×

‘เศรษฐกิจ-สิทธิทำแท้ง-ปัญหาผู้อพยพ’ จับตาประเด็นใหญ่สังคมอเมริกัน ตัวชี้วัดศึกเลือกตั้งกลางเทอม

01.11.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจ-สิทธิทำแท้ง-ปัญหาผู้อพยพ

การหาเสียงของบรรดานักการเมืองอเมริกันเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนที่ศึกเลือกตั้งกลางเทอมจะเปิดฉากในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ โดยมีการหยิบยกหลายประเด็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมาปราศรัย เพื่อหวังดึงคะแนนเสียง

 

ในฝั่งของพรรครีพับลิกันที่ตอนนี้เป็นฝ่ายค้านหลัก และพยายามหาทางชิงอำนาจเสียงข้างมากในสภาคองเกรสจากพรรครัฐบาลเดโมแครต กำลังมุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาใหญ่คือ เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของชาวอเมริกัน ที่กำลังเผชิญผลกระทบหนักจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง

 

ขณะที่เดโมแครตมุ่งเน้นการหาเสียงไปที่ประเด็นสิทธิการทำแท้ง หลังจากที่ศาลฎีกาสหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำแท้ง นอกจากนี้ยังชูประเด็นความกังวลต่ออนาคตของระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่ยุติธรรรมในสหรัฐฯ

 

สำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ซึ่งจะมีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 435 ที่นั่ง และวุฒิสมาชิกอีก 35 ที่นั่ง จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง 

 

โดยผลการเลือกตั้งจะส่งผลอย่างมหาศาลต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในวาระที่เหลืออีก 2 ปี ซึ่งประเด็นต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น รวมถึงเรื่องสำคัญอื่นๆ เช่น ปัญหาผู้อพยพ จะเป็นประเด็นสำคัญที่อาจชี้วัดทิศทางของการเลือกตั้งกลางเทอมรอบนี้

 

ปัญหาเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมาปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถชี้วัดผลการเลือกตั้งได้ในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือหลักในการหาเสียงจนชนะเลือกตั้ง เช่น บิล คลินตัน ที่ชูประเด็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในการหาเสียงปี 1992 จนทำให้สามารถเอาชนะ จอร์จ บุช และคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีไปได้

 

สำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมรอบนี้ พรรครีพับลิกันก็วางเรื่องเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักในการหาเสียง และโจมตีไบเดนที่พยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูง

 

โดยในเดือนสิงหาคมพบว่า แม้ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ จะลดลง แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ กลับพุ่งขึ้นถึง 8.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2021 

 

ขณะที่พรรคเดโมแครตโต้แย้งว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับวิกฤตการณ์ทั่วโลก อาทิ สงครามในยูเครน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโควิด แต่พรรครีพับลิกันมองว่า การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลไบเดนที่ยังคงเพิ่มขึ้นนั้นเป็นหนึ่งในต้นตอปัญหาที่ต้องกล่าวโทษ

 

“เงินเฟ้อกำลังทำลายชาวอเมริกัน และมันทำร้ายผู้ที่อ่อนแอที่สุดอย่างไม่เหมาะสม มันทำให้ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ของชำ มีราคาแพงขึ้น ทำร้ายธุรกิจขนาดเล็ก และทำร้ายผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนพึ่งพาประกันสังคม และต้องการทุกเพนนีที่เหลืออยู่” เมห์เมต ออซ ผู้สมัครวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันในรัฐเพนซิลเวเนีย โพสต์ข้อความบน Twitter ถึงปัญหาเงินเฟ้อ เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา

 

สิทธิในการทำแท้ง

ในการหาเสียงทั่วประเทศ พรรคเดโมแครตให้ความสำคัญกับนโยบายสิทธิในการทำแท้ง โดยมองว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นเหมือนการลงประชามติเรื่องสิทธิการการมีบุตรของชาวอเมริกัน

 

โดยหลังจากที่ศาลสูงสุดมีมติเสียงข้างมากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ให้กลับคำพิพากษา ยกเลิกคำตัดสินคดี ‘Roe v. Wade’ ที่เคยพิพากษาไปเมื่อปี 1973 ว่า การทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ส่งผลให้รัฐอนุรักษนิยมหลายรัฐผ่านกฎหมายจำกัดการทำแท้งอย่างเข้มงวด และในบางรัฐแทบจะห้ามการทำแท้งเกือบทุกกรณี

 

ขณะที่พรรคเดโมแครตตอบโต้ด้วยการพยายามผ่านกฎหมายรัฐบาลกลางเพื่อคุ้มครองสิทธิในการทำแท้ง แต่การผ่านกฎหมายที่สำคัญนั้นจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่เรียกว่า Filibuster หรือ ‘กลยุทธ์การเตะถ่วงในชั้นอภิปราย’ ก่อนที่จะมีการลงมติ ซึ่งต้องใช้คะแนนโหวตในวุฒิสภาถึง 60 เสียงจากจำนวนวุฒิสมาชิกทั้งหมด 100 ที่นั่ง แต่ ณ ปัจจุบัน พรรคเดโมแครตมีจำนวนวุฒิสมาชิกเพียง 50 ที่นั่ง ทำให้ไม่เพียงพอ

 

อย่างไรก็ตาม ไบเดนและผู้นำเดโมแครตให้คำมั่นว่าจะตัดกระบวนการ Filibuster ออกไป หากทางพรรคสามารถคงอำนาจเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และได้อำนาจเสียงข้างมากเพิ่มในวุฒิสภาในการเลือกตั้งกลางเทอมรอบนี้

 

ทางด้านสมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่นั้นแย้งว่า กฎระเบียบในการทำแท้งควรเป็นเรื่องที่แต่ละรัฐต้องจัดการเอง ขณะที่วุฒิสมาชิก ลินด์ซีย์ เกรแฮม ซึ่งไม่ได้ลงสมัครในการเลือกตั้งกลางเทอมรอบนี้ ได้เสนอกฎหมายรัฐบาลกลางให้แบนการทำแท้งสำหรับผู้ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 15 สัปดาห์

 

“ในเดือนพฤศจิกายนนี้ การทำแท้งจะอยู่ในบัตรลงคะแนน เสรีภาพของผู้หญิงจะอยู่ในบัตรลงคะแนน อนาคตของสิทธิในการเจริญพันธุ์ของสตรีจะอยู่ในการลงคะแนน” แม็กกี้ ฮัสซัน วุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ โพสต์ข้อความทาง Twitter เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา

 

ปัญหาผู้อพยพ

ด้วยจำนวนผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยที่พยายามข้ามพรมแดนทางใต้ของสหรัฐฯ ในปีนี้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้พรรครีพับลิกันเปลี่ยนท่าทีจากแค่ต่อต้านนโยบายผู้อพยพของไบเดน กลายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง

 

โดยพรรครีพับลิกันกล่าวโจมตีไบเดนที่ยกเลิกบางนโยบายต่อต้านการย้ายถิ่นฐานในยุครัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่ล้มเหลวในการจัดการกับผู้อพยพที่เดินทางข้ามชายแดนมาถึงสหรัฐฯ และล้มเหลวในการคุ้มครองชายแดน

 

ท่าทีล่าสุดของผู้ว่าการรัฐจากรีพับลิกันทั้งเท็กซัส แอริโซนา และฟลอริดา ยังกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสื่อทั่วประเทศ หลังจากที่ดำเนินการจ่ายค่าขนส่งให้กลุ่มผู้อพยพเดินทางไปยังหลายเมืองทางตอนเหนือที่มีนโยบายในเชิงเสรีนิยม โดยระบุเหตุผลว่า เป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งเบาภาระ 

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้กลุ่มสิทธิผู้อพยพและ ส.ส. ของเดโมแครตหลายคน พากันประณามว่า เป็นการ ‘เล่นละครทางการเมืองที่โหดร้าย’ และใช้ความลำบากของผู้ลี้ภัยในการสร้างคะแนนเสียง ซึ่งทางผู้ว่าการรัฐของรีพับลิกันดังกล่าวยืนยันที่จะดำเนินการต่อปัญหาผู้อพยพตามที่ตัดสินใจไป ในขณะที่ผู้สมัคร ส.ส. และวุฒิสมาชิกในอีกหลายรัฐ ก็ยืนยันที่จะดำเนินการต่อผู้อพยพตามแนวทางของทรัมป์ที่ดูสุดโต่งและแข็งกร้าวหากได้รับการเลือกตั้ง

 

โดยตัวอย่างหนึ่งคือ อดัม ลักซอลต์ ผู้สมัครวุฒิสมาชิกจากรีพับลิกัน ที่พยายามเอาชนะคู่แข่งจากเดโมแครต ด้วยการประกาศในเว็บไซต์หาเสียงว่าจะสร้างกำแพงป้องกันชายแดนทางใต้ให้สำเร็จ

 

ปกป้องระบอบประชาธิปไตย

ที่ผ่านมาพรรคเดโมแครตส่งเสียงเตือนว่า ฐานเสียงของทรัมป์ในพรรครีพับลิกัน กำลังเพิ่มความเป็นเผด็จการมากขึ้น หรืออย่างที่ไบเดนกล่าวไว้ว่า เป็นพวกกึ่งฟาสซิสต์ เนื่องจากทรัมป์ยังคงพยายามพลิกผลการเลือกตั้งในปี 2020 ด้วยการอ้างถึงข้อกล่าวหาเท็จเกี่ยวกับการฉ้อโกงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

โดยผู้สมัครจากเดโมแครตหลายคนมองว่า การกลับคืนสู่อำนาจในสภาของพรรครีพับลิกันนั้นอาจเป็นอันตรายต่อระบบการปกครองของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่พรรครีพับลิกันเสนอชื่อผู้สมัครส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธหรือตั้งคำถามต่อผลการเลือกประธานาธิบดีตั้งเมื่อปี 2020 

 

ในขณะที่ทรัมป์เองยังคงพยายามกดดันทั้งต่อสภานิติบัญญัติในหลายรัฐ, กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตลอดจน ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีในยุครัฐบาลของเขาเอง เพื่อหวังให้พลิกผลเลือกตั้งในปี 2020 และเมื่อเดือนที่แล้วเขายังเรียกร้องให้คืนตำแหน่งประธานาธิบดีกลับมา

 

โดยท่าทีของทรัมป์ที่ตั้งใจจะหวนคืนสู่การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งในปี 2024 ทำให้สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนยิ่งมองว่า การปิดกั้นการกลับคืนสู่อำนาจของทรัมป์และพรรครีพับลิกันนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

 

ประเด็นอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการลงคะแนน

 

การศึกษา 

พรรครีพับลิกันเน้นย้ำเรื่องการระมัดระวังในการพูดถึงเรื่องเชื้อชาติ เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ ในโรงเรียน และต้องการให้เพิ่มการควบคุมจากผู้ปกครองมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กได้รับการสอน

 

ขณะที่พรรคเดโมแครตปฏิเสธแนวทางของพรรครีพับลิกันที่ผลักดันให้มีการปิดกั้นการพูดถึงในเรื่องเพศ ซึ่งมองว่าส่งผลร้ายมากกว่า โดยเฉพาะต่อนักเรียนในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ 

 

สภาพภูมิอากาศ 

สมาชิกหัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตมองว่า การบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่สุด และต้องการที่จะครองอำนาจเสียงข้างมากในสภาคองเกรส เพื่อขยายกฎหมายล่าสุดที่ลงนามโดยไบเดน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการผลักดันการใช้พลังงานสีเขียวและรถยนต์ไฟฟ้า

 

ความปลอดภัยสาธารณะ 

ปัญหาการก่ออาชญากรรมและคดีฆาตกรรมในสหรัฐฯ นั้นเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2020-2021 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มอนุรักษนิยมมองว่า แนวโน้มของปัญหานั้นเกิดจากแนวคิดของกลุ่มเสรีนิยมและกลุ่มหัวก้าวหน้า

 

หนึ่งในปัญหาความรุนแรงครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ คือกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจกดคอจนเสียชีวิต และก่อให้เกิดการชุมนุมใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ในปี 2020 โดยประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้มีการตัดเงินสนับสนุนตำรวจ แต่ไบเดนยืนกรานปฏิเสธ และมองว่าควรมีการจัดการทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจอย่างเหมาะสม

 

ท่าทีของผู้นำเดโมแครตทำให้สมาชิกพรรครีพับลิกันมองว่า เป็นการเปิดทางสำหรับการก่ออาชญากรรม โดย เบลก มาสเตอร์ส ผู้สมัครวุฒิสมาชิกรัฐแอริโซนาจากรีพับลิกัน ระบุข้อความบนเว็บไซต์หาเสียงของเขาว่า “ในวุฒิสภาสหรัฐฯ ผมจะต่อสู้ในทุกๆวัน เพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนในแอริโซนานั้นกลับมาปลอดภัยอีกครั้ง”

 

การควบคุมอาวุธปืน 

ปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนและเหตุกราดยิงปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐฯ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยพรรคเดโมแครตพยายามที่จะผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการห้ามใช้อาวุธปืนแบบจู่โจม

 

ทางด้านพรรครีพับลิกันประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะปกป้องการเข้าถึงอาวุธปืนและปกป้องบทญัตติเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 หรือ Second Amendment ซึ่งให้สิทธิในการถือครองอาวุธปืนอย่างเสรีแก่ชาวอเมริกัน

 

ภาพ: Tom Williams / CQ-Roll Call, Inc via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X