ภายในปี 2030 KBTG จะสร้าง Tech Talent จำนวน 100,000 คน เข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อยกระดับ Tech Education Ecosystem ของประเทศไทย ฟังดูเหมือนเป็นการประกาศเป้าหมายองค์กร แต่ กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บอกว่า “สำหรับ KBTG นั่นคือวิสัยทัศน์หรืออนาคตที่ยังไม่เกิด และมันจะเกิดขึ้นได้หากเราจับมือกับคนที่มองเห็นสิ่งเดียวกัน”
หากยังจำกันได้ช่วงปีที่ผ่าน KBTG ปั้น ‘Tech Kampus’ โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและบุคลากรด้านไอทีในการเรียนรู้ และส่งเสริมงานวิจัยด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมทั้งสร้าง Tech Talent ด้านไอทีสู่ตลาดแรงงาน โดยจับมือกับองค์กรภาครัฐ มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย
กระทิงบอกว่า แม้การแข่งขันด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยจะเติบโตเร็ว แต่การผลิตบุคลากรด้านไอทีกลับรั้งท้ายอยู่อันดับที่ 7 ในเอเชีย และอันดับที่ 4 ในอาเซียน ทางเดียวที่จะเร่งสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้นั้น ต้องสร้าง Tech Education Ecosystem ให้แข็งแกร่ง โดย KBTG โฟกัสใน 4 แก่นหลัก คือ Company, Start-up, Research และ Education
“แต่การพัฒนากำลังคนไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ร่วมกันออกแบบหลักสูตรการศึกษา และร่วมพัฒนางานวิจัย จึงจะสามารถ Reskill-Upskill คนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีได้” กระทิงกล่าว
ที่ผ่านมา KBTG Labs ทำงานร่วมกับ 9 สถาบัน และนักวิจัยกว่า 50 คน มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากถึง 9 งานวิจัย ทั้งด้าน AI, NLP, Quantum Computing และ Blockchain อีกทั้งนำเทคโนโลยีมาพัฒนาออกเป็นโปรดักต์ที่ใช้งานได้จริง อย่าง Face Liveness Technology ได้รับการรับรองมาตรฐาน iBeta Level 2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำไปใช้ใน KBank หรือ Thai NLP นำมาใช้งานจริงกับ Chatbot ของเพจเฟซบุ๊ก KBank Live ช่วยลดระยะเวลาในการคอยของลูกค้าได้มากกว่า 300,000 ชั่วโมงต่อปี
ฝั่ง KBTG Tech Education เปิดหลักสูตร Online Course มากกว่า 17,000 คอร์ส เพื่อ Reskill ให้บุคลากรในองค์กร และบุคคลภายนอกที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น KBTG Reskill, DevXMeet Up, KBTG Inspire และ KBTG Life
“ยกตัวอย่าง KBTG Reskill ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เปิดหลักสูตรออนไลน์กว่า 20 คอร์ส มีผู้เข้าเรียนกว่า 14,000 คน นี่คือสิ่งที่ KBTG ทำเพื่อสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่ง นอกจากนั้นเรายังส่งพนักงานไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 11 มหาวิทยาลัย”
แต่ KBTG มองว่าทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอต่อการผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน เพราะหากดูตัวเลขแรงงาน 1.1 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานด้านเทค จะถูกทรานส์ฟอร์มด้วยเทคโนโลยี และในจำนวนนี้ล้วนต้องการการ Reskill อย่างเร่งด่วน ในขณะที่ความเป็นจริง การลงทุนด้านการศึกษาต่อคน ต่อปีเพียง 140 ดอลลาร์เท่านั้น
ขณะเดียวกันทุกอุตสาหกรรมและทุกบริษัทต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองมาเป็น Tech Company ส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานสายเทคมหาศาล ด้วยเหตุนี้เอง KBTG จึงต้องยกระดับ Tech Kampus สู่ KBTG Kampus เพื่อเสริมสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ ทั้งนิสิต นักศึกษา และคนสายไอทีที่อยาก Upskill ให้พร้อมก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน และบุกเบิกเส้นทางสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ธุรกิจดิจิทัลในอนาคต นอกจากนั้น KBTG Kampus จะเป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ไปพร้อมๆ กับเสริมสร้าง Ecosystem ของการเรียนทางด้านเทคโนโลยีให้ครบวงจรยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้จะถูกยกระดับผ่านกระบวนการเรียนรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีเชิงลึกใน 3 โปรแกรม โดยมีพาร์ตเนอร์แรกในโครงการอย่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร
สำรวจโปรแกรมที่น่าสนใจใน KBTG Kampus
-
KBTG Kampus ClassNest
หรือหลักสูตร Bootcamp เพื่อปั้นบุคลากรเทครุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเรียนฟรี โดยปีที่ผ่านมา KBTG Kampus ClassNest ได้จัด Bootcamp มาแล้ว 2 หลักสูตร ได้แก่ Java Software Engineering ที่ทำร่วมกับ Skooldio และ Cyber Security ที่ทำร่วมกับ Thrive Venture Builder โดยทั้งสองหลักสูตรมีผู้สมัครรวมกว่า 1,000 คน
ตอนนี้ KBTG เตรียมสเกลอัพหลักสูตรเพื่อสร้าง Tech Skill สำหรับโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Data Engineering, Data Science, Digital Project Management, UX/UI, Blockchain และ Full-Stack Development เดินหน้าสู่เป้าหมายเพิ่ม Tech Talent ให้ได้มากกว่า 3,000 คนต่อปี
นำร่องเปิดตัว Bootcamp ให้กับนักพัฒนามือใหม่ที่อยากมีความเชี่ยวชาญด้านภาษา Go ในหลักสูตร ‘Go Software Engineering Bootcamp’ โดยร่วมกับ KMITL และ Thrive Venture Builder หลังจบหลักสูตร 2 เดือนเต็ม ผู้เรียนสามารถเก็บ Nano Credit สมัครเรียนปริญญาโท หรือผู้ที่กำลังเรียนปริญญาตรีอยู่กับ KMITL ก็สามารถนำหน่วยกิตจาก Bootcamp ไปนับเป็นหน่วยกิตรวมได้เช่นกัน
โดย KBTG จะสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ทั้งยังสามารถยื่นคะแนน Post-Test ตรงเข้าสัมภาษณ์รอบสุดท้ายกับ KBTG ได้เลย หากได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานและผ่านการทดลองงาน ก็จะได้รับเงินค่าเล่าเรียนคืนเต็มจำนวน
-
KBTG Kampus Apprentice
หากจะเปรียบโปรแกรมนี้เป็นเหมือน Future of Internship ก็ไม่ผิดนัก เพราะเป็นโปรแกรมที่ KBTG จะเข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตร โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 3-4 ได้เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงาน และพัฒนาทักษะผ่านการปฏิบัติงานจริงที่ KBTG พร้อมรับเงินเดือนจริง
จุดเด่นของโปรแกรมนี้คือ ผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิตการศึกษาจากการทำงานเพื่อนำผลงานไปใช้เป็นโปรเจกต์จบ และเข้าทำงานกับ KBTG ได้ทันทีหลังจบการศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทดลองงานอีก เป็นโครงการ 3+1 ที่สามารถเพิ่ม Productivity ให้กับระบบการศึกษาได้กว่า 25% ทำให้ค้นพบตัวเองและเข้าสู่ชีวิตการทำงานเร็วขึ้น
ปัจจุบัน KBTG จับมือกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำร่องโปรแกรม Apprentice กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ใน 2 สาขา ได้แก่ Data Science และ Software Engineering และจะขยายผลไปยังคณะและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคต ทดแทนการเรียนในห้องเรียนด้วยการสัมผัสโลกทำงานจริงเป็นเวลารวม 2,000 ชั่วโมง
-
KBTG Kampus Co-Research
โปรแกรมที่ต่อยอดความร่วมมือจากโครงการ Tech Kampus สู่การทำงานวิจัยร่วมกันระหว่าง KBTG พันธมิตร และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยี เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจ S-Curve ใหม่ๆ พร้อมยกระดับขีดความสามารถ และขับเคลื่อนการทำวิจัยทางด้าน Deep Tech จากรั้วมหาวิทยาลัยออกมาสู่โลกภายนอก ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้งานจริงในระดับภูมิภาค
ความสำเร็จที่ผ่านมา เช่น งานวิจัย Thai NLP การพัฒนา Voice Recognition Algorithm วิจัยโปรเจกต์งาน Contactless งานวิจัยด้าน Eyeball Tracking ที่จะเป็นประโยชน์ต่อ UX/UI Designer และล่าสุด KBTG ได้มีการจับมือกับ MIT Media Lab ในการทำ Co-Research ด้าน Deep Tech ร่วมกัน โดยมี พัทน์ ภัทรนุธาพร ซึ่งเป็น KBTG Fellow คนแรกของไทยไปทำงานวิจัยที่สหรัฐอเมริกา
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) กล่าวถึงความร่วมมือกับ KBTG ในครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สจร. ที่เป็นสถาบันการศึกษาในรูปแบบ The World Master of Innovation ภายในปี 2040
ดร.คมสันเล่าว่าในแต่ละปี สจร. ตั้งเป้าผลิตนวัตกรรมโดยนักศึกษาปี 4 ประมาณ 1,000 โปรเจกต์ โดยมีโจทย์ว่าต้องไปทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์ KMITL Lifelong Learning Center: KLLC ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย พัฒนาหลักสูตรจัดคอร์สการเรียนรู้ที่หลากหลาย ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักหอสมุดกลาง, KIDs University, KMITL BTEC Center โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS), สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMITL), สำนักวิชาศึกษาทั่วไป (GenEd), 42 Bangkok และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)
ปัจจุบัน KLLC มี 97 คอร์สออนไลน์ที่ร่วมมือกับ 12 คณะในสถาบันการศึกษา มีผู้ลงทะเบียนเรียนแล้วกว่า 1.4 ล้านคน และมีสมาชิกกว่า 22,000 คน
“ทิศทางการขับเคลื่อนของ KLLC นั้น เรามี Skill Mapping ที่จะดูว่ามีทักษะไหนในอนาคตที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ เพื่อมาออกแบบวิชาเรียนเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน”
ปัจจุบัน KMITL สร้างรูปแบบการเรียนในยุคอนาคตให้เกิดขึ้นจริง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถพักการเรียนเพื่อออกไปทำธุรกิจ โดยเก็บเป็น Credit Bank พร้อมทั้งวางตัวเองให้เป็น In-house Training แพลตฟอร์มที่จะให้นักศึกษามาทำงานกันเป็นทีมเวิร์ก และพัฒนาทักษะและสร้างนวัตกรรมไปพร้อมกัน
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า KBTG เป็นองค์กรที่ผลักดันคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง และยังทำให้เห็นว่าหากสถาบันการศึกษามีการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม จะเกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างไร และจะยกระดับ Tech Education Ecosystem ได้อย่างไร” ดร.คมสันกล่าวทิ้งท้าย
นอกเหนือจาก KMITL ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษานำร่องในโครงการ กระทิงกล่าวในตอนท้ายว่า “KBTG ตั้งใจต่อยอดโครงการไปสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยมี 3 โปรแกรมภายใต้โครงการ KBTG Kampus เป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้เรียนในวงกว้าง ทั้งในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง รวมถึงแพลตฟอร์ม EdTech และกลุ่มคนที่มีความต้องการแรงกล้าในการยกระดับวงการเทคไทย หรือร่วมพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม เพื่อยกระดับ Tech Education Ecosystem ไปด้วยกัน”