ออตโต วอร์มเบียร์ (Otto Warmbier) นักเรียนชาวอเมริกัน วัย 22 ปี ที่เพิ่งถูกทางการเกาหลีเหนือปล่อยตัวในสัปดาห์นี้เดินทางกลับรัฐโอไฮโอของสหรัฐฯ พร้อมเปิดเผยว่าเขาถูกทารุณอย่างโหดร้ายโดยรัฐที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ (Pariah State) ซึ่งขณะนี้เขามีอาการโคม่า โดยสหรัฐฯ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือเปิดเผยถึงสาเหตุอาการป่วยของวอร์มเบียร์ ซึ่งการปล่อยตัวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากอดีตทูตสหรัฐฯ และทูตพิเศษของสหรัฐฯ ประจำเกาหลีเหนือพยายามเจรจากับเกาหลีเหนือให้ปล่อยตัวเขา
ก่อนหน้านี้เขาถูกตัดสินโทษจำคุกในค่ายแรงงาน (Hard Labour) เป็นเวลา 15 ปีในข้อหาพยายามขโมยโปสเตอร์ propaganda ในโรงแรม โดยเขาสารภาพทั้งน้ำตาต่อหน้านักข่าวเปียงยางในปี 2016 หลังจากนั้นครอบครัวก็ไม่สามารถติดต่อเขาได้ ซึ่งเกาหลีเหนือเปิดเผยว่า เขาถูกให้ยานอนหลับหลังจากมีอาการป่วยเมื่อปีที่แล้ว
วอร์มเบียร์คือนักเรียนเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เดินทางไปเกาหลีเหนือในฐานะนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2016 ซึ่งใน 1 ปีจะมีชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวในเกาหลีเหนือประมาณ 5 พันคน โดยโปรแกรมการท่องเที่ยวจะถูกทางการเกาหลีเหนือเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด
วอร์มเบียร์เป็นคนสัญชาติอเมริกันอีกคนที่ถูกทางการเกาหลีเหนือจับกุม ก่อนหน้านี้มีใครที่ถูกจับกุมและปล่อยตัวไปแล้วบ้าง (บางส่วน) และใครที่ยังถูกเกาหลีเหนือจับกุมในตอนนี้ บางคนถูกจับกุมปกติ บางคนถูกจับกุมและถูกส่งไปยังค่ายแรงงานที่มีรายงานว่ามีการทรมานหลายรูปแบบ
ใครกำลังถูกเกาหลีเหนือจับกุมตอนนี้บ้าง
1. คิมดงชอล (Kim Dong-Chul) พลเมืองอเมริกัน วัย 62 ปี ถูกเกาหลีเหนือลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปีในค่ายแรงงาน เมื่อเดือนเมษายน ปี 2016 เขาสารภาพต่อหน้าผู้สื่อข่าวในกรุงเปียงยางว่า หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้จ้างเขาให้มาเป็นนักสืบในเกาหลีเหนือ
โดยเกาหลีเหนือกล่าวหาว่า คิมดงชอลเก็บข้อมูลลับเกี่ยวกับกองทัพเกาหลีเหนือและอาวุธนิวเคลียร์ใส่ยูเอสบี ระหว่างที่ถูกจับกุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Razon
ด้านคิมดงชอลเปิดเผยว่า เขาถูกแนะนำให้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา
2. คิมซางดุก (Kim Sang-Duk) พลเมืองอเมริกัน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเปียงยาง (PUST) ถูกทางการเกาหลีเหนือจับกุมในเดือนเมษายน ปี 2017 โดยสาเหตุการจับกุมยังไม่เปิดเผยแน่ชัด
3. คิมฮักซอง (Kim Hak-Song) เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเปียงยาง (PUST) ถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม ปี 2017 โดยทางการตั้งข้อสงสัยว่าเขามีพฤติกรรมเป็นปรปักษ์กับรัฐเกาหลีเหนือ KCNA สื่อของเกาหลีเหนือประกาศว่า ทางการกำลังทำการสืบสวนเขาในข้อหาอาชญากรรม แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด
PUST คือมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำของเกาหลีเหนือ ถูกก่อตั้งในปี 2010 และได้รับการสนับสนุนทางการเงินส่วนใหญ่จากกองทุนการกุศลคริสเตียนสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ โดยอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนี้หลายคนเป็นชาวต่างชาติ
4. ฮยอนซูลิม (Hyeon Soo-Lim) ศาสนาจารย์คริสเตียนชาวแคนาดาที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ ถูกเกาหลีเหนือลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในเดือนธันวาคม ปี 2016 ข้อหาอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อชาติ
5. ซานดรา ซู (Sandra Suh) อาสาสมัครชาวอเมริกัน ถูกจับกุมและเนรเทศออกจากประเทศในเดือนเมษายน ปี 2015 ในข้อหาปล่อยสื่อประชาสัมพันธ์ propaganda ที่มีเนื้อหาโจมตีเกาหลีเหนือ
ใครบ้างที่ถูกเกาหลีเหนือจับกุมและถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว
1. แมททิว ทอดด์ มิลเลอร์ (Matthew Todd Miller) ถูกจำคุกเป็นเวลา 6 ปีในเดือนกันยายน ปี 2014 และถูกส่งไปยังค่ายแรงงาน สื่อทางการของเกาหลีเหนือประกาศว่าเขามีพฤติกรรมเป็นปรปักษ์ต่อรัฐ แต่ถูกปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016
2. เคนเนธ เบ (Kenneth Bae) ถูกจับกุมในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 โดยมีการตั้งข้อหาว่าใช้ธุรกิจการท่องเที่ยวบังหน้าเพื่อตั้งกลุ่มล้มล้างรัฐบาล โทษจำคุก 15 ปี แต่ถูกปล่อยตัวพร้อมกับแมททิว ทอดด์ มิลเลอร์ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016
3. เจฟฟรีย์ ฟาวล์ (Jeffrey Fowle) ถูกกักตัวเป็นเวลา 5 เดือน และถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมต่อต้านรัฐ แต่ได้รับการปล่อยตัวแล้วในเดือนตุลาคม ปี 2014
4. เมอร์ริลล์ นิวแมน (Merrill Newman) ทหารในสงครามเกาหลี ถูกกักตัวในเดือนตุลาคม ปี 2013 ในข้อหามีพฤติกรรมเป็นปรปักษ์ต่อรัฐเช่นกัน แต่ถูกปล่อยตัวแล้วในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
Hard Labour Camp คืออะไร
Hard Labour Camp คืออีกคุกทางการเมืองของเกาหลีเหนือที่ถูกตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 1940 เป็นสถานที่เพื่อลงโทษประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐ โดยชาวเกาหลีเหนือที่สามารถหลบหนีออกมาได้เปิดเผยว่า ชาวเกาหลีเหนือที่ถูกจับกุมอยู่ที่นี่มักเสียชีวิตเพราะขาดอาหาร หรือการบังคับใช้แรงงานอย่างหนัก เช่น การทำงาน 14-16 ชั่วโมงต่อวัน
อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือออกมาปฏิเสธว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีอยู่จริง แต่รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ปี 2014 เปิดเผยว่า จากภาพดาวเทียมและหลักฐานการตรวจสอบร่างกายของผู้ที่ถูกจับกุม คาดว่า Hard Labour น่าจะยังมีอยู่ และสันนิษฐานว่าน่าจะมีการกักขังนักโทษไปแล้วประมาณ 80,000 ถึง 120,000 คน โดยรายงานยังเปิดเผยถึงการทรมานด้วยการปล่อยให้อดอาหาร ข่มขืน และการทรมานรูปแบบต่างๆ
ทางการสหรัฐฯ กล่าวหาเกาหลีเหนือว่าพยายามจับกุมพลเมืองอเมริกันเพื่อต่อสู้กับอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ เผชิญความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น หลังจากเกาหลีเหนือทดลองปล่อยขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี และสหรัฐฯ ทำการซ้อมรบกับญี่ปุ่น อีกทั้งเคยมีแผนว่าจะพัฒนาขีปนาวุธป้องกันนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คาบสมุทรเกาหลีในวันที่ความอดกลั้นสิ้นสุดลง: การชิงโจมตีก่อนจะเกิดขึ้นจริงหรือ?
อ้างอิง: