ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันนี้ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ไอเดียเพื่อทำ CSR เท่านั้น ปัจจุบันองค์กรทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งบางองค์กรถึงขั้นยกให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า
หนึ่งในเรื่องที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนในมุมของนักลงทุนคือ การลงทุนอย่างยั่งยืนเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน ทั้งในมุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น
รายงานจาก Dechart คาดการณ์ว่า การออกพันธบัตร ESG ทั่วโลกจะมีมูลค่าเกินกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2565 และรายงานว่าการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นกู้ที่มีแนวคิด ESG ได้รับการตอบรับที่ดีเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ปกติ
ซูซาน บารอน หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนด้านความยั่งยืนตลาดทุนโลกที่ บริษัท บาร์เคลย์ส (Barclays Plc) กล่าวว่า ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด ESG ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั่วไป สะท้อนจากยอดจองซื้อที่มากกว่ามูลค่าเสนอขาย
ขณะที่รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) แสดงให้เห็นว่า ตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในอาเซียนและเอเชียตะวันออกมีมูลค่าสูงถึง 4.787 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งถือเป็นการขยายตัว 51.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีสัดส่วนคิดเป็นมูลค่าถึง 18.1% ของตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนทั่วโลก ซึ่งเท่ากับมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากยุโรปเท่านั้น
โดยประเทศจีนมีตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนใหญ่ที่สุดในภูมิภาค สะท้อนจากมูลค่าเฉพาะ Green Bond ของจีนที่คิดเป็น 66% ของภูมิภาค และ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ขนาดของตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนโดยรวมของจีน มีมูลค่าคงค้างสูงถึง 2.39 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ แม้สัดส่วนของอาเซียนอาจน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับจีน แต่ ADB ตั้งข้อสังเกตว่า ภูมิภาคนี้ยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางแนวโน้มทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่ Low Carbon
อย่างตอนนี้หลายๆ องค์กรของไทยก็ได้เดินหน้าออกหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดนั้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กรุ๊ปฯ เตรียมเสนอขาย ‘หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน’ (Sustainability-Linked Bonds: SLB)
สิ่งที่น่าสนใจคือ นับเป็นครั้งแรกของไทยที่จะมีการเสนอขายหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนให้กับประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) โดยหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ ‘A’ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนดังกล่าว เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป จำนวน 4 รุ่น ประกอบด้วย
- หุ้นกู้ชุดที่ 1 รุ่นอายุ 1 ปี 11 เดือน 30 วัน ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2567 (29 พฤศจิกายน 2567)
- หุ้นกู้ชุดที่ 2 รุ่นอายุ 4 ปี 5 เดือน 29 วัน ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2570 (29 พฤษภาคม 2570)
- หุ้นกู้ชุดที่ 3 รุ่นอายุ 7 ปี 5 เดือน 29 วัน ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2573 (29 พฤษภาคม 2573)
- หุ้นกู้ชุดที่ 4 รุ่นอายุ 9 ปี 11 เดือน 30 วัน ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2575 (29 พฤศจิกายน 2575)
โดยอัตราดอกเบี้ยจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง
ทั้งนี้ จะมีการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ (เว้นแต่งวดดอกเบี้ยงวดแรกจะเท่ากับ 5 เดือน 29 วัน) ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท คาดว่าจะเสนอขายวันที่ 25 และ 28-29 พฤศจิกายน 2565
สถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย 5 ราย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
บีทีเอส กรุ๊ปฯ เผยว่า ‘หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน’ (Sustainability-Linked Bonds: SLB) ในครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ระยะยาวด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Strategy) ของบีทีเอส กรุ๊ปฯ นั่นคือ การคงสถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างน้อย 10% ของการดำเนินงาน
ที่ผ่านมา บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้รับการยอมรับในด้านการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เช่น ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (DJSI) เป็นระยะเวลา 4 ปี ติดต่อกัน (2561-2564) ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนี FTSE4Good Index Series ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของโลก 2 ปีซ้อน จาก DJSI (DJSI Industry Leaders) ในกลุ่มอุตสาหกรรมคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
และล่าสุดยังเป็นบริษัทในกลุ่มขนส่งทางรางแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่ได้รับการรับรองว่าเป็นบริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์หรือ Carbon Neutral Transportation Company (โดยได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย)
หลายคนอาจสับสนว่า แล้วหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนแตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปอย่างไร? คำตอบคือ ในด้านวัตถุประสงค์ของการระดมทุนนั้นไม่ได้แตกต่างกัน เพราะสามารถนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจได้ หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ ของบริษัทได้
แต่หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนจะมีเงื่อนไขที่ต้องกำหนด ‘ตัวชี้วัด’ และ ‘เป้าหมาย’ ด้านความยั่งยืนไว้ด้วย ซึ่งหากไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้ ผู้ออกหุ้นกู้นั้นก็จะต้องมีภาระผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามเพิ่มเติม หรือมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น นั่นแปลได้ว่า นอกจากผู้ลงทุนจะได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนแล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือการมีส่วนร่วมในด้านความยั่งยืนด้วย
บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้กำหนดตัวชี้วัด (KPI) และเป้าหมาย (SPT) ใน 2 เรื่อง ได้แก่
ตัวชี้วัด และเป้าหมาย 1 (KPI 1 & SPT 1): ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้าในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ซึ่งเป็นสายหลักของบริษัทในปัจจุบัน) โดยบริษัทมีเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้าให้ได้ 8% จากการดำเนินงานปกติ ภายใน 9 ปี หรือภายในปี 2574
ตัวชี้วัด และเป้าหมาย 2 (KPI 2 & SPT 2): ตัวชี้วัดด้านปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทมีเป้าหมายในการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10% ในแต่ละปีของการใช้ไฟฟ้าสำหรับการดำเนินงานของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ซึ่งหากบีทีเอส กรุ๊ปฯ ไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้ในวันประเมินผล ก็มีภาระผูกพันหรือค่าใช้จ่ายในด้านของการส่งเสริมความยั่งยืนเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. เทียบเท่าอัตรา 0.10% ต่อปี ของมูลค่าการเสนอขายของหุ้นกู้ชุดนั้นๆ หากไม่สามารถบรรลุทั้ง 2 เป้าหมายได้ หรือ 2. เทียบเท่าอัตรา 0.05% ต่อปี ของมูลค่าการเสนอขายของหุ้นกู้ชุดนั้นๆ หากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งได้
ยกตัวอย่างเช่น หากมูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้ชุดนั้นอยู่ที่ 1 ล้านบาท และบริษัทไม่สามารถทำตามเป้าหมาย ทั้ง 2 KPI บริษัทต้องใบซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท แต่หากทำไม่ได้ตามเป้าเพียง 1 KPI ก็จะมีภาระซื้อใบรับรองลดลงครึ่งหนึ่งคือ 500 บาท
จะเห็นได้ว่าการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนของบีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการนำหลักการด้านธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะมีความท้าทาย แต่บีทีเอส กรุ๊ปฯ ตระหนักดีถึงความสำคัญในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปข้างหน้า พร้อมกันกับการส่งมอบคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมและนักลงทุน
นอกจากนี้ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ยังให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608
ในแง่ของการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนยังต้องพิจารณาภาพรวมของตราสารตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเงินของผู้ออก อุตสาหกรรม แนวโน้มเศรษฐกิจ แต่หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แม้จะเป็นการลงทุนที่ยังใหม่ แต่ก็เป็นการลงทุนที่นำเสนอโอกาสให้ทุกคนมีส่วนต่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ร่วมกัน
ในด้านของผลตอบแทนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนนี้ ก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับหุ้นกู้อายุเท่าๆ กัน และอันดับความน่าเชื่อถือเท่าๆ กัน ที่ออกเสนอขายในช่วงเดียวกัน
บีทีเอส กรุ๊ปฯ มีรุ่นอายุหุ้นกู้ให้ผู้ลงทุนได้เลือกตามความเหมาะสม และความต้องการของแต่ละคนถึง 4 รุ่นอายุ ตั้งแต่อายุประมาณ 2 ปี ไปจนถึงอายุประมาณ 10 ปี
ในภาวะปัจจุบัน ซึ่งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ตลาดการเงินมีความผันผวนในระดับสูง รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงหลายประการที่ไม่อาจคาดเดาได้ การลงทุนในหุ้นกู้ที่ได้เรตติ้งระดับ A อย่างของบีทีเอส กรุ๊ปฯ ซึ่งให้ดอกเบี้ยที่สม่ำเสมอ ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างมากทีเดียว เพราะนอกจากจะได้ดอกเบี้ยคงที่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ลงทุนยังได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมด้านความยั่งยืน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนไปพร้อมๆ กันด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุน ‘หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน’ ของ บีทีเอส กรุ๊ปฯ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th หรือติดต่อผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ดังต่อไปนี้
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยกเว้นสาขาไมโคร โทร. 1333 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Bualuang mBanking (www.bangkokbank.com/th-TH/Personal/Digital-Banking/Bualuang-mBanking/)
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2111 1111 หรือจองซื้อทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai Next หรือผ่าน Money Connect by Krungthai (moneyconnect.krungthai.com/)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (โดยบุคคลธรรมดาจองซื้อทางออนไลน์ผ่าน www.kasikornbank.com/kmyinvest ยกเว้นบุคคลสัญชาติต่างด้าว สามารถจองซื้อผ่านสำนักงานใหญ่และสาขา) โทร. 0 2888 8888 กด 819 ซึ่งรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 0 2796 0000 หรือ 0 2796 0011
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2777 6784 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy
- ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2626 7777 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking
อ้างอิง: