ตลาดผลงานศิลปะยังคงหอมหวาน เพราะจากรายงานล่าสุดของ Art Market Report ที่รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์การประมูลงานศิลปะทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 พบว่ามูลค่าการประมูลสูงถึง 1.708 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 6.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นที่ระดับ 60% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563 แต่ก่อนที่จะสะสมเพื่อการลงทุน ก็ต้องมีใจรักและมีสุนทรียะกับงานศิลปะเสียก่อน
บุญชัย เบญจรงคกุล เล่าเรื่องงานศิลปะแต่ละชื้นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยหรือ MOCA Bangkok
การศึกษางานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสุนทรียศาสตร์และศิลป์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (Aesthetics Top Executive Program in Aesthetics and Art: ATA) โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสมาคมสุนทรียศาสตร์และศิลป์ในแบบ Learning by Doing โดยการพาผู้เรียนเข้าสู่โลกศิลปะไปกับศิลปิน และเยี่ยมชมคอลเล็กชันของนักสะสมตัวจริง พร้อมให้ความรู้ในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น บุญชัย เบญจรงคกุล เจ้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยหรือ MOCA Bangkok, ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ นักวาณิชธนกิจ และนักสะสมงานศิลปะระดับโลก และ เยาวณี นิรันดร นักสะสมงานศิลปะชื่อดังเจ้าของ 129 Art Museum ที่เขาใหญ่ ฯลฯ
ณัฐไวภพ ฐณะพงศ์ภักค์ นายกสมาคมสุนทรียศาสตร์และศิลป์ และผู้อำนวยการหลักสูตร เล่าว่า เปิดหลักสูตรก็เพื่อสนับสนุนศิลปินไทยที่มีความสามารถ แต่ยังขาดคนสนับสนุน ดังนั้นเมื่อสร้างความรู้ความเข้าใจจนทำให้เกิดความรัก ทำให้คนเริ่มเข้าหาศิลปะและนำไปต่อยอดทั้งการสร้างความสุข การสะสม รวมทั้งการลงทุน โดยมี 4 แกนหลักคือ ศิลปะเพื่อความรัก (Art for Love), ศิลปะเพื่อชีวิต (Art for Life), ศิลปะเพื่อการลงทุน (Art for Rich) และศิลปะเพื่อความสุข (Art for Happiness)
ณัฐไวภพ ฐณะพงศ์ภักค์ นายกสมาคมสุนทรียศาสตร์และศิลป์ และผู้อำนวยการหลักสูตรสุนทรียศาสตร์และศิลป์สำหรับผู้บริหารระดับสูง
“หลักสูตรนี้เราอยากให้ผู้บริหารระดับสูงเข้ามาเรียนรู้ เพราะเป็นผู้กุมนโยบาย ถ้าใช้ศิลปะสร้างความสุข ตัวเราก็มีความสุข สังคมก็มีความสุข และผู้สร้างสรรค์งานศิลปะก็ได้รับการสนับสนุน เป็นการสร้างศิลปะที่กินได้ แต่ในปัจจุบันยังมีนักสะสมงานศิลปะเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และไทยยังเข้าใจศิลปะน้อย โดยไม่มีความรู้ว่ามันงามหรือดีอย่างไร”
ส่วนการเลือกผลงานเพื่อสะสม ณัฐไวภพให้คำแนะนำว่า งานชิ้นนั้นต้องกระทบความรู้สึกของเรา ทั้ง สี เส้น และแสง รวมถึงเรื่องราวเบื้องหลังของภาพ ประวัติศิลปิน ที่ต้องอาศัยการสั่งสมความรู้จนเกิดเป็นความชอบ และต่อยอดไปสู่การลงทุน
ในขณะที่ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนักสะสมงานศิลปะให้ความเห็นไปในทางเดียวกันคือ ต้องเริ่มต้นจากการศึกษา หาสไตล์ที่ชอบ เอกลักษณ์ของงาน เทคนิคต่างๆ แบ็กกราวด์ศิลปิน โดยเชื่อว่า ศิลปินที่ประสบความสำเร็จต้องสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกับใคร ซึ่งพอร์ตงานศิลปะของเขาเน้นที่สะสมจากความชอบมากกว่าการลงทุน มีเพียง 1% จากทั้งหมดที่ขายออกไป และได้กำไรประมาณ 4 เท่าจากที่ซื้อมาเมื่อ 10-15 ปีก่อน
โดยเฉลี่ยแล้วภาพวาดจะให้ผลตอบแทนราวๆ 10% ต่อปี ขึ้นอยู่กับชิ้นงาน และสภาพคล่องของงานนั้นๆ อย่างเช่นศิลปินที่มีชื่อเสียงผลิตผลงานได้มากก็จะมีนักสะสมผลงานมาก ทำให้ชิ้นงานเปลี่ยนมือได้มากขึ้นไปด้วย หรือถ้าเป็นศิลปินใหม่ก็ต้องดูพัฒนาและความสม่ำเสมอว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกหรือไม่ในอนาคต ส่วนประเภทของงานศิลปะปัจจุบันภาพศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) มีการเคลื่อนไหวของราคามากกว่าศิลปะจากยุคอื่นๆ
โดยดัชนีศิลปะร่วมสมัยในปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้น 3% มีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของตลาดงานศิลปะ เทียบกับ 3% ในปี 2543 ซึ่งหากคิดจะลงทุนควรตั้งงบประมาณในการซื้อ เลือกงานชิ้นสำคัญๆ แบบน้อยชิ้นดีกว่าซื้อชิ้นย่อยๆ หลายๆ ชิ้น และการลงทุนทางเลือกในของสะสมก็ควรจะอยู่ที่ 5-10% ของพอร์ตการลงทุน
ภาพเขียน Banteng Hunt ของ Raden Saleh ชาวอินโดนีเซียได้รับการประมูลไปด้วยมูลค่า 11.7 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 431 ล้านบาท
สำหรับผลงานศิลปะของศิลปินไทยยังถือว่ามีราคาน้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียน ทั้ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ ทั้งๆ ที่มีศักยภาพแทบไม่ต่างกันเลย
“ในอาเซียนศิลปินอินโดนีเซียทำราคาสูงที่สุด อย่างเวลาที่ทีมงานของ Fukuoka Asian Art Museum ที่เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บงานศิลปะของศิลปินชาวเอเชียไว้มากที่สุด เวลาที่เขามาซื้องานของศิลปินไทยก็จะให้ราคาต่ำกว่า จุดนี้อยู่ที่การสื่อสารให้เขารู้ว่างานของเขาไม่ธรรมดา” ณัฐไวภพให้ความเห็นเกี่ยวกับแวดวงศิลปะของไทย
ผลงานของ ซันเต๋อ-ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ได้รับการประมูลไปด้วยมูลค่า 2.2 ล้านบาท
ปัจจุบันศิลปะไทยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
กลุ่มศิลปะไทยประเพณีเดิม (Thai Old Master) อย่างเช่นผลงานของ พระสรลักษณ์ลิขิต, ขรัวอินโข่ง, ครูทองอยู่ ฯลฯ
กลุ่มศิลปะสมัยใหม่ในไทย (Thai Modern Art) คือกลุ่มศิลปินที่เดินทางไปเรียนต่างประเทศแล้วนำเทคนิคจากตะวันตกเข้ามาใช้ในผลงาน อย่างเช่นผลงานของ เฟื้อ หริพิทักษ์, ชลูด นิ่มเสมอ, ถวัลย์ ดัชนี ฯลฯ ศิลปินในยุคนี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ราคามีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่มศิลปะร่วมสมัย (Thai Contemporary Art) อย่างเช่นผลงานของ มณเฑียร บุญมา, นที อุตฤทธิ์, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ฯลฯ
กลุ่มศิลปิน Thai Art Now ศิลปินรุ่นใหม่ที่นำศิลปะมาเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และได้ทำงานกับแบรนด์ดังระดับโลก อย่างเช่น ก้องกาน-กันตภณ เมธีกุล, ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ซึ่งราคายังอยู่ในหลักแสนหรือล้านต้นๆ ที่นักสะสมมือใหม่ยังพอสะสมได้
ผลงาน NFT ชิ้นแรกของ ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินชื่อดังที่ถือเป็นชิ้นงานที่มียอดประมูล NFT สูงสุดในประเทศไทย ด้วยราคา 2.2 ล้านบาท
ปัจจุบันภาคเอกชนหลายๆ แห่งพยายามผลักดันแวดวงศิลปะของไทย อย่างเช่น Asia Plus Art Contest โดย บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โครงการประกวดจิตรกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยมีศิลปิน และคณะผู้บริหารจาก บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งภาพจากการประกวดก็มีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี หรือการประมูลงานศิลปะโดย Bangkok Art Auction Center ที่นำผลงานศิลปินตั้งแต่ระดับมาสเตอร์จนถึงศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นประมูล และสร้างสถิติที่น่าสนใจอยู่หลายชิ้น เช่น ภาพเขียนของ ซันเต๋อ-ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ที่ทำยอดประมูลไปได้ถึง 2.2 ล้านบาท และภาพเขียนของ ก้องกาน-กันตภณ เมธีกุล ก็ทำยอดประมูลทะลุหลักล้านบาท รวมทั้งผลงาน NFT ชิ้นแรก ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินชื่อดังที่ถือเป็นชิ้นงานที่มียอดประมูล NFT สูงสุดในประเทศไทย ด้วยราคา 2.2 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ‘6 คนดัง’ กับคอลเล็กชันของสะสมส่วนตัวที่ราคาไม่ธรรมดา
- 6 โปสเตอร์ภาพยนตร์ราคาแรง บางชิ้นทะลุครึ่งล้านบาท
- เงินเฟ้อพุ่ง-ตลาดหุ้นซบเซา เอาเงินไปเก็บใน ของสะสม ชนิดไหนดี?
อ้างอิง:
- https://www.thairath.co.th/lifestyle/money/2483345
- https://paikubpro.com/pronews/bangkok-art-auction2022/
- https://www.ryt9.com/s/anpi/3306887
- https://forbesthailand.com/people/forbes-life-people/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87-%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99