IMF เตือนว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ หากระบบการค้าโลกแยกตัวจากกัน เนื่องจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ เหตุเอเชียเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ การแยกตัวทางการค้ายังอาจส่งผลกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและบริษัทที่มีหนี้สูงมากขึ้นด้วย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในรายงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (28 ตุลาคม) ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอาจสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มากกว่า 3% หากการค้าในบางภาคส่วนถูกตัดขาดออกจากกัน เนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรชิปของสหรัฐฯ ต่อจีนเมื่อเร็วๆ นี้ และหากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ต่างๆ เพิ่มขึ้นจนสู่ระดับ ‘ยุคสงครามเย็น’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
โดยการสูญเสีย GDP ที่กว่า 3% ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ นับว่าสูงกว่าการสูญเสียของโลกเป็นรายปีถึง 2 เท่า ตามการคาดการณ์ของ IMF
นอกจากนี้ ภาคส่วนต่างๆ ในเอเชียยังอาจหดตัวลง เนื่องจากการค้าที่ลดลงมีแนวโน้มจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียการจ้างงานโดยเฉลี่ยสูงถึง 7%
Krishna Srinivasan ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของ IMF กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น อาจนำไปสู่การแยกตัวที่ทำให้โลกถูกแบ่งออก โดยเอเชียเสี่ยงที่จะสูญเสียอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานโลก
IMF ระบุอีกว่า สัญญาณของแยกตัวทั่วโลกเกิดขึ้นระหว่างสงครามการค้าของสหรัฐฯ และจีน ตั้งแต่ปี 2018 โดยสัญญาณนั้นยังน่ากังวลมากขึ้น ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียได้เพิ่มความไม่แน่นอนมากขึ้นต่อความสัมพันธ์ทางการค้า
“ความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการค้า ไม่ได้เป็นแค่ข้อจำกัดเท่านั้น แต่ยังอาจขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจะทำให้บริษัทต่างๆ หยุดการจ้างงานและการลงทุน ขณะที่บริษัทใหม่จะเลื่อนการเข้าตลาดออกไป” IMF กล่าว
ตัวอย่างเช่น ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปี 2018 ได้ลดการลงทุนลงประมาณ 3.5% ภายหลัง 2 ปี
โดยการแยกตัวทางการค้าอาจส่งผลกระทบมากขึ้นสำหรับตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและบริษัทที่มีหนี้สูงด้วย
ด้าน IMF กำลังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกข้อจำกัดทางการค้าที่สร้างความเสียหาย และลดความไม่แน่นอนผ่านการสื่อสารวัตถุประสงค์ด้านนโยบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
อ้างอิง: