×

จับสัญญาณความเสี่ยง ‘Credit Suisse’ หลังความเชื่อมั่นนักลงทุนถดถอย เทขายหุ้นกดราคาทำสถิติต่ำสุดใหม่

04.10.2022
  • LOADING...
Credit Suisse

ท่ามกลางกระแสข่าวลือเกี่ยวกับโอกาสที่หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Credit Suisse Group AG มีความเสี่ยงจะล้มละลาย ในขณะที่ราคาหุ้นของ Credit Suisse ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นลดลงไป 61% กดให้ราคาหุ้นทำสถิติต่ำสุดใหม่ที่ 3.52 ฟรังก์สวิส

 

ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา นักลงทุนต่างพูดถึงประเด็นความเสี่ยงเกี่ยวกับฐานะการเงินของ Credit Suisse ซึ่งถูกประเมินว่าอาจจะอยู่ในระดับที่ย่ำแย่ ขณะที่ต้นทุนของ Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นหนึ่งในตราสารอนุพันธ์ที่ใช้ประกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท ได้ปรับตัวขึ้นอย่างมาก อย่าง CDS อายุ 5 ปี เพิ่มขึ้น 1% เป็นกว่า 3.5% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ตุลาคม)

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ความเสี่ยงของ Credit Suisse เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นตั้งแต่เดือนก่อนหน้านี้ หลังจากที่บริษัทมีแผนจะจัดโครงสร้างธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Bank) โดยต้องการแยกขายหน่วยธุรกิจบางส่วนออกไป ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนจะลดต้นทุนลง 1.5 พันล้านฟรังก์สวิส ซึ่งรวมถึงการปลดพนักงานนับหมื่นตำแหน่งทั่วโลก

 

แม้ว่าผู้บริหารของ Credit Suisse จะพยายามออกมาประกาศว่าฐานะการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนจะยังไม่เชื่อถือนัก สะท้อนจากการเทขายหุ้นและหุ้นกู้ของบริษัท ก่อนจะหันมาซื้อ CDS แทน จนนำไปสู่ความกังวลว่าอาจจะเกิดวิกฤตการเงินคล้ายกับเมื่อปี 2008

 

ส่วนแผนในการขายธุรกิจบางส่วนก็อาจทำให้เกิดช่องว่างของเงินทุนที่บริษัทจำเป็นจะต้องหามาเติมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป เมื่อเดือนก่อนนักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank กล่าวว่า เงินทุนที่บริษัทจำเป็นจะต้องหามาเติมอยู่ที่ราว 4 พันล้านฟรังก์สวิส เพื่อชดเชยธุรกิจที่อาจจะขายออกไป

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Keefe, Bruyette & Woods มองว่า Credit Suisse ต้องการเงินทุนมากถึง 6 พันล้านฟรังก์สวิส หลังจากที่ขายสินทรัพย์บางส่วน ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องเพิ่มทุนราว 4 พันล้านฟรังก์สวิส

 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้บริหารของ Credit Suisse ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้มีแผนที่จะเพิ่มทุน แต่ก็ยืนยันว่ามีแผนจะขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป ซึ่งเพียงพอที่จะช่วยเสริมเงินทุนให้กับบริษัทเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ล่าสุดนักวิเคราะห์หลายรายได้เปรียบเทียบสถานการณ์ของ Credit Suisse ในขณะนี้กับสถานการณ์ของ Deutsche Bank ในปี 2016-2017 และสถานการณ์ของ Morgan Stanley ในปี 2011 ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างรอดพ้นวิกฤตมาได้

 

กรณีของ Deutsche Bank เผชิญกับความเสี่ยงจากการที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัทชดเชยความเสียหายมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อยุติกระบวนการสืบสวนเกี่ยวกับตราสารหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ (Residential Mortgage-Backed Securities) และแม้ว่าบริษัทจะสามารถตกลงได้ด้วยตัวเลขที่ลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 7.85 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังคงมีความกังวลต่อความเสี่ยงของบริษัทเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนกว่าบริษัทจะระดมทุนเข้ามาเพิ่มได้ในปีถัดไป

 

ส่วนกรณีของ Morgan Stanley เผชิญกับกระแสข่าวที่ว่าบริษัทมีความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ในยุโรปอย่างมาก แม้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัทจะออกมาให้ความเชื่อมั่น แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าที่ Credit Default Swap ของบริษัทจะเริ่มลดลงจนสะท้อนว่าความกลัวของนักลงทุนหมดไปแล้ว

 

กลับมาที่ความเสี่ยงของ Credit Suisse ดูเหมือนว่านักวิเคราะห์บางส่วนยังคงเชื่อมั่นว่าบริษัทจะไม่ต้องเผชิญกับการล้มละลาย ส่วนหนึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio) ของ Credit Suisse อยู่ที่ 191% สูงกว่าอีกหลายบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน

 

ขณะที่ Kian Abouhossein นักวิเคราะห์ของ JPMorgan กล่าวว่า “จากมุมมองของเราต่อฐานะการเงินของบริษัท ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เงินทุนและสภาพคล่องของ Credit Suisse ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี”

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะต้องเปิดเผยฐานะการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3 ออกมาก่อนล่วงหน้า เพื่อช่วยให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่าบริษัทยังคงแข็งแกร่งอย่างที่ผู้บริหารสื่อสารถึงนักลงทุนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X