×

นักวิชาการแนะเฟ้นหาผู้ลงทุนที่ให้คำแนะนำสตาร์ทอัพได้ด้วย หลังรัฐบาลยกเว้น ‘Capital Gains Tax’ ในสตาร์ทอัพ 12 อุตสาหกรรม

18.10.2022
  • LOADING...

นักวิชาการแนะให้สตาร์ทอัพเฟ้นหาผู้ลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และสามารถให้คำแนะนำได้เข้าลงทุนหรือถือหุ้น เพื่อต่อยอดการเติบโตแก่องค์กร หลังจากที่ล่าสุด ครม. มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายหุ้นหรือการลงทุน ให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย เป็นเวลา 10 ปี ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายหุ้นหรือการลงทุน ให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย เป็นเวลา 10 ปี ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ คาดกระตุ้นเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 320,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 400,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2569


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


นักวิชาการมองว่า มาตรการยกเว้นภาษีดังกล่าวสามารถช่วยสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในสตาร์ทอัพได้ แลเป็นประโยชน์กับสตาร์ทอัพมากกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีรูปแบบอื่นๆ แต่แนะว่า อีกหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ ‘การคัดเลือกนักลงทุน’ ที่สามารถให้คำแนะนำ หรือมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สตาร์ทอัพเติบโตมากกว่านักลงทุนที่หว่านแหลงทุนทั่วไป

 

ยกเลิก Capital Gains Tax มาถูกทางแล้ว

ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   กล่าวว่า มีการศึกษาที่ระบุว่า การยกเลิกภาษี Capital Gains Tax สามารถช่วยสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในสตาร์ทอัพได้ และเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มุ่งไปยังผลลัพธ์ หรือเป็นประโยชน์กับสตาร์ทอัพมากกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีรูปแบบอื่นๆ

 

“การลงทุนในสตาร์ทอัพเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงกว่าการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ดังนั้นเราจะเห็นว่ารัฐบาลหลายประเทศพยายามจะจูงใจนักลงทุน และมาตรการทางภาษีก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยมีการศึกษาในยุโรปบอกว่า Capital Gains Tax ทำให้นักลงทุนระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้น การยกเลิก Capital Gains Tax ไปข้อดีคือ จะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนลดลง” ดร.อธิภัทรกล่าว

 

ดร.อธิภัทรยังชี้ให้เห็นอีกว่า มาตรการจูงใจทางภาษีมีหลายแบบ และมีตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น การลดหย่อนภาษีจากเงินที่ลงทุน ซึ่งมีงานวิจัยบอกว่า ไม่ได้ช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนให้แนะนำต่อสตาร์ทอัพ หรือมุ่งทำให้สตาร์ทอัพเติบโต แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจนักลงทุนในการขยายพอร์ตการลงทุนของตนมากกว่า เพราะลงทุนมากเท่าไร ก็เอาไปลดหย่อนภาษีมากเท่านั้น

 

ตรงกันข้ามกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แบบยกเลิก Capital Gains Tax ที่มุ่งไปยังผลลัพธ์ (Outcome) สุดท้ายว่า ลงทุนไปแล้วประสบความสำเร็จแล้วขาย ถ้าสตาร์ทอัพตัวนั้นประสบความสำเร็จขนาดก็จะเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็จะขยายได้กำไรมากขึ้น 

 

แนะรัฐบาลควร ‘เลือกนักลงทุน’

อย่างไรก็ตาม ดร.อธิภัทรยังมองว่า มีอีกหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ ‘การคัดเลือกนักลงทุน’ ที่สามารถให้คำแนะนำ หรือมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สตาร์ทอัพเติบโตมากกว่านักลงทุนที่หว่านแหลงทุนทั่วไป

 

“เมื่อรัฐบาลอยากจะส่งเสริม ต้องมีเกณฑ์ว่านักลงทุนแบบไหนที่เราอยากให้มาลงทุนในสตาร์ทอัพ เนื่องจากปัจจุบันมีนักลงทุนประเภทหว่านแหอยู่จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงกลับไม่สามารถให้คำแนะนำหรือสนับสนุนสตาร์ทอัพได้มากพอ” ดร.อธิภัทรกล่าว

 

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gains Tax) ให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย เป็นเวลา 10 ปี ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และผ่าน Venture Capital เพื่อเสริมสร้างการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน 

 

โดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565 (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น) ดังกล่าว ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565

 

สำหรับสตาร์ทอัพภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 

5 อุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งประกอบด้วย

  • อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

 

5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 

  • หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม
  • อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
  • อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

 

2 อุตสาหกรรมเพิ่มเติม

  • อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
  • อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา

 

ประโยชน์ของกฎหมายนี้

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า 

 

  1. การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax จะสร้างประโยชน์ให้แก่สตาร์ทอัพ และบริษัทเทคโนโลยีในประเทศ ดึงดูดการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น และทำให้เกิดการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

  1. การออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gains Tax จะทำให้การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะไม่ต้องเสียภาษีเหมือนในอดีต ซึ่งกำหนดว่า นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ลงทุนในบริษัท ห้างหุ้นส่วนต่างๆ เมื่อมีการขายหุ้นแล้วหุ้นมีกำไรก็ต้องมีการเสียภาษี Capital Gain 15% ทำให้หนีไปลงทุนที่ต่างประเทศแทน

 

  1. การออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี Capital Gains Tax ยังส่งผลดีต่อสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ซึ่งนักลงทุนก็จะมาตั้งกองทุนที่เรียกว่า Venture Capital หรือ VC เป็นธุรกิจร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะเป็นธุรกิจสำคัญที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต และสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศไทยด้วย

 

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

“จากการประเมินของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะกระตุ้นทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้นกว่า 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 400,000 ตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 790,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax” อนุชากล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X