×

เจ้าหน้าที่อาวุโส UN ลั่น งบประมาณต่อสู้โลกรวนไปไม่ถึงมือประเทศยากจน เรียกร้องจัดการงบให้โปร่งใส

28.10.2022
  • LOADING...
ประเทศยากจน

มาร์ติน กริฟฟิธส์ (Martin Griffiths) รองเลขาธิการฝ่ายกิจการมนุษยธรรม และผู้ประสานงานด้านการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินขององค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า เขาไม่รู้ว่างบประมาณมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ที่มีการให้คำมั่นว่าจะนำไปใช้เพื่อต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกรวนในประเทศยากจนหายไปไหน พร้อมเรียกร้องให้มีการใช้งบประมาณดังกล่าวอย่างโปร่งใสมากขึ้น

 

กริฟฟิธส์ตั้งคำถามว่า เหตุใดงบประมาณหลักแสนล้านดอลลาร์ที่มีไว้สำหรับแก้ปัญหาภาวะโลกรวนจึงส่งไปไม่ถึงประเทศโซมาเลีย ซึ่งขณะนี้ประชาชนหลายคนกำลังต่อสู้กับความอดอยาก

 

“ความจริงของเรื่องนี้ก็คือ เรากำลังดิ้นรนเพื่อพยายามทำความเข้าใจว่า งบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เคยสัญญากันไว้เมื่อสิบปีก่อนนั้นหายไปไหน หายไปอยู่ที่ใด ใครถือเงินอยู่ และใครที่ไม่ยอมจัดสรรเงินไปยังประเทศต่างๆ เช่น โซมาเลีย” กริฟฟิธส์กล่าว

 

“ชาวโซมาเลียเป็นเหยื่อจากพฤติกรรมของเรา เหยื่อของนิสัยของเรา ไม่ใช่พฤติกรรมของพวกเขา และจนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่ได้พยายามมอบเงินให้พวกเขา ทั้งที่เราได้ให้คำมั่นไว้อย่างดิบดีเมื่อนานมาแล้วว่าจะมีการจ่ายเงินเพื่อวัตถุประสงค์นี้”

 

ก่อนหน้านี้ UN เตือนว่า หลายพื้นที่ของโซมาเลียจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากตอนนี้โซมาเลียกำลังเจอกับภัยแล้ง และเหตุความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในประเทศ โดยกริฟฟิธส์กล่าวว่า เขาได้ส่งคำถามไปถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ แล้วว่าเงินทุนด้านการแก้ปัญหาโลกรวนเป็นอย่างไร และจะถูกส่งมอบอย่างไร แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนกลับมา

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 UN ได้จัดการประชุมด้านภาวะโลกรวนขึ้น ซึ่งในตอนนั้นบรรดาประเทศร่ำรวยได้ให้คำมั่นว่า ภายในปี 2020 พวกเขาจะมอบเงินทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับประเทศรายได้ต่ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบ และให้ชาติยากจนมีงบประมาณสำหรับปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากสภาพอากาศ และได้ก่อตั้งกองทุน Green Climate Fund ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการจัดสรรงบประมาณ แต่ท้ายที่สุดกองทุนดังกล่าวก็ไม่ได้มีบทบาทมากเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศร่ำรวยมักใช้ช่องทางการสนับสนุนเงินทุนผ่านธนาคารโลก หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค

 

รายงานจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development) ซึ่งติดตามการสนับสนุนเงินทุนด้านภาวะโลกรวนจากบรรดาผู้บริจาคระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วระดมเงินทุนได้ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 ขณะประเทศที่มีรายได้ต่ำได้รับเงินดังกล่าวเพียง 8% ระหว่างปี 2016-2020

 

ศาสตราจารย์ลี ไวต์ (Lee White) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกรวนของกาบอง กล่าวว่า ระบบดังกล่าวมีข้อบกพร่อง เพราะประเทศผู้บริจาครายงานการบริจาคด้วยตนเอง และยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจนในการติดตามจำนวนเงินบริจาคที่แท้จริง รวมถึงการติดตามว่าเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้ที่ไหน อย่างไร อีกทั้งขั้นตอนในการขอรับเงินก็มาพร้อมกับเกณฑ์ที่ซับซ้อนมาก

 

เควิน วัตกินส์ (Kevin Watkins) อดีตกรรมการบริหารของ Overseas Development Institute กล่าวว่า โซมาเลียเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังมีความขัดแย้งในประเทศ ซึ่งประชาชนถูกบีบให้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมื่อเกิดวิกฤต แทนที่จะสามารถแทรกแซงได้ก่อนหน้าซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ สอดคล้องกับที่กริฟฟิธส์กล่าวว่า เงินทุนด้านโลกรวนอาจสามารถนำไปใช้เพื่อขุดบ่อน้ำ และสนับสนุนความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ก่อนหน้านี้

 

อับดิราห์มัน อับดิชากูร์ วาร์ซามี (Abdirahman Abdishakur Warsame) ทูตของประธานาธิบดีโซมาเลีย ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า “เด็กหลายล้านคนขาดสารอาหาร หลายคนกำลังจะตาย และเราไม่ได้รับเงินจากกองทุนด้านโลกรวนแม้แต่แดงเดียว” 

 

ภาพ: Ed Ram / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X