วันนี้ (3 ตุลาคม) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อีกทั้งหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์พายุโนรู ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมแรง ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 3 ตุลาคม จนเกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ 25 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือจังหวัดศรีสะเกษ
โดยมีน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ, อำเภอห้วยทับทัน, อำเภอยางชุมน้อย, อำเภอวังหิน, อำเภอภูสิงห์, อำเภอน้ำเกลี้ยง และอำเภออุทุมพรพิสัย รวม 16 ตำบล 46 หมู่บ้าน และมีพื้นที่อีก 16 จุด ที่ตรวจพบระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทีม THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจศูนย์อพยพและจุดพักพิงที่ชุมชนหนองไผ่และชุมชนพันทาใหญ่ ประชาชนหลายคนสะท้อนว่า นอกจากที่พักอาศัยชั่วคราวแล้วพวกเขาอยากให้หน่วยงานช่วยดูแลในเรื่องของผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ นม เสื้อผ้า ผ้าห่ม และที่สำคัญคือระบบไฟฟ้าเพื่อชาร์จเครื่องมือสื่อสารให้ได้ติดต่อกับครอบครัวและติดตามข่าวสารได้
ทั้งนี้ มีรายงานจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ สรุปความเสียหายเบื้องต้น มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 61,244 คน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 18,836 ครัวเรือน ขณะเดียวกันถนนทางหลวงศรีสะเกษที่ 1 ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ห้ามรถผ่าน จำนวน 13 สายทาง