×

วิเคราะห์จีนก่อนประชุมใหญ่ 16 ตุลาคม กับเป้าหมาย ‘แซงสหรัฐฯ’ ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งเศรษฐกิจโลก

11.10.2022
  • LOADING...
ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์

ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 20 วันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งมีการคาดการณ์กันไว้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องไปเป็นสมัยที่ 3 จนถึงปี 2027 

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามองคือ รัฐบาลจีนจะมีการปรับแนวนโยบายการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรบ้างต่อจากนี้ และจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งทางเศรษฐกิจของโลกได้หรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


Bloomberg Economics ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในอีก 1 หนึ่งทศวรรษข้างหน้า แบ่งออกเป็น 4 กรณี โดยกรณีฐานนั้นคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตเฉลี่ย 4.6% ต่อปี 

 

หากภาคอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัวหนักกว่าที่คาด และนโยบาย Zero-COVID ยังคงถูกใช้ต่อไปเกินกว่าปี 2023 การเติบโตของ GDP อาจจะต่ำกว่า 4% ในทศวรรษข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำให้จีนไม่สามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ก่อนหน้าปี 2035

 

ในมุมกลับกัน หากจีนสามารถก้าวผ่านวิกฤตภาคอสังหาและปลดล็อกนโยบาย Zero-COVID พร้อมกับเดินหน้าลงทุนภาคอุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งพัฒนาความสามารถแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เชื่อว่าการเติบโตในระดับสูงกว่า 5% มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ และจะทำให้จีนขึ้นไปเป็นเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก 

 

ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่สีจิ้นผิงทำมาในอดีต คงจะเป็นการประมาทเกินไปหากจะบอกว่าจีนจะไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้แน่ๆ เพราะเศรษฐกิจจีนขยายกว่าเท่าตัวจากปี 2010 และช่วงที่สีจิ้นผิงเข้ามารับตำแหน่งในปี 2012 ในเวลานั้นนักเศรษฐศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่าจีนอาจจะติดกับดักรายได้ปานกลาง 

 

แต่หลังจากนั้นจีนก็สามารถก้าวข้ามการเป็นประเทศรายได้ปานปลางมาสู่สถานะประเทศรายได้สูง ฉีกหนีจากประเทศที่ใกล้เคียงกันในเวลานั้นอย่างอาร์เจนตินาและรัสเซีย

 

การปฏิรูปไม่ใช่สิ่งที่ง่าย สีจิ้นผิงจำเป็นจะต้องผลักดันให้ผู้คนสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้น เพิ่มการเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อใช้เป็นงบประมาณสำหรับการศึกษาและสุขภาพ ขณะที่อุตสาหกรรมการเงินก็จำเป็นจะต้องยกเครื่องใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเงินทุนจะไหลไปยังบริษัทที่มีความสามารถ รวมทั้งธุรกิจครอบครัวที่ช่วยจ้างงานมากที่สุด และเปิดให้มีการแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจได้มากขึ้น 

 

ทั้งนี้ Chang Shu และ Eric Zhu นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Economics ได้ประเมินเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 4 กรณี ได้แก่ 

 

1. กรณีฐาน เศรษฐกิจเติบโต 4-5%

ก่อนหน้านี้ นโยบาย Zero-COVID กดดันเศรษฐกิจจีนอย่างหนัก และทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่าจะทำให้ GDP โตต่ำกว่า 3% ในปีนี้ และนโยบายดังกล่าวน่าจะยังถูกใช้ต่อไปถึงไตรมาส 2 ของปี 2023 

 

ปัจจัยเรื่องแรงงานก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของจีน หลังจากที่ประชากรจีนลดลงมากกว่าที่คาดไว้ แต่สิ่งที่สำคัญคือจำนวนประชากรในวัยทำงาน ซึ่งปัจจุบันชาวจีนเกษียณอายุระหว่างอายุ 50-60 ปี ขึ้นอยู่กับอาชีพและเพศ หากการเกษียณอายุสามารถขยับไปถึง 65 ปี จีนจะยังมีแรงงานคงที่ระดับ 760 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า 

 

สิ่งที่พัฒนาขึ้นอย่างมากในจีนคือการศึกษา สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 25-60 ปี ซึ่งมีการศึกษาสูงเพิ่มขึ้นเป็น 37% และมีโอกาสจะไปแตะระดับ 50% ในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอย่างโปรตุเกส 

 

นอกจากนี้ จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP มากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่ง เบิร์ต ฮอฟแมน หัวหน้าสถาบันเอเชียตะวันออกในสิงคโปร์ กล่าวว่า แม้การลงทุนจีนจะเสียเปล่าไปบางส่วน แต่จะยังช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างน้อย 3% ต่อปี ไปจนถึงปี 2035 

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโต 4-5% จีนจำเป็นจะต้องรักษาระดับการออมของครัวเรือน แต่ก็ต้องจัดสรรเงินทุนเหล่านี้ไปยังภาคการผลิตและบริการมากขึ้นจากเดิมที่เน้นไปยังภาคอสังหา อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหายังมีช่องว่างให้ขยายตัวได้อยู่จากการคาดการณ์ว่าจะมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10 ล้านคน ไปจนถึงปี 2025 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันใหญ่เกินกว่าที่จะพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก รัฐบาลจีนจำเป็นจะต้องปฏิรูปเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจีนจะสามารถสร้างประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ในประเทศ และผลักดันให้การใช้จ่ายในประเทศเติบโตต่อเนื่อง 

 

เป้าหมายดังกล่าวเป็นที่มาของนโยบายกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Circulation) และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ซึ่งสิ่งที่จีนจะต้องดำเนินการคือ ลดกำแพงทางเศรษฐกิจระหว่างแต่ละเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามผลักให้การลงทุนขยายไปยังพื้นที่ที่ยากจน และช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางแพทย์อย่างเท่าเทียม พร้อมกับเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น 

 

อีกหนึ่งปัจจัยหนุนต่อเศรษฐจีนคือการขยับตัวของภาคการผลิต จากสินค้าและบริการมูลค่าต่ำไปยังสินค้ามูลสูง ซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ยังมีช่องว่างให้พัฒนา

 

มากไปกว่านั้น การปฏิรูปโครงการธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น โรงแรม ค้าปลีก ค้าส่ง โดยลดการถือครองของรัฐ จะช่วยเสริมการเติบโตของ GDP อีก 1.3% อิงจากการประเมินของ OECD 

 

2. กรณีแย่กว่าคาด เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่า 4% 

คำถามหนึ่งที่ค้างคาและยังไม่มีความชัดเจนออกมาจากผู้นำของจีนคือ นโยบาย Zero-COVID จะถูกใช้ต่อไปถึงเมื่อใด ในกรณีเลวร้ายเราอาจจะยังไม่เห็นการผ่อนคลายนโยบายดังกล่าวไปจนถึงปี 2024 ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำไปอีกอย่างน้อย 1 ปี 

 

ขณะที่การปฏิรูปเกี่ยวกับโครงสร้างแรงงานอาจจะยังไม่แล้วเสร็จจนกว่าจะถึงปี 2040 ซึ่งอาจจะกระทบต่อประชากรวัยทำงาน

 

ในมุมของตลาดอสังหา ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างหนัก และกรณีเลวร้ายอาจทำให้งบประมาณลงทุนลดลงไปถึง 20% ระหว่างปี 2022-2024 หรืออีกกรณีหนึ่งคือรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากจนเกินไป 

 

ประเด็นความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญ หากสถานการ์ดำเนินไปถึงระดับการใช้มาตรคว่ำบาตรคล้ายกับกรณีต่อรัสเซีย ก็อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนหยุดชะงัก ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ เช่น กรณีของ Huawei 

 

3. กรณีเลวร้ายสุด เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่า 3% 

หนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาลจีนช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือ การพยายามลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินขึ้นในประเทศ หลังการจัดการธนาคารเงา (Shadow Banking) และชะลอการปล่อยกู้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังคงมีปัญหาเรื่องหนี้เสียอยู่ในระบบธนาคารจำนวนมาก และหากราคาอสังหาดิ่งลงหนัก รวมทั้งสถาบันการเงินล้มลง จะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้

 

ขณะที่ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่อาจจะรุนแรงกว่านี้ จะทำให้การผลิตของจีนลดลงไปได้ถึง 8% ในปี 2030 อีกปัจจัยเสี่ยงคือเรื่องของโรคระบาดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งความขัดแย้งกับไต้หวันที่อาจจะปะทุขึ้นมาได้ 

 

4. กรณีดีกว่าคาด เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่า 5%

เป้าหมายอย่างเป็นทางการของจีนคือขยาย GDP เพิ่มขึ้นจากปี 2020 อีกเท่าตัว ภายในปี 2035 ซึ่งต้องอาศัยการเติบโตกว่า 5% เกือบทุกปีในทศวรรษข้างหน้านี้ ซึ่งต้องอาศัยการกลับมาเปิดประเทศเพื่อขยายการบริโภคให้เร็วที่สุด 

 

ส่วนระยะยาวต้องกระตุ้นให้มีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้น โดยการช่วยเหลือด้านค่าดูแลเด็ก และให้สิทธิประโยชน์กับพ่อแม่เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เราจะยังไม่เห็นว่าการเกิดที่มากขึ้นจะช่วยหนุนการเติบโตได้มากน้อยเพียงใด จนกว่าที่เด็กเหล่านี้จะเข้าสู่วัยทำงานหลังจากปี 2040 

 

ขณะเดียวกันจีนต้องพยายามผลักดันการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจีนก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากดัชนี Economic Complexity อันดับของจีนเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 24 เมื่อทศวรรษก่อนหน้านี้ มาเป็นอันดับที่ 17 ในปัจจุบัน 

 

ตัวอย่างของสินค้าที่มีความซับซ้อนซึ่งจีนทำได้ดีขึ้น เช่น การส่งออกสินค้าไบโอเทคโนโลยี เช่น BeiGene ขณะที่บริษัทอย่าง Tencent และ TikTok ก็พัฒนาเป็นธุรกิจระดับโลก 

 

ทั้งนี้ Chang Shu และ Eric Zhu กล่าวว่า นโยบายสามารถสร้างความแตกต่างของความเร็วในการเติบโต การก้าวข้ามนโยบาย Zero-COVID และสร้างเสถียรภาพให้กับภาคอสังหาจะช่วยหนุนการเติบโตระยะสั้น และที่สำคัญกว่านั้น การปฏิรูปโดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทักษะแรงงาน จะช่วยให้จีนกลับสู่เส้นทางการเติบโตระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X