เหตุการณ์กราดยิงภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้หัวใจคนไทยแตกสลายอีกครั้ง หลังจากครั้งล่าสุดที่โคราช ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกทั้งหดหู่ โกรธแค้น โศกเศร้า หวั่นไหว หวาดผวา หลายคนกลับบ้านไปนอนกอดลูกแน่น และอีกหลายคนส่งใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสียผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก
นอกจากความรู้สึก โศกนาฏกรรมนี้ยังต้องตั้งคำถามตัวโตๆ อีกหลายมิติ
- ทำไมจึงเกิดเหตุกราดยิงในไทยถึง 4 ครั้งในรอบ 3 ปี
- ทำไมเหตุกราดยิง 2 ครั้งหลังจึงเป็นการกระทำของอดีตทหารและตำรวจเสียเอง ทั้งที่ควรมีหน้าที่ปกป้องประชาชน!
- ทำไมระบบของกองทัพและตำรวจจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและปืนในทางที่ผิดซ้ำซาก
- ทำไมเรายังไม่เคยเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และถอดบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสีย
คำถามเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรง ความสงสัย และความคลางแคลงใจไปอีก เมื่อผู้นำที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อปัญหาโดยตรงตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ว่า “จะให้ทำอย่างไรก็คนมันติดยา”
และยังเกิดคำถามเพิ่มถึงความเหมาะสมของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการจัดพิธี ระเบียบ ขั้นตอน เมื่อได้เห็นภาพพรมแดงในวันรุ่งขึ้น ณ จุดเดียวกันกับที่เกิดเหตุ ทับซ้อนคราบเลือด แม้ในเวลาต่อมาจะถูกนำออกหลังกระแสสังคมเริ่มเป็นลบ
คำถามของคนไทยตอนนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ตัว ‘เหตุการณ์’ แต่กำลังเคลื่อนไปสู่ ‘การตอบสนองต่อเหตุการณ์’ ที่สำคัญยิ่งกว่า
เพราะเหตุเกิดขึ้นแล้ว ย้อนเวลาไปแก้ไม่ได้แล้ว การตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างหากที่จะสะท้อนถึงภาวะผู้นำ วุฒิภาวะ การสื่อสาร และการบริหารจัดการ
จากเหตุการณ์กราดยิงโคราช ถึงกราดยิงหนองบัวลำภู ดูเหมือนปัญหาเดิมๆ ยังคงวนซ้ำ อีกทั้งยังเผยให้เห็นปัญหาที่หมักหมมอยู่ในระบบที่ฝังรากลึกถึงโครงสร้างจากการตอบสนองต่อเหตุการณ์หลายๆ อย่าง คำสัญญาที่จะ ‘ปฏิรูป’ โดยเฉพาะในแวดวงทหาร-ตำรวจ ยังคงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
หนึ่งบทเรียนที่เราได้เรียนรู้แน่ๆ จากทั้งสองเหตุการณ์ก็คือ ‘เราไม่เคยมีบทเรียน’
ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสีย ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจใส่ใจกับหยดน้ำตาและคราบเลือดของประชาชน ขอให้ลงมืออย่างจริงจังกับการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ได้เห็นว่าเรารับบทเรียนที่ประเมินค่าไม่ได้แล้วจริงๆ