ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ในภาวะที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคโควิด ตั้งแต่ปี 2562 ไวรัสร้ายตัวนี้ได้พรากชีวิตและสร้างความเสียหายเศรษฐกิจไปทั่วโลก ในช่วงการระบาดแรกๆ ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่จัดการการแพร่ระบาดโรคโควิดได้ดี
เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล รวมไปถึง ‘เจ้าหน้าที่สาธารณสุข’ หรือหมออนามัย ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย ด้วยปริมาณจำนวนผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานอย่างยอดเยี่ยม
ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสริมสร้างกำลังใจแก่บุคลากรด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยวิกฤต ในสถานการณ์ภาวะวิกฤต ด้วยการจัดทำคำขอตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เป็นกรณีพิเศษ
กระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้าราชการในรอบแรกประมาณ 30,000 คน จากนั้นได้ประกาศบรรจุรอบที่ 2 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาการบรรจุข้าราชการสาธารณสุขปฏิบัติงานโรคโควิด
ขณะที่การบรรจุรอบ 2 จะเสนออัตราข้าราชการตั้งใหม่ 27,529 อัตรา ใช้อัตราว่างเดิมอีก 9,615 อัตรา รวมทั้งหมด 37,144 อัตรา จากทั้งหมด 63 สายงาน ซึ่งได้ส่งเรื่องไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่ขณะนี้ยังไม่คืบหน้าใดๆ
เสียงจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ยังรอบรรจุ
THE STANDARD สนทนากับหนึ่งในเจ้าหน้าที่นักวิชาการสาธารณสุข ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรด่านหน้าในการพิทักษ์โรคร้ายโควิดมาตั้งแต่แรกเริ่ม ในช่วงปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ที่ยังเฝ้ารอการบรรจุเป็นข้าราชการรอบที่ 2 ของกระทรวงสาธารณสุข
และท่ามกลางความสบสนของชีวิต หลังเตรียมโยกย้ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ สถานีอนามัยเดิม ให้บริการทางสาธารณสุข อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 และ 26 กรกฎาคม 2565
เธอเล่าถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เจ้าพนักงานสาธารณสุข และนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งงานสาธารณสุขเป็นงานที่ต้องทำด้วยใจรัก เพราะต้องดูแลคนในชุมชนในขั้นปฐมภูมิเกือบทั้งหมด
โดยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิดระบาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องลงพื้นที่อย่างหนัก ไปตรวจหาผู้ติดเชื้อ ซักประวัติ แยกประเภทผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงต้องเป็นผู้ประเมินเบื้องต้นว่าผู้ป่วยคนใดควรได้พบหมอ คนใดควรได้รักษาตัวที่โรงพยาบาล และควรได้ยาฟาวิพิราเวียร์
เธอยอมรับว่า หลังจากที่มีประกาศออกมาว่ามีการบรรจุเจ้าหน้าที่บุคลากรทางแพทย์ด่านหน้าเข้าบรรจุเป็นข้าราชการ เป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ทำให้เธอทำงานอย่างหนัก เพื่อสู้กับโรคโควิด และทำให้ผู้ติดเชื้อเหลือน้อยที่สุด เพื่อที่จะทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง แม้เงินเดือนจะน้อย เริ่มต้นที่ 11,030 บาท และค่าเวรทำงานในวันหยุดวันละ 485 บาท ใน 1 เดือนได้รับเงินค่าตอบแทนไม่ถึง 15,000 บาท ยังไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำของบุคคลที่จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ แต่ก็ทำงานอย่างเต็มที่
เธอเล่าว่า ตอนที่ทำงานช่วงนั้นเหนื่อยล้ามากๆ แต่พอประกาศรายชื่อกลับไม่มีชื่อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคนที่ตรงเกณฑ์ว่าจะได้บรรจุ ต่างไม่ได้ ก็เสียใจ แต่เมื่อประกาศว่าจะมีบรรจุรอบ 2 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคนก็มีความหวังอีกครั้ง โดยสำรวจและส่งรายชื่อว่ามีใครที่ยังตรงเกณฑ์ที่ยังไม่ได้บรรจุ ปัจจุบันผ่านมาเป็นปีไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ส่วนขั้นตอนการบรรจุเข้ารับข้าราชการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรอบปกตินั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการบรรจุตามรอบของกลุ่มผู้ที่ใช้ทุน การบรรจุแต่ละครั้งนั้นแสนยากเย็น รวมถึงต้องเผชิญกับบุคคลที่มีเส้นสาย ส่งผลให้แทบไม่มีตำแหน่งสำหรับบุคคลธรรมดาอย่างเธอ พร้อมยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายหนึ่ง ทำงานมายาวนานกว่า 10 ปี เพิ่งได้บรรจุข้าราชการในรอบที่ 1 ที่ผ่านมา
เธอกล่าวอีกว่า แม้จะยังไม่เห็นเกณฑ์การบรรจุข้าราชการในรอบ 2 แต่หากยึดตามเกณฑ์เหมือนรอบที่ 1 คือ ต้องเข้าทำงานก่อนวันที่กระทรวงกำหนด จบการศึกษาภายในปี 2562 และเป็นลูกจ้างที่มีเลขที่ตำแหน่งที่อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข เธอมั่นใจอย่างมากว่าเธอจะต้องมีชื่อในการได้รับบรรจุข้าราชการแน่นอน
ส่วนเหตุผลที่เธออยากบรรจุเข้ารับราชการนั้น เนื่องจากการเป็นข้าราชการจะทำให้เธอได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำหน้าที่ด่านหน้า มีสิทธิ์ที่จะป่วยง่ายขึ้น ติดเชื้อง่าย แต่สวัสดิการกลับเท่าทุกคน ถ้าป่วยใช้ประกันสังคมในการรักษา
ขณะเดียวกัน การเบิกค่าเสี่ยงภัยโรคโควิด กรณีออกไปปฏิบัติหน้าที่ ไปคัดกรองผู้ป่วย หรือไปสอบสวนโรคในชุมชน มีค่าตอบแทนชั่วโมงละ 125 บาท หากทำงานครบ 8 ชั่วโมงจะได้รับเงิน 1,000 บาท ปัจจุบันเธอเองยังไม่ได้รับเงินมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 การเบิกค่าเสี่ยงภัยในแต่ละครั้งนั้นแสนยากเย็น มีกฎเกณฑ์เยอะ ต้องทำเอกสารจำนวนมาก รวมถึงมีกำหนดในการส่งอย่างเข้มงวด
“หลังๆ ก็ยังมีเคสที่ต้องเข้าไปดูแล ทำงานโดยไม่เอาค่าเสี่ยงภัย มองเป็นงานส่วนหนึ่งไปแล้ว ใส่ชุดตรวจทั้งวัน ร้อน ไม่ได้กินข้าว เวลาเบิกก็ต้องทำเอกสาร ใน 1 เดือนมีเอกสารเป็นลังๆ ไม่รู้ว่าคุ้มหรือเปล่า การทำงานทุกอย่างของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตอนนี้คือ การทำไปแล้วเผื่อได้”
เธอเล่าอีกว่า ตอนที่ทำงานก็ทำเต็มที่ แต่พอจะเบิกค่าเสี่ยงภัยกลับได้ยากได้เย็น บางอนามัยที่มีคนไข้จำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่มีเวลาทำเอกสาร ก็ต้องปล่อยไป ตัดค่าเสี่ยงภัยเหล่านั้นไป
“คนทำงานในมุมเรา คนที่อยู่ระดับอำเภอ ทำงานเชิงทางวิชาการ ถ้าไม่เอาตัวเองออกไปช่วยผู้อื่น เราก็ไม่มีสิทธิ์เบิกเงินค่าเสี่ยงภัย แม้ว่าจะต้องนั่งทำเอกสารให้ เราจะไม่ได้ค่าเสี่ยงภัยใดๆ ทั้งสิ้น เกณฑ์เยอะ เงินเดือน 11,030 บาท บางคนยังได้รายวัน 500 บาท วันหยุดไม่ได้เงิน แต่ก็ทำต่อไป”
โยกย้ายไปท้องถิ่น
นอกจากต้องรอการบรรจุอย่างไร้ความหวังแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายรายยังต้องอยู่ในภาวะที่ ‘กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไปก็ไม่ถึง’ ต่อการโยกย้ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ สถานีอนามัยเดิม ที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เรื่องนี้ก็สร้างความลำบากใจไม่น้อยว่าควรทำรอบรรจุข้าราชการครั้งนี้อยู่ไหม หรือควรไปเริ่มต้นที่ อบจ. แล้วหากในอนาคตมีบรรจุข้าราชการรอบที่ 2 ขึ้นมาจะทำอย่างไร
แผนตอนนี้ เมื่อทุกอย่างไม่มีความชัดเจน เราเองยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป ฝั่งท้องถิ่นจะเปิดสอบในเดือนธันวาคมนี้ ก็ต้องรอว่าตำแหน่งที่เปิดสอบเป็นตำแหน่งไหน ค่าตอบแทนเป็นอย่างไร ถ้าเป็นการสอบข้าราชการจะทำให้เธอตัดสินใจง่ายขึ้นทันที แต่ถ้าไม่ใช่จะทำให้การตัดสินใจคิดไม่ตก
“ถ้าทางนั้นเปิดบรรจุ แต่ทางนี้เราก็ทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย มีเลขที่ตำแหน่งตามที่เกณฑ์กำหนด เรื่องนี้ไม่มีความชัดเจนใดๆ จากฝ่ายใด ตอนแรกเริ่มอยากได้ อสม. เป็นการถ่ายโอนภารกิจไปทำต่อในหน่วยงานที่มีความเหมาะสม เช่น การดูแลโรคไข้เลือดออก มีการพ่นยุง”
เธอบอกว่า หากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ไม่ไปโยกย้ายไปอยู่ภายใต้ อบจ. ก็ต้องย้ายออกจากอนามัย โดยที่กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้หาหน่วยงานใหม่ให้ แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ยังไม่ไป เพราะทุกคนยังมีความหวังที่จะได้บรรจุและอยู่สังกัดภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเดิม เพราะการถ่ายโอนไปยังกระทรวงมหาดไทยต้องไปเป็นลูกจ้างเหมือนเดิม
“แล้วการโยกย้ายครั้งนี้จะมีผลต่อเงินเดือนซึ่งเป็นค่าตอบแทนไหม กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้แสดงท่าทีอะไร หากกระทรวงสาธารณสุขออกมาแสดงท่าทีว่ายกเลิกการบรรจุบุคลากรด่านหน้าในรอบที่ 2 จะทำให้ทุกคนตัดสินใจกับอนาคตของตัวเองได้ง่ายขึ้น หรือประกาศออกมาเลยว่ามีการบรรจุแน่นอน แล้วมีเหตุอะไรที่หลายคนต้องทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมแลกเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”
ส่วนเรื่องนี้ เธอต้องการคำตอบจากกระทรวงสาธารณสุขว่าอย่างไร การดำเนินการขณะนี้ถึงไหน หากไม่มีการโยกย้ายแบบนี้ก็จะไม่เกิความวุ่นวายใดๆ แม้จะต้องรอ แต่ทำงานต่อไป พอเป็นแบบนี้ทำไมเราต้องแลก ทำไมต้องเลือก เราทำงานกันอย่างไร ทำงานด้วยความยากลำบาก ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเต็มที่ แล้วมีเกณฑ์อะไรมาตัดสิน
ความหวังอันเลือนราง ถ้าได้คงเหมือนถูกหวย
เธอเล่าความรู้สึกในการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า หมอ พยาบาล ไม่ได้อยู่ในชุมชน แต่คนที่อยู่กับชาวบ้านในชุมชนจริงๆ ก็มีแค่หมออนามัย (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข) ยิ่งในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ติดชายแดน ชาวบ้านไม่เคยนึกถึงหมอในโรงพยาบาล เพราะในชีวิตจริงหมออนามัยจะเป็นคนแรกที่ถูกนึกถึง เจ็บป่วยตรงไหน มีปัญหาอะไร โทรศัพท์มาก็ไปดูแลถึงที่บ้าน ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกว่ารวยหรือจน
“ตอนนี้เหมือนความหวังอันเลือนราง ถ้าได้ก็คงเหมือนถูกหวย แล้วตอนนี้ก็เหมือนคนที่ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิต จะรอบรรจุไหม หรือควรมุ่งหน้าไปที่การโยกย้ายไปเลย ตัวเราคนเดียวยังโอเค ลองนึกถึงคนอื่นที่มีครอบครัวแล้วต้องโยกย้าย ตอนแรกที่รอบรรจุนานก็เศร้าแล้วนะ แต่มาเจอเรื่องโยกย้ายอีก ชีวิตเศร้ากว่าเดิม สับสน มึนงงกับชีวิต ทำงานก็เหนื่อยอยู่แล้ว ยังต้องเอาเวลามาคิดอีกว่าควรเอาอย่างไรกับชีวิต เสิร์ชดูข่าวก็เงียบ เงียบหายไปพร้อมกับโรคโควิด”
อยากยกระดับสาธารณสุขวิชาชีพ
เธอยกตัวอย่างอีกว่า ปัจจุบันมีหมอหรือพยาบาลที่ยังสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน ก็มีตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ทำหน้าที่นักวิชาการสาธารณสุข แต่นักวิชาการสาธารณสุขตัวจริงที่จบด้านนี้มาจะได้ทำตำแหน่งพนักงานคีย์ข้อมูล
“นักวิชาการสาธารณสุขส่วนใหญ่ท้อ ตำแหน่งกว้าง จึงมีการขับเคลื่อนว่าอยากให้เป็นตำแหน่งเฉพาะ เหมือนพยาบาล เหมือนหมอ หากไม่ได้จบมาวิชาชีพนี้ไม่สามารถไปทำหน้าที่เหมือนพยาบาลวิชาชีพได้ พยาบาลหรือหมอก็ไม่สามารถประกอบอาชีพนักวิชาการสาธารณสุขได้ พูดถึงแล้วก็ท้อใจ ท้อแล้ว เงินก็น้อย แล้วก็สับสนอีก” เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวทิ้งท้าย
โยกย้าย มติ ครม.
สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุขไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กระทรวงมหาดไทยนั้น
เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับหลักการการกระจายอำนาจ และมีการเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. ใน 49 จังหวัด ไปยัง อบจ. ตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 และ 26 กรกฎาคม 2565
โดยมี สอน. และ รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนจำนวน 3,264 แห่ง บุคลากรรวม 21,829 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการ 11,992 ราย และประเภทการจ้างงานอื่น 9,837 ราย แบ่งเป็น สายงานบริการทางการแพทย์ 13,034 ราย คิดเป็น 59.7% ของบุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนทั้งหมด สายสนับสนุนวิชาชีพและสายสนับสนุนงานบริหาร 8,795 ราย คิดเป็น 40.3% โดย ครม. ยังอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนรวม 5,932 ล้านบาท
ทั้งนี้ รพ.สต. ที่ประสงค์ถ่ายโอนจำนวน 3,264 แห่ง คิดเป็น 47.5% จาก รพ.สต. ทั้งหมด 6,872 แห่งใน 49 จังหวัด และคิดเป็น 33.39% ของ รพ.สต. 9,775 แห่งทั้งประเทศ โดยมี รพ.สต. ที่โอนย้ายบุคลากรและเจ้าหน้าที่ไปทั้งหมดกว่า 75% โอนย้ายบุคลากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง 21% โอนย้ายบุคลากรน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ประมาณ 2.4% และไม่มีบุคลากรสมัครใจโอนย้าย ประมาณ 1.13%
หากบุคลากรมีข้อติดขัดหรือไม่พร้อมที่จะถ่ายโอน กระทรวงสาธารณสุขจะยังให้การดูแลตามเดิม โดยหลังจากถ่ายโอน รพ.สต. ไปแล้ว งบประมาณต่างๆ จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ อบจ. ทั้งหมด
บรรรจุรอบ 2 ผ่านมาครึ่งปี สำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างดำเนินการ
ขณะที่ความคืบหน้าบรรรจุข้าราชการ ตามที่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขได้พิจารณาความก้าวหน้าเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งใหม่นักสาธารณสุขเป็นตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะและเชี่ยวชาญเฉพาะ การรับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และการเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษในการปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด จำนวน 2 รอบ
รอบแรก คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเสนอขออัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิดในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา และขออัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำนวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 โดยวิธีการคัดเลือกบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการ ด้วยกรณีที่มีเหตุพิเศษ ตามเจตนารมณ์ของกระทรวงสาธารณสุข
จากเอกสารข้อมูลบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคโควิดระบาดรอบแรก กลุ่มแรก บุคลากรที่ให้บริการในสถานการณ์โรคระบาดโรคโควิด รวม 31,296 คน และกลุ่มที่ 2 บุคลากรที่สนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์โรคโควิด รวม 6,809 คน รวม 38,105 คน
- แพทย์ 277 คน
- พยาบาลวิชาชีพ 13,552 คน
- พยาบาลเทคนิค 55 คน
- นักรังสีการแพทย์ 152 คน
- เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ 12 คน
- นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 47 คน
- นักเทคนิคการแพทย์ 1,437 คน
- เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ 26 คน
- นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 749 คน
- นักวิชาการสาธารณสุข 10,651 คน
- เจ้าพนักงานสาธารณสุข 2,372 คน
- เภสัชกร 563 คน
- เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1,403 คน
- นักจิตวิทยาคลินิก 77 คน
- นักจิตวิทยา 325 คน
- นักเทคโนโลยีสารสนเทศ 51 คน
- นักวิชาการคอมพิวเตอร์ 2,123 คน
- นักกายภาพบำบัด 1,560 คน
- เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 1,657 คน
- วิศวกร (ชีวการแพทย์)19 คน
- นักวิชาการอาหารและยา 14 คน นักโภชนาการ 688 คน
- โภชนากร 203 คน
ส่วนอีกกลุ่มเป็นการขอตำแหน่งเพิ่มใหม่ เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 รวม 7,229 คน
- แพทย์ 2,157 คน
- พยาบาลวิชาชีพ 3,790 คน
- นักวิชาการสาธารณสุข 647 คน
- ทันตแพทย์ 635 คน
ส่วนการบรรรจุข้าราชการในรอบที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขได้สรุปตัวเลขอัตราตั้งใหม่ 27,529 อัตรา ใช้อัตราว่างเดิมอีก 9,615 อัตรา รวมทั้งหมด 37,144 อัตรา มีทั้งหมด 63 สายงาน ซึ่งได้ส่งเรื่องให้ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอน