×

เบน เบอร์นันเก อดีตประธาน Fed และนักเศรษฐศาสตร์อีก 2 คน คว้ารางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปีนี้ จากงานวิจัยด้านธนาคารและวิกฤตทางการเงิน

10.10.2022
  • LOADING...

3 นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ได้แก่ เบน เบอร์นันเก อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) พร้อมด้วย ดักลาส ไดมอนด์ และ ฟิลิป ดิบวิก นักเศรษฐศาสตร์อีก 2 คน คว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2022 จากงานวิจัยที่เกี่ยวกับธนาคารและวิกฤตทางการเงิน

 

โดยผลงานที่ทำให้เบอร์นันเกได้รับรางวัลปีนี้ คือบทความเมื่อปี 1983 ที่อธิบายว่า ความล้มเหลวของธนาคารสามารถนำไปสู่วิกฤตทางการเงินได้ มากกว่าที่จะเป็นเพียงผลจากวิกฤต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ส่วนผลงานที่ทำให้ ดักลาส ไดมอนด์ และ ฟิลิป ดิบวิก คว้ารางวัลก็ตีพิมพ์ในปีเดียวกัน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาททางสังคมที่ธนาคารมีต่อการลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้ออมที่ต้องการเข้าถึงเงินของพวกเขา และเศรษฐกิจที่ต้องการการออมเพื่อนำไปลงทุน รวมไปถึงวิธีที่รัฐบาลสามารถช่วยปกป้องการแห่ถอนเงิน (Bank Run) โดยการให้ประกันเงินฝาก และทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ทางเลือกสุดท้ายด้วย

 

คณะกรรมการโนเบลระบุว่า ผลงานของทั้งสามในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ได้ปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารในระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตทางการเงิน และแสดงให้เห็นว่าเหตุใดเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องป้องกันการล่มสลายของธนาคาร โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008-2009 และการระบาดใหญ่ของโควิด

 

ขณะที่ จอห์น แฮสเลอร์ หนึ่งในคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า บทความในปี 1983 ของ เบน เบอร์นันเก แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ทางสถิติและแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่า การแห่ถอนเงิน (Bank Run) นำไปสู่ความล้มเหลวของธนาคารได้อย่างไร และนี่คือกลไกที่เปลี่ยนภาวะถดถอย (Recession) ที่ธรรมดาให้กลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ในช่วงทศวรรษ 30 รวมถึงวิกฤตร้ายแรงที่เราเห็นในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ด้วย

 

ทั้งนี้ เบน เบอร์นันเก เคยดำรงตำแหน่งประธาน Fed ระหว่างปี 2006-2014 โดยปัจจุบันเขาประจำอยู่ที่ Brookings Institute ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้าน ดักลาส ไดมอนด์ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ Booth School of Business แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ขณะที่ ฟิลิป ดิบวิก เป็นศาสตราจารย์ที่ Olin Business School ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คนจะรับรางวัลร่วมกัน เช่นเดียวกับ พอล ครูกแมน และ มิลตัน ฟรีดแมน ผู้ชนะรางวัลก่อนหน้านี้ โดยผู้ชนะรางวัลจะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านโครนาสวีเดนต่อคน

 

ขณะที่มีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้มักมาจากสหรัฐอเมริกา และมีนักเศรษฐศาสตร์หญิงเพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยรับรางวัล ได้แก่ เอลินอร์ ออสตรอม ผู้ชนะในปี 2009 และ เอสเธอร์ ดัฟโล ผู้ชนะในปี 2019

 

ทั้งนี้ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ 1 ใน 5 รางวัลโนเบลสาขาดั้งเดิม ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 1895 ตามความตั้งใจก่อนเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล ผู้ประดิษฐ์ระเบิดไดนาไมต์

 

แต่ก่อตั้งขึ้นโดยธนาคารกลางสวีเดน และเริ่มประกาศรางวัลครั้งแรกในปี 1969 โดยมีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า ‘The Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel’

 

ภาพ: Nobelprize.org

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X