เปิดแนวคิดและนโยบายด้านเศรษฐกิจของ หลี่เฉียง ว่าที่นายกรัฐมนตรีจีน ชายผู้ช่วยให้ อีลอน มัสก์ เปิดโรงงานต่างประเทศแห่งแรกได้อย่างราบรื่น แต่ก็เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิดในจีนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเซี่ยงไฮ้ อันเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ต้องหยุดชะงัก
หลังจากการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ผ่านมา หลี่เฉียง ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องว่า เขาจะกำหนดนโยบายในระดับชาติอย่างไร ขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ และการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยี ไปจนถึงผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และการล่มสลายของตลาดที่อยู่อาศัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- บริษัทเทคฯ ชั้นนำระดับโลกมุ่งลงทุนในเวียดนาม หลังจีนไร้วี่แววคลายนโยบาย Zero-COVID
การเลื่อนตำแหน่งของ ‘หลี่เฉียง’ ยังหมายความว่า เขาเตรียมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ‘หลี่เค่อเฉียง’ ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า และจะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาททางเศรษฐกิจสำคัญ เนื่องจากจะต้องดูแลกระทรวงของรัฐบาลทั้งหมด รวมถึงธนาคารกลางอีกด้วย
จับตานโยบายเศรษฐกิจของ ‘หลี่เฉียง’
ตลอดการทำงาน 3 ทศวรรษในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นและระดับมณฑล หลี่เฉียง ได้สร้างจุดยืนทางธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคไปพร้อมๆ กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการรักษาการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์
โดย Christopher Beddor รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจีน จาก Gavekal Dragonomics กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าบทบาทของนายกรัฐมนตรีจีนได้เปลี่ยนไปภายใต้การนำของสีจิ้นผิง และขณะที่หลี่เฉียงถูกมองว่าเป็นนักธุรกิจมืออาชีพ ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาจะมีอิทธิพลแบบใด
หลี่เฉียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 63 ปี เกิดที่เวินโจว เมืองชายฝั่งในจังหวัดเจ้อเจียง ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะเศรษฐกิจภาคเอกชนของจีนในช่วงทศวรรษ 1980 เนื่องจากชาวบ้านเปิดโรงงานขนาดเล็กที่ผลิตรองเท้า ไฟแช็ก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการส่งออก ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น
ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีในเซี่ยงไฮ้รายหนึ่ง ซึ่งเคยพบหลี่เฉียงหลายครั้งแสดงความเห็นว่า จิตวิญญาณของผู้ประกอบการเจ้อเจียงของหลี่เฉียงดูเหมือนจะถูกฝังอยู่ในกระดูก พร้อมมองว่าหลี่เป็นมืออาชีพ
แม้ว่าหลี่เฉียงจะสนับสนุนตลาด แต่เขาเคยยืนกรานว่า การขยายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไม่ควรเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อปี 2004 พร้อมแย้งว่า ควรให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ หลี่เฉียงยังเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารการเงิน Caixin Weekly ว่ามาตรวัดสุขภาพเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือ ภาคเอกชนมีความเคลื่อนไหวหรือไม่ พร้อมเสริมว่า ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของตลาดจำเป็นต้องจับคู่กับ ‘มือที่มองเห็นได้’ ของรัฐบาล
ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีตัวยง
ชายผู้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีจีนคนนี้ จบการศึกษาด้านจักรกลการเกษตรในเจ้อเจียง ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เส้นทางอาชีพการเมือง โดย เจิ้งลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนที่สถาบัน Brookings เปิดเผยกับ Bloomberg Television หลังจากการประชุมพรรคว่า “หลี่เฉียงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางเศรษฐกิจที่มีความสามารถ และเป็นมิตรกับตลาด”
หลี่เฉียงยังพูดถึงการสนับสนุนทางการค้าและการลงทุนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างจีนกับเศรษฐกิจต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยที่อยู่ในเวินโจว
ในสมาชิกพรรคระดับสูงประจำเซี่ยงไฮ้ หลี่เฉียงเคยได้พบกับผู้บริหารชาวต่างชาติหลายสิบคน รวมถึง Larry Fink แห่ง BlackRock, Tim Cook ของ Apple และ Elon Musk ของ Tesla
เคยเผชิญฟองสบู่อสังหาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
อีกความท้าทายสำคัญที่เศรษฐกิจจีนเผชิญอยู่คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนับเป็นปัญหาที่หลี่เฉียงมีประสบการณ์อยู่บ้าง โดยเขาเคยรับมือกับการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัยในเวินโจวเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรที่พุ่งสูงขึ้น
หลี่เฉียงยังเคยสนับสนุนให้รื้อถอนโรงงานประเภทที่ใช้แรงงานมาก และพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งรวมถึง ไมโครชิป เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการเงิน โดยหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแคมเปญโรงงานของหลี่คือ การเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกของ Tesla นอกสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง: