วันนี้ (19 ตุลาคม) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ภัคภิญญา (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์ที่เข้าข่ายความผิด จำนวน 6 โพสต์
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังรายงานด้วยว่า ในคดีนี้จำเลยต่อสู้ว่า โพสต์เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหาแคปหน้าจอและพิมพ์ออกมาก่อนนำมาแจ้งความร้องทุกข์นั้นขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากผ่านการตัดต่อ แก้ไข และเปลี่ยนแปลงข้อมูลมาแล้ว รวมถึงชี้ให้เห็นว่า มีการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยสถิติการดำเนินคดีสัมพันธ์ไปกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ
และในวันนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 (3) ลงโทษกระทงละ 3 ปี รวมจำนวน 3 กระทง รวมลงโทษจำคุก 9 ปี โดยไม่รอลงอาญา และเห็นว่าอีก 3 กระทงไม่เข้าข่ายความผิด
เนื้อหาของคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า จากหลักฐานพยานฝั่งโจทก์ปรากฏว่า ภาพเฟซบุ๊กและทะเบียนราษฎรตรงกับของจำเลย รวมถึงปรากฏร่องรอยดิจิทัลเกี่ยวกับตัวจำเลยจำนวนมากบนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยจำเลยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยไม่ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้มีการแจ้งความว่ามีบุคคลอื่นแอบอ้างใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวหรือไม่
ที่สำคัญคือการที่จำเลยนำสืบว่าข้อความตามฟ้องทั้ง 6 ข้อความเป็นการตัดต่อ โดยการนำภาพข้อความตามฟ้องใส่โปรแกรม Microsoft Word ซึ่งเป็นการจัดทำพยานหลักฐานทั่วไป จำเลยไม่ได้นำสืบว่ามีความผิดปกติเพิ่มเติมอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและเป็นผู้นำเข้าข้อความตามฟ้องจริง
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ภัคภิญญาถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องขังของศาล ขณะเดียวกันทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเพิ่มเติมอีก 50,000 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ระหว่างการสั่งฟ้องคดีจำนวน 150,000 บาท รวมเป็นใช้หลักทรัพย์ประกันในชั้นนี้ 200,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ขณะที่ iLaw รายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน จากเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) กล่าวโทษให้ดำเนินคดีที่สถานตำรวจภูธร (สภ.) สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยกล่าวหาว่าภัคภิญญาแชร์โพสต์จากเพจเกี่ยวกับการเมืองต่างๆ บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเบื้องต้นพสิษฐ์กล่าวหาภัคภิญญาจากการแชร์ 4 โพสต์ ด้วยข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทำให้ภัคภิญญาต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา ต่อมาเมื่ออัยการส่งฟ้องที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งอัยการสั่งฟ้องจากการแชร์โพสต์ 6 ข้อความ โดยภัคภิญญาต้องไปต่อสู้คดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยเงินทุนของตนเอง
ทั้งนี้ คดีนี้เป็นหนึ่งในคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างน้อย 8 คดีที่พสิษฐ์เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยผู้ถูกกล่าวหาที่พสิษฐ์แจ้งความไม่มีใครอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้
อ้างอิง: