นับตั้งแต่ต้นปีจนจบไตรมาสที่ 3 ตลาดหุ้นอินโดนีเซียถือว่ามีผลตอบแทนดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ดัชนีหุ้นเกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน ปรับตัวลดลงกว่า 20% ทำให้นักวิเคราะห์เตือนว่า ตลาดหุ้นเอเชียตอนเหนืออาจเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น เหตุการส่งออกที่ชะลอตัว การอ่อนค่าของสกุลเงิน และความต้องการชิปที่ลดลง
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ดัชนี Jakarta Composite ของอินโดนีเซีย ถือเป็นดัชนีที่มีผลตอบแทนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยปรับตัวขึ้น 6.51% ตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ดัชนี Straits Times ของสิงคโปร์ถือเป็นดัชนีผลตอบแทนดีที่สุดอันดับ 2 ในภูมิภาค โดยลดลงเพียง 0.53%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
ในทางตรงกันข้าม ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง, ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ และ TAIEX ของไต้หวัน กลับร่วงลงมากกว่า 25% ในปีนี้
ขณะที่ดัชนี Shanghai Composite และ Shenzhen Component ของจีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยลดลงเกือบ 17% และ 27% ตามลำดับ
ส่วนดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่น, SET ของไทย และดัชนี Nifty 50 ของอินเดีย ปรับตัวลดลงเป็นเลขหลักเดียว โดยลดลง 8.95%, 6.01% และ 2.69% ตามลำดับ
ทำไมตลาดหุ้นอินโดนีเซียสร้างผลตอบแทนสูงสุด
การลงทุนจากต่างประเทศในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ดัชนี Jakarta Composite ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ Maynard Arif หัวหน้าฝ่ายตราสารทุนอินโดนีเซียจาก DBS Group Research ยังระบุว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากรัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการระบาด
Maynard Arif เสริมอีกว่า DBS ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่ออินโดนีเซีย แม้ว่าจะเผชิญกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งนำไปสู่การไหลออกของพันธบัตรรัฐบาลในปีนี้
อย่างไรก็ตาม Manishi Raychaudhuri หัวหน้าฝ่ายวิจัยหุ้นเอเชียแปซิฟิกจาก BNP Paribas เตือนว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำถือเป็นความไม่แน่นอนที่อินโดนีเซียต้องเผชิญ
ขณะที่ Suresh Tantia นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโสจาก Credit Suisse กล่าวว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดอินโดนีเซีย หลังจากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง
เอเชียตอนใต้ vs. เอเชียตอนเหนือ
Suresh Tantia ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน Credit Suisse แนะนำตลาดเอเชียใต้มากกว่าตลาดเอเชียเหนือ เนื่องจากธรรมชาติของตลาดเอเชียเหนือต้องพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน
“เราเห็นแรงกดดันมากขึ้นต่อเกาหลีใต้และไต้หวัน ท่ามกลางการส่งออกที่ชะลอตัว การอ่อนค่าของสกุลเงิน และความต้องการชิปที่ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทั้งสองตลาด” Suresh Tantia กล่าว
จับตาตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ Timothy Moe หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจาก Goldman Sachs กล่าวว่า มีปัจจัยขับเคลื่อนเชิงบวก 3 ประการสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ การฟื้นตัวจากโควิด การปรากฏตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
“ตลาดในอาเซียนมักผูกกับธนาคารในระดับสูง และในวัฏจักรของอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป ถือเป็นแรงส่งที่สำคัญมากสำหรับตลาดอาเซียน” Timothy Moe กล่าว
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
อ้างอิง: