กว่า 40 ปีที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงค้าปลีกไทย หลังจากได้ปลุกปั้นศูนย์การค้าตั้งแต่เดอะมอลล์, สยามพารากอน, ดิ เอ็มดิสทริค ฯลฯ แม้ปัจจุบันต้องเจอความท้าทายจากเทคโนโลยีดิสรัปชัน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหลังวิกฤตโควิด แต่ยังไม่หยุดสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการ
ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายยกระดับวงการค้าปลีกให้เป็นศูนย์กลางทั้งในด้านการค้า ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ และที่สำคัญกรุงเทพฯ เป็นเดสติเนชันที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- IKEA เคาะเลือกศูนย์การค้า Emsphere บนถนนสุขุมวิทของเครือ The Mall เป็นทำเลสำหรับเปิดสาขาที่ 4 ในประเทศไทย
- Bitkub จับมือ The Mall Group ตั้ง ‘Bitkub M’ สร้างดิจิทัลคอมมูนิตี้ พร้อมเปิดทางห้างในเครือรับชำระค่าสินค้า-บริการด้วยคริปโตฯ 7 สกุล
- AIS 5G – The Mall ผสานโลก Retail-Tech เปิดประสบการณ์ดิจิทัลสู่โลก Metaverse ไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือบนโลกเสมือน
ยกตัวอย่าง ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน, ปี 2562 มีนักท่องเที่ยว 23 ล้านคน จนกระทั่งในปี 2563-2564 เจอวิกฤตโควิด เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายในปี 2565 นักท่องเที่ยวกลับมา 10 ล้านคน โดยประเมินว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมา 30-40 ล้านคน
จากโอกาสดังกล่าว จึงได้สร้างโครงการ ‘The Em District’ ในรูปแบบการผนึกกำลังของ 3 ศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส ประกอบไปด้วย ดิ เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์ และเตรียมเปิดให้บริการ ดิ เอ็มสเฟียร์ ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สุดท้ายที่จะมาเสริมแกร่งให้กับ ดิ เอ็มดิสทริค โดยมีจุดแข็งคือตัวศูนย์การค้าเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า
ที่สำคัญ ทั้ง 3 ศูนย์ได้วางโพสิชันนิ่ง เจาะกลุ่มลูกค้าต่างกัน แม้ในแง่ของแบรนด์สินค้าและการให้บริการจะคล้ายๆ กัน แต่เอ็มควอเทียร์และ ดิ เอ็มโพเรียม จะเน้นจับฐานลูกค้าเก่าที่มีกำลังซื้อสูง ขณะที่ ดิ เอ็มสเฟียร์ จะเน้นจับฐานคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อเช่นเดียวกัน
สำหรับศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere) สร้างขึ้นจากงบลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท มีพื้นที่โครงการกว่า 200,000 ตารางเมตร อยู่ใจกลางสุขุมวิท โดยจะให้บริการครอบคลุมศูนย์รวมแฟชั่น ลักชัวรี เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ลิฟวิง และไดนิ่ง จากแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลกและไทยที่มีกระแสกว่า 1,000 แบรนด์ รวมถึงแหล่งบันเทิง ซึ่งจะเป็นแหล่งแฮงเอาต์รองรับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในย่านที่มีที่พักอาศัย โรงแรม และออฟฟิศจำนวนมาก
นอกจากนี้ บริษัทได้ทุ่มงบ 3 พันล้าน เพื่อปรับโฉม ดิ เอ็มโพเรียม ทั้งภายในและภายนอกให้หรูหราและทันสมัย แต่ยังคงความสะดวก และบรรยากาศการช้อปแบบดั้งเดิมเอาไว้
ศุภลักษณ์ย้ำว่า ในอนาคตอยากเสนอแนะผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้ปรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงสกายวอล์กเพื่อเชื่อมให้คนเดินระหว่างรถไฟฟ้าจากอโศกไปทองหล่อ เพื่อลดการจราจร และเป็นการดึงให้ผู้คนสามารถเดินทางใช้จ่ายหรืออยู่ในประเทศไทยสะดวกมากขึ้น
ด้าน เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มดิสทริค กล่าวว่า ดิ เอ็มสเฟียร์ จะมีโซนต่างๆ ประกอบด้วย Em Galleria โซนแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลก และแบรนด์แฟชั่นของไทย ตามด้วย Em Lifestyle โซนที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึง Em Mercado ศูนย์รวมร้านอาหาร ถัดมาเป็น Em Wonder แหล่งแฮงเอาต์ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
พร้อมกันนี้ ยังมีฝั่ง Em Innovation แหล่งรวมนวัตกรรมจากทั่วโลก และ IKEA ซิตี้สโตร์ แห่งแรกของไทย กว่า 15,000 ตารางเมตร ตลอดจนพื้นที่จัดงานอีเวนต์ระดับ World Class Arena ความจุ 6,000 ที่นั่ง โดยการบริหารงานของ AEG ผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงและกีฬาระดับโลก
ทั้งนี้ ดิ เอ็มสเฟียร์ เตรียมเปิดให้บริการ อย่างเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2566 โดยเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเจ้าของแบรนด์ ร้านค้า รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาร่วมลงทุนในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP