วันนี้ (1 พฤศจิกายน) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังมีการประชุมวันนี้ว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ….
สำหรับเหตุผลการร่าง เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราในปัจจุบันให้มากขึ้น
เปิดสาระสำคัญร่างกฎกระทรวงของรัฐบาล
- ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิต ‘กรณีสุราแช่’
สำหรับสุราแช่ เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิงไวน์ และสุราแช่พี้นเมือง
- ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
- ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51
- กรณีสุรากลั่น เช่น สุราขาว สามารถขยายโรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลาง ที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 50 คน
- ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์
จากเดิมที่กำหนดกำลังต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี เป็นกำหนดให้เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ ที่มีมาตรฐานตามที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศ
ให้คงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำลังการผลิตขั้นต่ำตามเดิม ในส่วนของโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่น ชนิดสุราพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และจิน ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน และโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดอื่นๆ เช่น สุรากลั่นชนิดสุราขาวและองค์การสุรา ไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
- เพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาต โดยให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
ร่างกฎกระทรวง เป็นการผ่อนคลายความเข้มข้นของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
อนุชากล่าวว่า การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจและธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราไนปัจจุบัน
จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญในเชิงประโยชน์ของรัฐ ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสินค้าสุราที่ผลิตได้คุณภาพมีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อการบริโภค ครอบคลุมการดูแลทั้ง 3 ด้านคือ การดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน การดูแลสังคม ป้องกันอุบัติเหตุที่มาจากการดื่มสุรา รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตสุราด้วย
วิษณุชี้กฎหมายสุราก้าวหน้าไม่จำเป็นแล้ว บอกเกือบเทียบเท่าร่างของ ‘ก้าวไกล’
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม. เห็นชอบกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 สำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าสินค้าสุรา ว่าเป็นกฎหมายเดิมที่มีชื่อว่า พ.ร.บ.สรรพสามิตที่ออกมาเมื่อปี 2560 ต่อมาได้มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ากฎหมายมีความรัดกุมมากเกินไป จึงมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อให้ผ่อนคลายลง อย่างฉบับของพรรคก้าวไกลที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ต่อมารัฐบาลได้รับมาพิจารณา พบว่ากฎหมายเมื่อปี 2560 มีความเข้มงวดมากเกินไป และกฎหมายของฝ่ายค้านหย่อนมากเกินไป นั่นคือความอันตรายต่อผู้บริโภค อันตรายต่อผู้ผลิต และกระทบต่อภาษีรายได้ของประเทศ จึงหาวิธีมาพบกันครึ่งทาง ทางกฤษฎีกาจึงแนะว่า ไม่ต้องออก พ.ร.บ. ให้ออกเป็นกฎกระทรวงได้ ซึ่งมีความเข้มงวดน้อยลงเกือบจะเท่ากับหลักเกณฑ์ที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ดังนั้นกรมสรรพสามิตจึงได้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่ง ครม. ได้พิจารณาแล้ว และส่งต่อไปยังกฤษฎีกา ซึ่งให้กฤษฎีกาไปดูและมีความเห็นว่ายังไม่รัดกุม จึงออกเป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 2 วันนี้ ครม. จึงได้เห็นชอบแล้ว และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายของฉบับพรรคก้าวไกลถือว่าไม่มีความจำเป็น เพราะว่ามีสิ่งที่ดีที่เกือบจะเท่าเทียม
วิษณุยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาชิงไหวชิงพริบ และไม่ใช่การแก้เกม หรือตัดหน้าอะไรกับสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมายฉบับนี้มากว่า 6 เดือนแล้ว ก่อนหน้าพรรคก้าวไกลจะเสนอเข้ามา ซึ่งหากมองเป็นเรื่องการเมืองก็เป็นการชิงไหวชิงพริบได้ทุกเรื่อง แต่จุดประสงค์ต้องการให้มีกฎเกณฑ์เพื่อผ่อนปรน เพื่อส่งผลให้สุราที่ไม่มีทางการค้า อย่างสุราพื้นบ้านที่มีอยู่ 3 เหตุผลคือ
- เป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน
- ไม่ได้ทำให้รายได้รัฐบาลลดลง
- เพื่อทำให้ผู้ประสงค์ที่จะผลิตสุราสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาต สร้างภาระแก่ประชาชน
ซึ่งวิษณุย้ำว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวหย่อนลงกว่าครึ่งของฉบับปี 2560 “ก็ไม่จำเป็น เพราะว่ามันจะมีสิ่งที่ดีเกือบเท่าเทียม อาจจะไม่เท่าหรอก แต่ว่าเกือบเท่าเทียม แต่ว่าหย่อนลงจากกฎหมาย พ.ร.บ. ปี 2560 เยอะมากกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่แก้เกม เพราะร่างกฎกระทรวงเขาร่างมา 6 เดือนแล้ว ก่อนที่พรรคก้าวไกลเสนออีก” วิษณุกล่าว
ส่องร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ฉบับพรรคก้าวไกล
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกลกับคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ได้กำหนดให้บุคคลผู้ประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสําหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองต้องยื่นคําขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด โดยการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
เท่าพิภพมีความเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีการกำหนดกรอบเนื้อหาในการออกกฎกระทรวงไว้ให้เหมาะสม ทำให้กฎกระทรวงที่ออกตามความบัญญัตินั้นกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตและเงื่อนไขอื่นที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรกว่าเหตุ ส่งผลให้ผู้ประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้ารายเล็กหรือรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพตามกฎหมายได้ จึงเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ไม่คุ้มครองบุคคลให้มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมเพียงพอตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สมควรต้องปรับปรุงโดยกำหนดกรอบเนื้อหาของกฎกระทรวงให้เป็นธรรม ดังต่อไปนี้
- แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 153 ของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ให้การผลิตสุราสามารถกระทำได้โดยทั่วไป แต่หากประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้าอันเป็นการประกอบอาชีพที่สุจริตต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต โดยต้องขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และเพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลให้มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพผลิตสุราและจัดระเบียบการประกอบอาชีพผลิตสุราให้เหมาะสม จึงกำหนดกรอบเนื้อหาของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกฎกระทรวงที่ต้องไม่กำหนดข้อจำกัด อันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
- กำหนดให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับร่างพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และกำหนดให้การดำเนินการออกกฎกระทรวงหรือประกาศฉบับใหม่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
- กำหนดรองรับคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือเป็นคำขอตามพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยอนุโลม และถ้าคำขอดังกล่าวมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ผู้อนุญาตสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอเพื่อให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
- กำหนดรองรับใบอนุญาตที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต
โดยสรุปคือ เฉพาะผู้ใดจะประสงค์ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี ส่วนสุราที่บริโภคในครัวเรือนสามารถทำได้ ไม่ต้องกำหนดเกณฑ์ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเหล้าและเบียร์ แต่ในกรณีของการตั้งบริษัทเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน ยกเว้นแต่การกำหนดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย
นักวิชาการมองร่างสุราก้าวหน้า เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ร่างกฎหมายสุราเสรี แต่เป็นร่างกฎหมายที่เปิดให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถขออนุญาตผลิต ขายสุรา และเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะในปัจจุบัน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้เปิดช่องให้เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีปริมาณผลิตจำนวนมากเท่านั้น ที่จะสามารถขออนุญาตในการผลิต จำหน่ายสุรา และเสียภาษีได้ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่พิจารณาในสภานี้จึงเป็นการพูดถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดื่มแล้วไม่ขับขี่ ซึ่งมีกฎหมายใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน
รศ.ดร.ปกป้องกล่าวว่า การเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขออนุญาตผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเป็นการเพิ่มรายได้ทางภาษีให้กับรัฐบาล ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการดื่มมากหรือดื่มน้อย เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายสุราก้าวหน้าหรือไม่ คนก็บริโภคจากผู้ประกอบการรายใหญ่หรือจากที่นำเข้าอยู่แล้ว ควรไปเพิ่มมาตรการของกฎหมายในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายจราจรทางบกเรื่องดื่มไม่ขับน่าจะดีกว่า
อ้างอิง: