×

Credit Suisse เร่งหาเงินพันล้านประคองธุรกิจ เดินหน้าปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หนีตายหลังขาดทุนหนัก จ่อปลดพนักงาน 9,000 คนใน 3 ปี

28.10.2022
  • LOADING...

Credit Suisse Group ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ กำลังวางแผนระดมทุนครั้งใหญ่ โดยต้องการเงินทุนราว 4 พันล้านฟรังก์สวิสจากกลุ่มนักลงทุน เพื่อประคับประคองสถานการณ์ทางธุรกิจ หลังผลประกอบการไตรมาส 3 ของ Credit Suisse Group มีผลขาดทุนราว 4 พันล้านฟรังก์สวิส ขณะเดียวกันกลุ่มธนาคารยังมีแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยตั้งใจจะลดจำนวนพนักงานลง 9,000 คนภายใน 3 ปี

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Credit Suisse Group ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ วางแผนที่จะระดมทุนให้ได้ 4 พันล้านฟรังก์สวิสจากบรรดานักลงทุน ควบคู่กับการปรับโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงการตัดลดพนักงานและเปลี่ยนทิศทางของบริษัทจากสถาบันการเงินเพื่อการลงทุน ไปเป็นการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก และความพยายามในการจัดการกับสารพัดข่าวลือสุดอื้อฉาวที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Credit Suisse ป่นปี้ จนฉุดหุ้นในตลาดของบริษัทร่วงระนาว 

ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2022


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เอเซล เลห์มานน์ ประธาน Credit Suisse เรียกแผนกู้วิกฤตองค์กรครั้งนี้ว่า ‘Blueprint for Success’ แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากลงทุนส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/22 Credit Suisse ขาดทุน 4 พันล้านฟรังก์สวิส ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขาดทุนเพียง 413 ล้านฟรังก์สวิส

 

แถลงการณ์ของ Credit Suisse ระบุว่า การขาดทุนครั้งนี้สะท้อนการด้อยค่าของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีมูลค่า 3.7 พันล้านฟรังก์สวิส

 

ทั้งนี้ Credit Suisse เผชิญภาวะสินทรัพย์ไหลออกสุทธิ 1.29 หมื่นล้านฟังก์สวิสในไตรมาส 3/22 ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด และกระแสข่าวเกี่ยวกับความพยายามปรับโครงการธุรกิจของ Credit Suisse หลังเผชิญข่าวอื้อฉาวและความล้มเหลวในการบริหารความเสี่ยง

 

โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1 Capital Ratio) ของ Credit Suisse ลดลงแตะ 12.6% จาก 13.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 13.4%

 

นักวิเคราะห์ยังไม่เชื่อมั่นแผนธุรกิจ

ขณะเดียวกันราคาหุ้นของบริษัทก็ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วงลงมากถึง 16% ก่อนขาดทุนจากผลขาดทุน ซึ่งประเมินมูลค่าของธนาคารไว้ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านฟรังก์สวิส

 

ขณะที่ข้อมูลของ S&P Global Market Intelligence ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการประกันหนี้ของธนาคารจากการผิดนัด ซึ่งวัดโดยสัญญาแลกเปลี่ยนเครดิตนั้น ปรับเพิ่มขึ้นในระหว่างวันเป็น 2.54% จาก 2.32% 

 

นักวิเคราะห์มองว่า แม้ Credit Suisse จะเปิดเผยแผนยกเครื่องธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาธุรกิจวาณิชธนกิจที่ด้อยประสิทธิภาพ และเพื่อชดเชยความเสียหายจากการใช้จ่ายด้านการดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อผลประกอบการ แต่คำถามส่วนใหญ่เกี่ยวกับการดำเนินงานของ Credit Suisse ยังคงไร้คำตอบ 

 

ทีมนักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ระบุว่า แผนการดังกล่าวเหมือนเป็นแผนการเฉพาะหน้าที่เพิ่งคิดได้อย่างกะทันหัน เหมือนแค่ให้มีออกมาก่อน ทำให้แผนการดังกล่าวไม่สมบูรณ์ 

 

แอนเดรียส เวนดิตติ นักวิเคราะห์ของ Vontobel กล่าวว่า การดำเนินการอย่างเฉียบขาดที่จะไม่เกิดความผิดพลาดอีกต่อไปจะต้องใช้เวลาในการพิจารณา และจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ก็ต่อเมื่อผลลัพธ์จะเริ่มแสดงออกมาให้เห็นแล้วเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าลำพังแค่แผนแต่ยังไม่ปฏิบัติ ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนในเวลานี้ได้ 

 

ปลดพนักงาน 9,000 คนภายใน 3 ปี 

การปรับโครงสร้างครั้งนี้ Credit Suisse กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทจะปลดพนักงาน 2,700 คน หรือ 5% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ และจะลดจำนวนพนักงานลงอีกประมาณ 9,000 คน เพื่อเป็น 43,000 คนภายในสิ้นปี 2025

 

สำหรับแผนระดมทุน 4 พันล้านฟรังก์สวิสนี้ Credit Suisse ตั้งเป้าระดมทุนผ่านการขายหุ้นให้กับนักลงทุน ซึ่งรวมถึงซาอุดีเนชันแนลแบงก์ ขณะที่แผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในธุรกิจวาณิชธนกิจนั้น เป็นไปเพื่อลดความเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (Risk-Weighted Assets) ซึ่งใช้เพื่อกำหนดความต้องการเงินทุนของ Credit Suisse อีกทั้งยังตั้งเป้าลดฐานต้นทุนลง 15% หรือ 2.5 พันล้านฟรังก์สวิสภายในปี 2025

 

Credit Suisse ยืนยันว่า พื้นฐานโดยรวมขององค์กรยังคงแข็งแกร่งแต่วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลจากข่าวอื้อฉาวที่บริษัทมีส่วนพัวพันอย่างกองทุนป้องกันความเสี่ยง Archegos เฮดจ์ฟันด์ที่สร้างความปั่นป่วนอย่างมากแก่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ลูกค้าพร้อมใจแห่มาถอนเงิน จนธนาคารประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องกะทันหัน ประกอบกับการที่ Credit Suisse ประสบปัญหารายได้ลดลงจากธุรกิจวาณิชธนกิจที่ซบเซา ตลอดจนผลกระทบจากการถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดั้งเดิม 

 

ธนาคารแห่งชาติซาอุดีอาระเบียประเดิมใส่เงินลงทุน

ขณะเดียวกันสำนักข่าว Reuters รายงานว่า ทางธนาคารแห่งชาติซาอุดีอาระเบียที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะลงทุนใน Credit Suisse สูงถึง 1.5 พันล้านฟรังก์ เพื่อเข้าถือหุ้นสูงถึง 9.9% และอาจลงทุนในธนาคารเพื่อการลงทุนเพิ่มด้วย

 

การเคลื่อนไหวดังกล่าวธนาคารสัญชาติซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ธนาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Olayan Group หนึ่งในกลุ่มบริษัทในเครือที่ใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย ด้วยพอร์ตการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ตกลงเข้ามาถือหุ้น 5% ใน Credit Suisse เช่นกัน

 

ด้านบริษัทตัวแทนที่ปรึกษา Ethos Foundation กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ Credit Suisse ใช้เวลานานมากกว่าจะเดินตามแนวทางที่คู่แข่งอย่าง UBS ใช้เพื่อเพิ่มรายได้ด้วยการมุ่งเน้นที่การจัดการความมั่งคั่ง ในขณะที่ตัดทอนกิจกรรมในด้านวาณิชธนกิจด้วย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising