่เป็นประเด็นโต้แย้งในขณะนี้ก็คือ แม้ผู้ใช้งานจะปิดฟังก์ชันดังกล่าว แสดงความไม่ยินยอมแล้ว แต่ทาง Google กลับแอบดำเนินการติดตามความเคลื่อนไหวของตนเอง แล้วนำข้อมูลไปขายให้กับบริษัทโฆษณา
ทางด้านอัยการสูงสุดสหรัฐฯ กล่าวว่า การกระทำของ Google ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดตามตำแหน่งที่ตั้งมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในหลายรัฐ พร้อมแจ้งให้ Google เร่งดำเนินการปรับปรุงวิธีเปิดเผยการติดตามตำแหน่ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2023
อ้างอิง: