หลังจากพรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน Pakatan Harapan (PH) ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ซึ่งทำให้พรรคพันธมิตร Barisan Nasional (BN) ต้องเสียการผูกขาดจัดตั้งรัฐบาลมายาวนานกว่า 60 ปี จากปัญหาคอร์รัปชันในกองทุนฉาว 1MDB ทว่าการเป็นรัฐบาลของ PH ก็ต้องล่มสลายในเวลาอันสั้น เมื่อ มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ประกาศลาออกหลังเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 22 เดือน สาเหตุมาจากความขัดแย้งภายในจนนำมาสู่ปรากฏการณ์งูเห่าหรือ Sheraton Move ที่พา มูห์ยิดดิน ยัสซิน (Muhyiddin Yassin) จากพรรค Bersatu ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
แต่แค่ 17 เดือนต่อมา พรรค United Malays National Organization หรือ UMNO ก็ประกาศถอนตัวจากการสนับสนุนมูห์ยิดดิน ทำให้ อิสมาอิล ซาบรี (Ismail Sabri) จาก UMNO ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 นับแต่การเลือกตั้งในปี 2018
การกลับมาจัดตั้งรัฐบาลของ UMNO ครั้งนี้เป็นผลจากการผนึกกำลังกับกลุ่ม Perikatan Nasional (PN) และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม Gabungan Parti Sarawak (GPS)* อย่างไรก็ดี การกลับมาสู่อำนาจของ UMNO ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่มีคำถามมากมายถึงความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น เสถียรภาพของรัฐบาลก็ง่อนแง่นเต็มที แต่ที่ประคองการทำงานมาได้เป็นเพราะ MOU ที่ทำกับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน PH ในการสร้างความร่วมมือ 2 ฝ่าย เพื่อให้การเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพหลังจากที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลก่อนหน้ามาถึง 2 ชุด ซึ่งข้อตกลงสำคัญที่ทำไว้ใน MOU คือจะไม่ประกาศยุบสภาก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2022 ดังนั้นการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นอย่างน้อยจนกว่าจะถึงเดือนสิงหาคม 2022 อีกทั้ง PH จะสนับสนุนหรืองดออกเสียงสนับสนุนพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีที่กำลังจะผ่านสภาในตอนนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลของ อิสมาอิล ซาบรี เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำ ใน MOU ยังมีข้อตกลงที่จะช่วยกันขับเคลื่อนกฎหมายต่อต้านการย้ายพรรค (Anti-Party Hopping Bill) และให้ลดอายุของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็น 18 ปี หรือที่รู้จักกันในชื่อ UNDI-18
พอ พ.ร.บ.งบประมาณ ผ่านสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ได้ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันความแตกแยกในคณะรัฐบาลหลังจากที่รัฐมนตรี 12 คน จาก PN ได้ยื่นหนังสือถึงกษัตริย์เพื่อคัดค้านการจัดการเลือกตั้งในปีนี้ อีกทั้งรัฐบาลยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐมนตรีอื่นอีกในหลายประเด็นเกี่ยวกับนโยบายและการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ยังไม่นับรวมถึงแรงกดดันจาก ซาฮิด ฮามิดิ (Zahid Hamidi) ประธานพรรค UMNO ที่มีต่ออิสมาอิล อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนก็ถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงฤดูมรสุมที่จะมาพร้อมกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 หรือที่เรียกกันว่า GE15 ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้* แม้เป็นจุดเริ่มต้นฉากใหม่ในหน้าการเมืองมาเลเซีย หากแต่เป็นการเริ่มต้นที่จะมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการเมืองในหลายมิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปของ ‘Rules of the Game’ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการทำงานและการตัดสินใจของพรรคการเมือง การจับขั้วพันธมิตรทางการเมือง และวิธีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหลังจากนี้
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังจะมีขึ้น บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความร้อนแรงและยากจะคาดเดา
การขับเคี่ยวศึกระหว่าง 3 ฝ่าย
ในสนามการเลือกตั้งมาเลเซีย พรรคหรือกลุ่มพันธมิตรที่ได้ที่นั่งในสภาเกินครึ่งจะได้จัดตั้งรัฐบาล แม้ไม่ชนะ Popular Vote ก็ตาม ซึ่งภาพการเลือกตั้งของมาเลเซียนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2008 เป็นต้นมา เราจะเห็นการแข่งขันเพียงระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่ คือ BN กับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน Pakatan Rakyat/Harapan แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้จะกลายเป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มพันธมิตร 3 ฝ่ายใหญ่ แม้ใน GE15 ยังมีพรรคการเมืองอื่นและกลุ่มอิสระอีกเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งคาดว่าน่าจะมาจาก 3 กลุ่มพันธมิตรที่ต่างมีลุ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ UMNO Baru/Barisan Nasional (BN) ที่มี ซาฮิด ฮามิดิ จาก UMNO เป็นผู้นำ กลุ่มพันธมิตร PN (ประกอบด้วยพรรค Bersatu และพรรค PAS) ที่มี มูห์ยิดดิน ยัสซิน เป็นหัวหน้า และกลุ่ม PH นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim)
อย่างไรก็ดี หาก 1 ใน 3 กลุ่มพันธมิตรโดยเฉพาะ BN ไม่สามารถเอาชนะในศึกครั้งนี้ได้ หรือไม่มีฝ่ายใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ก็หมายความว่า GE15 ไม่ได้ทำให้ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่มีมานับแต่ปี 2018 หมดสิ้นไป หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ตัวแปรสำคัญที่น่าจับตาและมองข้ามไม่ได้คือกลุ่ม GPS ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในซาราวัก ซึ่ง GPS มีแนวโน้มว่าจะสนับสนุน BN และ PN แม้พรรคอาจจะไม่กลายเป็น Kingmaker แต่ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาลชุดหลังการเลือกตั้งอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้
การเลือกตั้งที่ไม่พร้อมกันทั้งประเทศ
โดยทั่วไปแล้วรัฐต่างๆ ในมาเลเซียจะจัดการเลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งระดับชาติ แต่สำหรับ GE15 การเลือกตั้งระดับรัฐจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ แม้ว่าอิสมาอิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะขอให้ทุกรัฐจัดการเลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งระดับชาติเพื่อประหยัดงบประมาณ โดยยกเว้นเพียงที่ซาบาห์ มะละกา ยะโฮร์ และซาราวัก เพราะเพิ่งมีการเลือกตั้งไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทว่า 3 รัฐที่เป็นฐานที่มั่นของพรรค PAS คือ เกดะห์ กลันตัน และเตรังกานู และในอีก 3 รัฐที่เป็นของ PH คือ สลังงอร์ ปีนัง และเนเกรี เซมบิลัน ต่างประกาศยืนยันที่จะไม่จัดการเลือกตั้งในปีนี้ แต่จะจัดการเลือกตั้งในปีหน้า (2023) เหตุที่ยังไม่จัดการเลือกตั้งนอกจากเป็นช่วงเวลาที่อาจเกิดน้ำท่วมแล้ว การจัดการเลือกตั้งในปีหน้ายังเป็นโอกาสให้รัฐบาลของรัฐเหล่านี้ใช้ผลการเลือกตั้งใน GE15 เป็นแนวทางวางยุทธศาสตร์และแผนการหาเสียงเลือกตั้งในปีหน้า ตลอดจนประวิงเวลาเพื่อเรียนรู้และพร้อมรับมือกับทิศทางและพฤติกรรมทางการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากกลุ่มเยาวชนที่เพิ่งได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก
ศึกชิงพื้นที่ร้อนระอุ
การเลือกตั้งครั้งนี้นับว่าดุเดือดมากที่สุด เพราะเป็นครั้งแรกที่ในแต่ละเขตมีผู้สมัครหลายคนจากหลายพรรคลงแข่งขันทุกที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งมีถึง 945 คน สำหรับ GE15 นี้มีที่นั่งในสภาทั้งหมด 222 ที่นั่ง 166 ที่นั่งอยู่ใน Peninsular Malaysia หากฝ่ายใดได้ 112 ที่นั่ง จะกลายเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งระดับรัฐในเปรัก ปะหัง และปะลิส ซึ่งมีที่นั่งรวมกันถึง 116 ที่นั่ง และรัฐทั้งสามยังเป็นฐานที่มั่นของ UMNO อีกด้วย ในศึก GE15 ควรจะต้องจับตาการแข่งขันที่ดุเดือดใน 22 ที่นั่ง ที่แต่ละพรรคส่งผู้สมัครเด่นๆ ลง โดยเฉพาะที่ตัมบุนในเปรัก เป็นการชิงเก้าอี้ระหว่าง อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำ PH กับ ไฟซาล อาซูมู (Faizal Azumu) จาก PN และเป็นรองประธานพรรค Bersatu พ่วงตำแหน่ง ส.ส. เดิมของเขตนี้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีผู้แข่งขันสำคัญอย่าง อามินุดดิน ฮานาเฟียห์ (Aminuddin Hanafiah) จาก UMNO และ อับดุล ราฮิม ตาฮีร์ (Abdul Rahim Tahir) จากกลุ่มพันธมิตร Gerakan Tanah Air (GTA)* ที่มีมหาเธร์เป็นประธานส่งมาท้าชิง ถ้าอันวาร์คว้าเก้าอี้นี้ไม่ได้ก็ถือเป็นการปิดตายประตูไปสู่นายกรัฐมนตรี แม้ว่า PH จะชนะการเลือกตั้ง หรือแม้แต่ตัวของ ซาฮิด ฮามิดิ เองก็ต้องแย่งชิงเก้าอี้กับผู้สมัครหลายพรรค แม้ซาฮิดจะชนะการเลือกตั้งใน Bagan Datuk ในเปรักมาถึง 6 สมัยติดต่อกัน แต่ในศึกครั้งนี้ก็ต้องต่อสู้กับผู้สมัครจากทั้ง PH และ PN ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออดีตรองนายกรัฐมนตรี ชามซุล อิสคานดาร์ โมฮัด อาคิน (Shamsul Iskandar Md. Akin) จาก PH ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘Giant Killer’ นอกจากนี้ การแข่งขันระหว่างพรรคที่เคยจับมือกันมาอย่าง PN และ GPS ก็เกิดขึ้น แม้ PN เคยตกลงว่าจะไม่แข่งกับ GPS ในศึกชิงเก้าอี้ที่ซาราวักก็ตาม หากท้ายที่สุดก็ได้ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ในซาราวักด้วย
กฎหมายต่อต้านการย้ายพรรค
ก่อนประกาศการเลือกตั้งครั้งใหม่เพียง 5 วัน สภาของมาเลเซียมีมติผ่านกฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคการเมือง ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ หาก ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งในฐานะตัวแทนของพรรคใดทำการย้ายพรรค ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. ยกเว้นกรณีที่ถูกขับออกจากพรรค กฎหมายนี้ยังบังคับใช้กับ ส.ส. อิสระที่ได้ตกลงเข้าร่วมกับพรรคพันธมิตรหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ กฎหมายต่อต้านการย้ายพรรคจะบังคับใช้เป็นครั้งแรกใน GE15 ซึ่งการขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ Sheraton Move ที่นำมาสู่การล่มสลายของรัฐบาล PH อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันว่ากฎหมายฉบับนี้ก็ยังมีช่องโหว่ที่อาจถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ เพราะ ส.ส. จะไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ถ้าพรรคเป็นคนขับ ส.ส. ออกมา เงื่อนไขนี้เป็นโอกาสให้ ส.ส. คนนั้นมีสิทธิเข้าร่วมกับพรรคใดก็ได้ ดังนั้นอาจมี ส.ส. ที่จงใจแตกแถวหรือไม่เชื่อฟังพรรคเพื่อหวังให้พรรคเป็นผู้ขับตนออกไป เพื่อจะได้มีอิสระที่จะเลือกเข้ากับพรรคใดพรรคหนึ่ง ในทางกลับกัน ช่องโหว่นี้อาจถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยพรรคการเมืองในการบังคับ ส.ส. ให้เห็นด้วยกับมติพรรค ซึ่งอาจจะสวนทางกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ของ ส.ส. คนดังกล่าว ตลอดจนในกรณีที่พรรคการเมืองอย่าง Democratic Action Party (DAP) แก้ไขกฎพรรคว่าหาก ส.ส. ของพรรคไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการบริหารพรรค ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพจากพรรค เช่นนั้นแล้วถ้า ส.ส. ยังอยากอยู่ในตำแหน่งก็จะเดินตามมติพรรคโดยเฉพาะ ส.ส. ของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเราคงต้องจับตาดูในบททดสอบจริงว่ากฎหมายนี้จะสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลใหม่ได้อย่างที่หวังไว้หรือไม่
พลังเยาวชน
GE15 จะมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 21.17 ล้านคน มากกว่า GE14 ที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14.9 ล้านคน เป็นผลมาจากการใช้ Automatic Voters Registration (AVR) และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ออกเสียงเลือกตั้งได้ ซึ่งจำนวนผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกมีถึง 5.5 ล้านคน กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2021 และจะใช้กับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อคะแนนเลือกตั้ง เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มี Party Royalties ผิดกับคนรุ่นเก่า ทำให้ยากต่อการคาดเดา สิ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญและคาดหวัง ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนคือสวัสดิการจากรัฐ ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น และปัญหาการว่างงาน
มีการคาดการณ์ว่าคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเป็นประโยชน์ต่อ PN และช่วยให้ PN ต่อสู้กับ PH และ BN ได้อย่างพอสูสี นอกจากนี้วิธีการเข้าถึงกลุ่มคน Gen Z มีผลต่อรูปแบบการหาเสียงอีกด้วย ทำให้ Social Media กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ใช้ในการเข้าถึง ไม่เว้นแม้แต่มูห์ยิดดินที่หันมาใช้ TikTok ในการหาเสียง
ในภาพรวมของ GE15 แม้ Rules of Game จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ไม่อาจมองข้ามลักษณะโครงสร้างทางการเมืองของประเทศที่ผูกติดกับเรื่องของชาติพันธุ์ไปได้ โดยคนชนบทส่วนใหญ่แล้วยังคงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนผู้สมัครที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของชาวมลายู การต่อสู้และรักษาความเป็นอิสลาม ตลอดจนดำรงไว้และความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ ประเด็นเหล่านี้ยังคงมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจลงคะแนนของคนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรค UMNO และ PAS
ในด้านของกลุ่มคนเมืองนั้น แม้กลุ่ม PH จะเคยได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นใน GE14 หากแต่ในครั้งนี้ก็ต้องแข่งขันกับกลุ่มพันธมิตรอื่นอย่าง PN, GTA และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง BN อีกทั้งยังต้องหากลยุทธ์ในการหาเสียงที่ดึงดูดต่อชาวมลายู ชาวภูมิบุตร และคนในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะในซาราวักและซาบาห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คิดเป็น 65% ของประชากร ซึ่งคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องมากกว่าปัญหาคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลที่ PH ใช้ในการรณรงค์หาเสียง
ภาพ: Mat Zain / NurPhoto via Getty Images
- GPS ประกอบด้วย 4 พรรคการเมืองท้องถิ่นในซาราวัก ได้แก่ Parti Pesaka Bersatu Bumiputera (PBB), Sarawak United People’s Party (SUPP), Parti Rakyat Sarawak (PRS) และ Progressive Democratic Party (PDP)
- การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ากำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2022
- GTA เป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรระหว่าง 4 พรรคการเมือง ได้แก่ National Indian Muslim Alliance Party (Iman), Parti Bumiputera Perkasa Malaysia (Putra), Parti Barisan Jemaah Islamiah Se-Malaysia (Berjasa) และ Pejuang นอกจากนี้ยังมี NGO และนักวิชาการเข้าร่วมด้วย