*หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ She-Hulk: Attorney at Law*
ในระหว่างที่เรากำลังรับชม She-Hulk: Attorney at Law ออริจินัลซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Marvel Studios สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นอยู่บ่อยครั้งคือ การที่ตัวละครหลักอย่าง Jennifer Walters (Tatiana Maslany) หันมากล่าวกับผู้ชมเสมอว่า “นี่คือซีรีส์กฎหมาย” ซึ่งช่วงแรกเราก็ไม่ได้โฟกัสกับประโยคดังกล่าวเท่าไรนัก จนกระทั่งเรื่องราวของทนายสาวคนนี้เดินทางมาถึงตอนจบ เราถึงเริ่มเข้าใจว่าประโยคที่ Jen เน้นย้ำกับเรามาตั้งแต่แรกคือการบอกกับเราว่า “นี่จะไม่ใช่ซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่จาก MCU ในแบบที่เราคุ้นเคย”
หนึ่งในองค์ประกอบที่แตกต่างอย่างเด่นชัดคือ ‘ฉากแอ็กชัน’ ที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของภาพยนตร์หรือซีรีส์ฮีโร่หลายๆ เรื่อง แต่ผู้กำกับและทีมสร้างกลับเลือกที่จะลดทอนความสำคัญของฉากแอ็กชันในซีรีส์เรื่องนี้ลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ฉากต่อยตีระหว่าง Jen และ Bruce Banner (Mark Ruffalo) ในตอนแรกที่จะเน้นความตลกขบขันเสียมากกว่า หรือจะเป็นในช่วงท้ายของตอนที่ 9 กับสถานการณ์ชุลมุนวุ่นวายที่สามารถขยับขยายให้เป็นฉากแอ็กชันไคลแม็กซ์ของเรื่องได้เลย แต่ผู้กำกับและทีมสร้างก็เลือกให้ Jen ทำการ Break the Fourth Wall และเดินทางไปหาทีมสร้าง เพื่อเปลี่ยนตอนจบของตัวเองเสียใหม่
การตัดสินใจลดทอนฉากแอ็กชันลงจึงทำให้ตัวซีรีส์มีเวลาและพื้นที่ในการนำเสนอประเด็นที่ทีมสร้างอยากเล่าและทดลองมากยิ่งขึ้น นั่นคือการว่าความในชั้นศาลของ Jen ที่แม้ว่าคดีต่างๆ ที่ Jen ต้องทำจะไม่ได้มีความเข้มข้นหรือซับซ้อนมากนัก แต่ด้วยความที่ประเด็นดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านโลกที่เต็มไปด้วยผู้มีพลังเหนือมนุษย์ ก็ช่วยเสริมให้การต่อสู้ในชั้นศาลของ Jen น่าติดตามมากขึ้น
รวมถึงความคอเมดี้ของเรื่องที่ถูกขัดเกลามาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการคาดเดา ‘ความคาดหวัง’ ของผู้ชม เพื่อนำมาใช้เป็นมุกล้อเลียนต่างๆ เช่น การปรากฏตัวของ Wong (Benedict Wong) ที่เรามักจะได้เห็นการปรากฏตัวของเขาในภาพยนตร์ MCU หลายๆ เรื่อง จนกลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ผู้ชมชื่นชอบ ซึ่งทีมสร้างก็ไม่พลาดที่จะเขียนบทให้ Jen แซวผู้ชมที่อยากเห็น Wong ปรากฏตัวในซีรีส์ ซึ่งฉากดังกล่าวก็สร้างเสียงหัวเราะให้เราได้ดีพอสมควร แถมยังทำให้เราเฝ้าติดตามว่า Wong จะมีบทบาทสำคัญใน MCU ต่อไปอย่างไรอีกด้วย
ขณะเดียวกันใจความสำคัญจริงๆ ของซีรีส์เรื่องนี้เห็นจะเป็นเรื่องราวของ Jen กับการได้รับพลังของ Hulk มาอย่างไม่ตั้งใจ จนทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับปัญหาชีวิตมากมายที่เธอไม่คิดว่าจะต้องเจอ
ไล่เรียงตั้งแต่การต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้เหมาะกับร่าง She-Hulk อันแข็งแกร่ง การถูกผู้คนรอบข้าง ‘คาดหวัง’ ให้เธอเป็นฮีโร่ในแบบที่พวกเขาอยากให้เป็น ทั้งๆ ที่เธออยากจะเป็นแค่ทนายความธรรมดาๆ คนหนึ่ง ขณะเดียวกันเธอก็ยังถูกสังคม ‘ตัดสิน’ และ ‘ว่ากล่าว’ ว่าเธอไม่เหมาะสมกับการเป็นฮีโร่ เพียงเพราะเธอเป็น ‘ผู้หญิง’ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นรู้จักเธอเพียงด้านเดียวเท่านั้น
ไปจนถึง ‘ชีวิตสองด้าน’ ที่ผู้คนต่างสนใจและจับจ้องเธอในร่าง She-Hulk มากกว่า แต่กลับมองข้ามตัวตนและคุณค่าของ Jen ไปเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ She-Hulk และ Jen คือคนเดียวกัน และอีกหลายเหตุการณ์ที่เธอต้องเผชิญเมื่อชีวิตของตนเองถูกสังคมจับจ้องทุกฝีก้าว
หนึ่งในฉากที่อธิบายประเด็นดังกล่าวได้ชัดเจนที่สุดคือ เหตุการณ์ที่ผู้คนในสังคมได้รับรู้ว่า Jen สามารถกลายร่างเป็น She-Hulk ได้ (ซึ่งเธอไม่ได้ตั้งชื่อนี้เองด้วยซ้ำ) เธอก็ถูกบริษัทที่เธอทำงานอยู่ไล่ออก เพียงเพราะเธอกลายร่างเป็น She-Hulk แล้วต่อย Titania (Jameela Jamil) ที่จู่ๆ ก็บุกเข้ามาในศาล ก่อนที่เธอจะได้มาพบกับ Holliway (Steve Coulter) เพื่อชักชวนให้มาทำงานกับบริษัท GLK&H ในแผนกกฎหมายยอดมนุษย์ โดยมีข้อแม้ว่าในเวลาทำงานเธอจะต้องกลายร่างเป็น She-Hulk เสมอ เพื่อให้เป็นหน้าตาของแผนก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็ชวนให้เราตั้งคำถามว่า หาก Jen ไม่ได้มีร่าง She-Hulk แล้ว Holliway จะยังสนใจและชวน Jen มาร่วมงานด้วยหรือไม่
ขณะเดียวกันเมื่อเรื่องที่เธอเป็นทนายให้กับ Emil Blonsky (Tim Roth) กลายเป็นข่าวใหญ่ ผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ตต่างก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ในทันทีว่าเธอไม่เหมาะกับการเป็นฮีโร่ (ทั้งๆ ที่เธอก็ไม่ได้อยากจะเป็นตั้งแต่แรก) อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ชายบนเว็บไซต์ Intelligencia ที่โพสต์ข้อความดูถูกเหยียดหยาม Jen เพราะคิดว่าเธอไม่เหมาะกับการเป็น She-Hulk แถมยังเอาเธอไปเปรียบเทียบกับ Hulk ที่เป็นญาติของตัวเองอีกต่างหาก
She-Hulk: Attorney at Law จึงไม่ได้เป็นเพียงซีรีส์ที่มาแนะนำให้เรารู้จักกับฮีโร่คนใหม่จากจักรวาล MCU อย่าง Jen หรือ She-Hulk เท่านั้น แต่เรื่องราวของ Jen ยังทำหน้าที่สะท้อนภาพให้เราเห็นถึงสิ่งที่ ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ ต้องเผชิญ กับการถูกสังคมตัดสินคุณค่าของตัวเองจากเพียงเปลือกนอก (ร่าง She-Hulk) มากกว่าความสามารถที่เธอมี (การเป็นทนายความ) พร้อมทั้งยังถูกสังคมกำหนดให้เป็นในสิ่งที่สังคมคิดว่า ‘เธอควรจะเป็น’
ซึ่งการตัดสินใจในตอนสุดท้ายของ Jen ที่ต้องการจะจัดการกับ Todd (Jon Bass) ผ่านการดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดยืนในการเป็นนักกฎหมายของเธอ ที่เลือกจะใช้ความสามารถของตนเองในการเอาผิด Todd มากกว่าการกลายร่างเป็น She-Hulk และใช้พลังล้นเหลือในการสั่งสอนเขา
อีกทั้งบทสนทนาสุดท้ายที่เธอกล่าวกับนักข่าวก็แสดงให้เห็นว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธตัวตนของ She-Hulk เพราะ She-Hulk คือส่วนหนึ่งของเธอเช่นกัน และเธอจะใช้ความสามารถทั้งหมดของตัวเอง (การเป็นทนายและพลังเหนือมนุษย์) ในการช่วยเหลือผู้คนในแบบฉบับของตัวเอง
Jen: คนแบบ Todd ต้องได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง สิ่งที่ต้องการจะบอกคือ ถ้าใครโจมตี ทำร้าย หรือล่วงละเมิดผู้บริสุทธิ์ เจอกับฉันแน่
นักข่าว: ในฐานะทนายหรือซูเปอร์ฮีโร่
Jen: ทั้งคู่
สามารถรับชมซีรีส์ She-Hulk: Attorney at Law ครบทั้ง 9 ตอนได้แล้วทาง Disney+ Hotstar
รับชมตัวอย่างได้ที่