กำลังเกิดอะไรขึ้นกับปอดของคนเมือง เมื่อ ‘สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา’ หรือที่ประชาชนผู้มาใช้บริการสถานที่แห่งนี้เรียกกันติดปากว่า ‘สวนพระราม 3 ฝั่งพระนคร’ เมื่อจู่ๆ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้มีหนังสือแจ้งมายังกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ใช้สถานที่ว่าต้องการขอคืนพื้นที่สวนพระราม 3 ทั้งหมดจำนวน 29 ไร่ โดยหนังสือฉบับนั้นลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560 และขอให้คืนพื้นที่ภายในเวลา 60 วัน หมายความว่าวันสุดท้ายที่ประชาชนจะสามารถใช้บริการสวนแห่งนี้ได้คือวันที่ 28 มิถุนายนนี้ จากนั้นสวนพระราม 3 ก็จะถูกปิดตัวลง
การเรียกร้องเพื่อคัดค้านการปิดสวนพระราม 3
THE STANDARD ลงพื้นที่ตรวจสอบความเคลื่อนไหวเมื่อเช้าที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนมาใช้บริการสวนพระราม 3 แห่งนี้เพื่อออกกำลังกายจำนวนหลายร้อยคน โดยมีผู้ให้ข้อมูลว่า หากไม่มีอุปสรรคด้านสภาพอากาศจะมีประชาชนเฉลี่ยกว่า 2 พันคนต่อวันมาใช้บริการบริการที่สวนแห่งนี้
ขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนที่มาใช้บริการพื้นที่สวนเป็นประจำอยู่แล้ว และก่อนหน้านี้ได้มีการสร้างแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาการปิดสวนพระราม 3 ผ่านเว็บไซต์ change.org (ตรวจสอบล่าสุด มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 1,443 คน ณ เวลา 13.20 น.) และมีการรณรงค์ให้ร่วมลงชื่อในเอกสารเพื่อยื่นคัดค้านต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กันด้วย
นายทนงศักดิ์ มโนธรรมรักษา หัวหน้ากลุ่มคัดค้านการปิดสวน เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า การทางพิเศษฯ ต้องการขอคืนพื้นที่สวน เนื่องจากจะมีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และอ้างว่าต้องการใช้พื้นที่บริเวณสวนพระราม 3 ในการวางเครื่องจักรและสร้างแคมป์คนงานก่อสร้าง ขณะที่ประชาชนเองก็ไม่ได้มองว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหา และยังสนับสนุนอีกด้วย เพราะจะช่วยให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น
“เราเห็นว่าการก่อสร้างสะพานไม่มีความจำเป็นต้องปิดสวนทั้งหมด 29 ไร่ เพราะว่าการวางตอม่อก่อสร้างสะพานไม่ได้วางในพื้นที่บริเวณสวนสาธารณะ เพียงแต่จะใช้สร้างเป็นแคมป์คนงานก่อสร้างและวางเครื่องจักรเท่านั้น เราจึงอยากเสนอให้พิจารณาใช้พื้นที่อื่นในการสร้างแคมป์คนงานแทน เช่น บริเวณลานจอดรถของสวน หรือบริเวณใต้สะพานพระราม 9 ซึ่งยังมีพื้นที่ว่างอยู่อีกจำนวนมาก จึงอยากให้การทางพิเศษฯ ช่วยพิจารณาเรื่องการใช้พื้นที่ด้วย” นายทนงศักดิ์กล่าว
นายทนงศักดิ์เปิดเผยอีกว่า เมื่อการทางพิเศษฯ ขอคืนพื้นที่ทั้งหมดของสวนซึ่งเป็นศูนย์การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น คนชรา ผู้พิการ ซึ่งใช้พื้นที่นี้มาสิบกว่าปีน่าจะกระทบต่อวิถีชีวิต และที่น่าเสียดายมากที่สุดก็คือปอดของคนกรุงเทพฯ อีกจุดจะหายไปด้วย
นายทนงศักดิ์ มโนธรรมรักษา
หัวหน้ากลุ่มผู้คัดค้านการปิดสวน
ท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องติดตาม
หัวหน้ากลุ่มผู้คัดค้านการปิดสวนสาธารณะเปิดเผยอีกว่า เจ้าหน้าที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย น่าจะรับทราบถึงปัญหาดังกล่าวนี้แล้ว และเบื้องต้นได้มีการประสานงานมาเพื่อเตรียมนัดพูดคุยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในวันนี้ แต่ล่าสุดได้ขอเลื่อนออกไป โดยให้เหตุผลว่ากรุงเทพมหานครได้ติดต่อเข้ามาหารือในวันที่ 20 มิถุนายนนี้แล้ว ทั้งนี้หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็จะนัดพูดคุยกับกลุ่มผู้คัดค้านการปิดสวนพระราม 3 เพื่อแสดงท่าทีต่อไป
“ผมเองเป็นนักธุรกิจที่ทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ สร้างบ้านขาย ผมรู้ว่าพื้นที่นี้ไม่เกี่ยวกับการสร้างสะพาน สะพานสร้างอีกฝั่งของสวน ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงต้องการพื้นที่นี้คืน”
ขณะที่บรรยากาศในช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการนัดรวมตัวประชาชนอีกครั้งประมาณ 100 กว่าคน เพื่อแสดงพลังในการประกาศคัดค้านการขอคืนพื้นที่สวนพระราม 3 จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ความเป็นมาของสวนพระราม 3
สำหรับความเป็นมาของสวนสาธารณะแห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กระทรวงมหาดไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มอบที่ดินและส่วนประกอบอื่นในบริเวณเชิงสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีรวม 52 ไร่แก่กรุงเทพมหานครเพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งสร้างเสร็จพร้อมเปิดบริการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา’
ลักษณะทางกายภาพของสวนพระราม 3
เมื่อได้ลงพื้นที่พบว่า สวนแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็น waterfront park โดยภาพรวมของสวนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวกั้นกลางตามธรรมชาติ ทำให้กลายเป็นจุดชมวิวธรรมชาติ และบริเวณริมน้ำของสวนสาธารณะแห่งนี้ยังมีม้านั่งและพื้นที่ที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อน บรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้จำนวนมาก และเหมือนเป็นแหล่งนัดรวมตัวของคนเมืองที่ห่างไกลธรรมชาติ ทำให้เห็นสีสันชีวิตของการออกกำลังกาย และผู้คนในครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกัน
หัวหน้ากลุ่มคัดค้านยังยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ว่า สวนลุมพินีที่มีคนไปออกกำลังกายมากๆ มีอะไร ที่นี่ก็มีบรรยากาศแบบนั้นเช่นเดียวกัน มีการรำไทเก๊ก มีการออกกำลังกายต่างๆ มากมาย
คงต้องติดตามผลการเจรจาระหว่างการทางพิเศษฯ กับกรุงเทพมหานคร ในวันอังคารที่ 20 มิถุนายนนี้ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร และคงได้เห็นกลุ่มคัดค้านการปิดสวนแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อต่อลมหายใจให้ปอดของคนเมืองแห่งนี้อยู่ต่อไปอีกยาวนาน