ค่าเงินเยนพลิกกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 144 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ (22 ตุลาคม) หลังรัฐบาล ญี่ปุ่น ตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งที่ 2 เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยนที่พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 32 ปี นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 1990
อย่างไรก็ดี มาซาโตะ คันดะ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับสื่อมวลชนว่ารัฐบาลได้เข้าแทรกแซงค่าเงินหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota เผยแล้ว เหตุผลที่ไม่กระโจน ‘สู่สายพาน EV’ พร้อมย้ำ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่ใช่กระแสหลัก
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจใช้เงินราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี หลังจากเงินอ่อนค่าแตะระดับ 145.90 เยนต่อดอลลาร์ โดยหลังการเข้าแทรกแซง เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นทันทีสู่ระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มอ่อนค่าลงอีกครั้งจนล่าสุดได้อ่อนค่าทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เงินเยนเคยทำสถิติอ่อนค่าถึงระดับ 159.8 เยนต่อดอลลาร์ในเดือนเมษายนปี 1990 ขณะที่การอ่อนค่าจนถึงระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมปี 1986 หรือราว 36 ปีมาแล้ว
หากนับจากต้นปีเงินเยนอ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 30% โดยปัจจัยหลักเกิดจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ถ่างกว้างมากขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังยืนกรานที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
เมื่อเร็วๆ นี้ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อที่แรงตัวขึ้นของญี่ปุ่นเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทานและเป็นเพียงภาวะชั่วคราว โดยเขายังยืนยันว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินยังมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ขณะนี้ตลาดอยู่ระหว่างจับตาว่า BOJ จะมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนหรือไม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้
อ้างอิง: