หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 การรถไฟในฐานะเจ้าของที่ดินได้เริ่มต้นดำเนินการเตรียมความพร้อมในส่วนของพื้นที่โครงการเพื่อส่งมอบให้ทางบริษัท ด้วยการเรียกคืนพื้นที่จากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบทางรถไฟในหลายภาคส่วน นำไปสู่ข้อพิพาททางกฎหมายที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนริมทางรถไฟเหล่านี้มักตั้งอยู่บนที่ดินส่วนขนานเส้นทางเดินรางรถไฟ มีผู้คนเข้าไปปลูกสร้างบ้านเรือนขนาดเล็กเรียงรายมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจนเมือง ชนชั้นแรงงาน และบางส่วนเป็นอดีตกลุ่มคนทำงานใน รฟท.
ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นเมื่อการรถไฟลงไปสำรวจพื้นที่ในชุมชนโดยรอบที่อยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ เช่น พื้นที่บริเวณทางรถไฟมักกะสัน ในเดือนมกราคม 2563 รฟท. ออกประกาศให้ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 6 เดือน เมื่อสมาชิกชุมชนทราบข่าว พวกเขาได้ยกประเด็นข้อกังวลในเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่วงเวลาการดำเนินการที่กระชั้นชิด หรือปัจจัยด้านการเงินที่ไม่เพียงพอต่อการเคลื่อนย้ายแหล่งอาศัย กอปรกับวิกฤตการณ์โควิด ทำให้ประเด็นการย้ายออกถูกพักไปก่อน และในระหว่างนั้นก็มีการพูดคุยระหว่างชาวบ้าน การรถไฟ และกระทรวงคมนาคม เพื่อหาทางออกร่วมกันเป็นระยะ เช่น ประเด็นพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ การชะลอการย้ายออก ฯลฯ โดยทาง รฟท. ได้แจ้งเอาไว้ว่าจะไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้อยู่อาศัยบนพื้นที่ริมทางรถไฟแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ถัดจากการสำรวจครั้งแรกราว 1 ปี ในเดือนมีนาคม 2564 หมายบังคับคดีบุกรุกและขับไล่ออกจากพื้นที่จากศาลอาญา ถูกนำมาติดประกาศไว้ที่หน้าบ้านของสมาชิกชุมชนริมทางรถไฟ มีเนื้อหาใจความให้พวกเขาต้องย้ายออกจากพื้นที่ในทันที ชาวบ้านจึงแจ้งกลับไปถึงการพูดคุยก่อนหน้าที่มีการระบุเอาไว้ว่าจะไม่มีการดำเนินคดี รวมถึงอธิบายเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ในขณะนั้น โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถย้ายออกเพราะไม่มีที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ไม่มีที่พักรองรับ และยื่นข้อเรียกร้องให้ทางรัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย
บทสรุปของการหารือร่วมกันในครั้งนี้คือ การเคหะแห่งชาติเป็นผู้ดูแลสรรหาพื้นที่และเตรียมที่จะปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบของอาคารสูงบริเวณซอยหมอเหล็ง รวมถึงมีการตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งในการก่อสร้างที่ทางชาวบ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบ
แม้ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงในส่วนของบ้านพักแห่งใหม่ แต่ข้อพิพาทระหว่าง รฟท. กับชุมชนก็ยังไม่คลี่คลายทั้งหมด เพราะทาง รฟท. ยังคงต้องการให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ในทันที และยังดำเนินคดีกับสมาชิกชุมชนต่อไป
ข้อมูลในปี 2565 ระบุว่า ชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายออกจากพื้นที่ไปแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังปักหลักอยู่ เพื่อรอที่จะบรรลุข้อตกลงในการย้ายถอนและก่อสร้างที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักอาศัยในระหว่างการก่อสร้างที่ทางสมาชิกชุมชนยื่นหลายข้อเสนอไปก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการขอเช่าพื้นที่เดิมที่อาศัยอยู่ไปก่อน หรือหาก รฟท. ปฏิเสธให้เช่าพื้นที่สำหรับที่อยู่ชั่วคราว ก็ขอให้ชะลอการรื้อถอน
ชุมชนริมทางรถไฟเป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมเมืองหลวงที่ผ่านการถกเถียงมานับครั้งไม่ถ้วน บางกลุ่มคนในสังคมก็ยกประเด็นว่าคนเหล่านี้คือคนชุบมือเปิบ เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ตนเองไม่ใช่เจ้าของ บางกลุ่มก็ยกประเด็นในส่วนของการจัดสรรพื้นที่ในเมืองหลวงที่ไม่มีประสิทธิภาพและเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น แล้วในมุมมองทางวิชาการ ชุมชนคนเมืองสามารถอธิบายความเป็นมาและความท้าทายในการจัดการเพื่อพัฒนาเมืองได้อย่างไรบ้าง
การเติบโตของเมือง แรงงาน และการจับจองพื้นที่ว่างเปล่า
ข้อพิพาทระหว่างชุมชนเมือง หรือคำที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่าสลัม กับรัฐหรือเจ้าของที่ดิน ในหลายครั้งมักเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของที่ดินตามกฎหมายต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ หากพบว่าบนที่ดินว่างเปล่าไร้กิจกรรมเป็นเวลานานมีกลุ่มผู้คนปลูกสร้างเรือนอยู่อาศัยเอาไว้แล้ว เพื่อให้ตนเองหรือองค์กรสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์บนพื้นที่นั้นได้ ก็จะมีการดำเนินการทางกฎหมาย นำไปสู่กระบวนการขับไล่ออกจากพื้นที่
เมื่อเกิดการขับไล่ ความคิดเห็นโดยกว้างสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งให้เหตุผลว่า การขับไล่เป็นเรื่องที่ชอบแล้ว เพราะคนจนเมืองไปยึดเอาพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่นมาใช้ประโยชน์ ส่วนอีกฝั่งมองว่า ในเมื่อพื้นที่เหล่านี้ถูกทิ้งร้างจากเจ้าของทางกฎหมายเป็นเวลานาน ไม่ได้มีการใช้งานพื้นที่ ก็ควรตั้งประเด็นเรื่องของการใช้ประโยชน์บนที่ดินเอามาพิจารณาเช่นกัน
นอกจากนี้อีกหนึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มาพร้อมกับการไล่คือ ผู้อยู่อาศัยเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ยอมโยกย้ายออกจากพื้นที่ที่ตนไม่มีสิทธิ์ หากไม่ได้ตั้งคำถามย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นว่าผู้คนเหล่านี้เป็นใคร เหตุใดจึงเลือกยึดเอาที่ดินของผู้อื่นเป็นที่อยู่อาศัย แล้วทำไมจึงไม่ยอมย้ายออก
ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคนจนเมืองและคนไร้บ้าน อธิบายว่า การเกิดขึ้นของชุมชนเมืองหรือสลัมในประเทศกำลังพัฒนาจะต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วในแง่ที่ว่า การเกิดขึ้นของเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในทวีปยุโรป ส่วนมากเมืองเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ดึงแรงงานเข้าสู่เขตเมือง และแรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ (Skilled Labor) เช่น การคุมเครื่องจักร การเย็บผ้า และงานที่พบเห็นได้ในโรงงานอุตสาหกรรม แตกต่างจากประเทศที่กำลังพัฒนาที่เมืองมักไม่ได้ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่เป็นแรงงานนอกภาคอุตสาหกรรม หรือภาคการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการ แต่ต้องการแรงงานจำนวนมาก เช่น งานแบกหาม รับจ้างทั่วไป เป็นต้น
เมื่อเมืองต้องการแรงงานก็ทำให้คนต่างจังหวัดจำนวนมากเข้ามาหาโอกาสในการทำงานในเมือง โดยแรงงานส่วนมากที่เข้ามาในเมืองในยุคนั้นเป็นแรงงานที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงนัก เมื่อการศึกษาไม่สูงก็มักจะได้ทำงานที่ใช้แรงงานหรืออยู่ในภาคธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ หรือเป็นแรงงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ได้รับรายได้ ค่าแรง ค่าจ้าง ต่ำกว่าแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นทางการ
และเมื่อแรงงานเหล่านี้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองก็จำเป็นต้องแสวงหาที่อยู่อาศัย หากด้วยข้อจำกัดในช่วงก่อร่างสร้างตัวและการหารายได้ ทำให้ตัวเลือกในการหาบ้านไม่ได้มีมากนัก ส่วนมากพวกเขามักเริ่มต้นจากการสำรวจที่ดินรกร้างว่างเปล่าและใกล้แหล่งงานที่สะดวกต่อการเดินทาง คนเหล่านี้จึงได้เลือกจับจองที่ดินรกร้างเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่
หรือในบางกรณีชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ก็เป็นชาวบ้านที่เคยเช่าห้องหรือเช่าที่ดินบริเวณนั้นอยู่ แต่เมื่อเมืองพัฒนาขึ้น เจ้าของที่ดินเดิมก็เลือกขายที่ดินแปลงเหล่านั้นให้กับกลุ่มผู้มีความพร้อมในการลงทุนที่มักจะนำที่ดินเหล่านั้นไปสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านงานก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ตึกที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า พื้นที่คอมเพล็กซ์ เป็นต้น เมื่อคนเหล่านี้ไม่สามารถอาศัยอยู่บนพื้นที่เดิม ก็กลายเป็นคนไม่มีที่อยู่ จึงต้องขยับมาเริ่มต้นใหม่พื้นที่ว่างเปล่าที่ใกล้กับที่ดินเดิม
ไม่ใช่ผู้บุกรุก แต่คือผู้บุกเบิก
สำหรับปรากฏการณ์การเข้าใช้พื้นที่รกร้างเป็นที่อยู่อาศัยจนเกิดเป็นพื้นที่ชุมชนเมืองของแรงงานที่ย้ายถิ่นฐาน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกคือ ชุมชนแออัดหรือสลัมในกรุงเทพมหานครไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานแล้ว เนื่องจากในอดีตที่ดินจำนวนมากเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาก่อน ในยุคที่ประชากรในกรุงเทพฯ มีไม่กี่แสนคน ที่ดินจำนวนมากถูกทิ้งเอาไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานาน 30-40 ปี เช่น ที่ดินบริเวณท่าเรือคลองเตย ที่ดินบริเวณโรงงานอุตสาหกรรมรอบกรุงเทพฯ ย่านบ่อนไก่ มักกะสัน รวมถึงที่ดินของการรถไฟ
บุญเลิศอธิบายต่อไปว่า ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในการทำความเข้าใจคนจนเมืองคือ เรามักมองว่าคนเหล่านี้เป็น ‘ผู้บุกรุกพื้นที่’ เข้าไปยึดเอาทรัพยากรของคนอื่นมา
“คำว่าบุกรุกนี้เป็นปัญหามาก มันให้ภาพเหมือนกับว่าชาวบ้านบุกเข้าไปตัดรั้ว พังประตู แล้วเข้าไปตั้งชุมชน แต่จริงๆ แล้วที่ดินเหล่านี้ในอดีตเป็นที่ดินรกร้างมา 50-60 ปี ไม่มีการใช้ประโยชน์”
จากพื้นที่ทิ้งร้างที่ไม่ได้รับการดูแล จนเกิดเป็นภาพป่ากลางเมืองขนาดย่อม ชาวบ้านเหล่านี้คือคนที่เข้าไปหักร้างถากพง ไปพัฒนาพื้นที่หยุดนิ่งไม่ได้รับการเหลียวแลให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่เกิดการใช้ประโยชน์ เมื่อเกิดการใช้งาน ที่ดินเหล่านี้จึงมีราคาขึ้นมา
เพราะเมื่อคนจนเมืองเข้ามาอาศัยอยู่ เกิดการรวมตัวเป็นชุมชน นำไปสู่กลไกการเกิดขึ้นของตลาดเพื่อค้าขายภายในกลุ่มสมาชิก เกิดเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยที่ทางเจ้าของที่ดินดั้งเดิมจำนวนไม่น้อยเมื่อทราบว่ามีการเกิดขึ้นและขยายตัวของชุมชน ก็ปล่อยให้คนเหล่านี้อยู่อาศัยและสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจโดยไม่เข้าไปดำเนินการแสดงความเป็นเจ้าของ
เจ้าของที่ดินบางรายอาจหากำไรจากการปล่อยให้เช่าพื้นที่ตลาดเสียด้วยซ้ำ โดยที่ตนไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างตลาดขึ้นมาในคราวแรก และเมื่อถึงวันหนึ่งที่ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้นมาก ก็เริ่มเล็งเห็นขึ้นการเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ด้วยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ก็เริ่มขับไล่ผู้คนออกจากพื้นที่
ด้วยมุมมองการสร้างชุมชน สร้างนิเวศเศรษฐกิจเมือง สร้างตลาด มุมนี้สิ่งที่คนจนเมืองทำคือ การพลิกฟื้นและเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน เพราะจากที่ดินที่เคยเป็นที่รกร้างมาหลายชั่วอายุคน หากไม่มีคนจนเมืองเข้าไปขยับการใช้งานก็อาจไม่มีการเพิ่มมูลค่าแต่อย่างใด พวกเขาจึงมองว่าตัวเองเป็นคนที่เข้าไปบุกเบิกพื้นที่
“พอคนจนเมืองเข้าไปอยู่อาศัย ก็เกิดชุมชน เกิดการทำมาค้าขาย เกิดแหล่งงาน เกิดระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ทำให้ที่ดินตรงนี้มีราคาขึ้นมา พอที่ดินเหล่านี้มีราคา การรถไฟจึงเริ่มเห็นประโยชน์ เห็นศักยภาพทางธุรกิจ จึงเริ่มมีโครงการพัฒนาออกมา แล้วก็เริ่มขับไล่ผู้คนออกไป เพื่อนำพื้นที่มาพัฒนาต่อหรือปล่อยให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาเช่าต่อ”
ที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงาน
เมื่อมีแผนการพัฒนาการใช้ที่ดิน ไม่ว่าจะโดยฝั่งของเจ้าของพื้นที่ตามกฎหมายหรือว่ากลุ่มเอกชนที่รับช่วงเข้ามาเพิ่มมูลค่าที่ดินต่อ ย่อมตามมาด้วยขั้นตอนการขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิมออกจากพื้นที่
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอในการย้ายที่อยู่ของคนจนเมืองคือ รัฐมักเสนอทางออกในการแก้ปัญหาด้วยการวางแผนสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่ ทว่าส่วนมากเขตที่ตั้งของที่ดินผืนใหม่ที่รัฐจัดสรรให้มักอยู่ห่างไกลจากพื้นที่เดิมมากเป็นระยะทางกว่า 50-60 กิโลเมตร และทุกครั้งที่มีข้อเสนอดังกล่าว ชาวบ้านมักจะบอกว่า แต่ละคนไม่สามารถย้ายที่อยู่อาศัยได้ เพราะถ้าย้ายไปจะไม่มีงานทำ ไม่สามารถหางานใหม่ได้
เพราะเหตุใดเรื่องการเดินทางจึงเป็นปัจจัยใหญ่สำหรับคนจนเมือง?
บุญเลิศอธิบายว่า ประเด็นการเดินทางจากบ้านพักอาศัยไปยังแหล่งงานของคนจนเมืองเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เหตุผลว่าทำไมการมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานสำหรับคนจนเมืองนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะแหล่งงานสำหรับคนจนเมืองส่วนมากนั้นอยู่ในพื้นที่เมือง อย่างงานแม่บ้านในห้างสรรพสินค้า งานรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เอกชน งานค้าขายแผงลอยในพื้นที่ชุมชน หากต้องย้ายออกจากเมืองไปอยู่ชานเมือง การเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองให้ทันเวลาเข้างานนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการขนส่งสาธารณะเข้าไม่ถึงพื้นที่ห่างเมืองเหล่านั้น และพวกเขาไม่มีกำลังในการซื้อรถส่วนตัว ต่างจากชนชั้นกลางที่มีความสามารถในการเข้าถึงขนส่งสาธารณะและมีรถส่วนตัว
หากจะให้ไปหางานใหม่บริเวณนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เช่น จะขายของหาบเร่แผงลอยก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นที่ขาย ไม่มีแหล่งลูกค้า จะขับวินมอเตอร์ไซค์ก็ทำไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ล้วนมีกลุ่มเจ้าถิ่นจับจองอยู่ก่อนแล้ว
“เรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจใหม่คือ เราเอาเส้นความยากจนมาวัดคนจนเมืองไม่ได้ เราเห็นหลายคนที่รายได้แต่ละเดือนอาจจะไม่ได้ต่ำมาก อาจจะมีหลักหมื่นขึ้น แต่ต้นทุนการใช้ชีวิตในเมืองมันแพงมาก ข้าวของทุกอย่าง สินค้าอุปโภคบริโภคแพงกว่าที่อื่น แล้วถ้าเขาต้องไปอยู่นอกเมือง เสียค่ารถเข้ามาอีก เสียเวลาเพิ่มอีก มันไม่มีทางอยู่ได้
“ไม่ต้องคิดว่าคนจนเมืองก็ได้ มองแค่นักศึกษามหาวิทยาลัย นักศึกษาแต่ละคนตอนเรียนอาศัยอยู่หอพักใกล้มหาวิทยาลัย ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง เงินแต่ละเดือนได้จากที่บ้านอาจจะประมาณหมื่นกว่าๆ ไม่ถึงหมื่น ก็อยู่กันได้ แต่พอจบปุ๊บ หลายคนก็มาเล่าให้ผมฟังแล้วว่าเครียดมาก เพราะต้องหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือถ้าอยู่ไกลจากที่ทำงานค่าเดินทางก็แพงมาก เงินเดือน 15,000 ไม่พอแน่ๆ แต่ละคนก็ต้องพยายามหามากขึ้นหน่อยเป็น 18,000 ซึ่งก็หายากมากเหมือนกัน”
ทำไมต้องรางรถไฟ
สำหรับในส่วนของชุมชนเมืองแออัดหรือสลัม เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าสมาชิกของชุมชนพิจารณาเรื่องปัจจัยในด้านการเดินทางไปทำงานที่สะดวก หากเมื่อกล่าวถึงชุมชนริมทางรถไฟ หนึ่งในคำถามคงไม่พ้นคือ ทำไมผู้คนจึงเลือกมาอาศัยขนานกับพื้นที่เสี่ยงอันตรายและเต็มไปด้วยเสียงอึกทึกคึกโครมยามรถไฟขับผ่าน
บุญเลิศเริ่มต้นให้ข้อมูลในส่วนนี้ว่า ปรากฏการณ์ที่คนจนเมืองมาอยู่ในพื้นที่ของรถไฟนั้นไม่ได้มีแค่ประเทศไทย แต่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากล้วนมีผู้คนอาศัยอยู่ริมทางรถไฟและมีปัญหาพิพาทกับรัฐเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นในอินเดียหรือฟิลิปปินส์ที่เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วก็มีการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟในมะนิลาไปกว่า 10,000 ครัวเรือน ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นรางรถไฟก็คือ ในยุคก่อนพื้นที่รกร้างมักเป็นพื้นที่ริมทางรถไฟ และพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกเจ้าของพื้นที่พัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน
สาเหตุที่พื้นที่ริมทางรถไฟมักจะเป็นพื้นที่รกร้าง เพราะว่าการรถไฟไม่ว่าจะที่ใดก็ตามมักเป็นผู้ที่ถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มาซึ่งสิทธิ์ในการสร้างรางรถไฟบนพื้นที่เหล่านั้น ในส่วนของประเทศไทยเอง รฟท. ถือครองที่ดินกว่า 2.3 แสนไร่ หากใช่ว่า รฟท. จะสร้างรางรถไฟบนพื้นที่นั้นจนเต็มพื้นที่ แต่เป็นลักษณะของการใช้ประโยชน์เพียงบางส่วนตามแผนเส้นการเดินทางที่วางไว้
เมื่อพื้นที่ถูกใช้งานเพียงบางส่วน กอปรกับ รฟท. เองไม่สามารถดูแลพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟได้ครอบคลุมทุกสัดส่วน ส่วนที่ตัดผ่านเมืองหรือพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ในเมืองมักถูกทิ้งให้กลายเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่อไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ และปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าขนาดใหญ่มาหลายสิบปี ก็มีคนเข้าไปจัดการพื้นที่ให้กลายเป็นส่วนอยู่อาศัยในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ผู้เข้าไปอยู่อาศัยบางส่วนก็เป็นเหล่าแรงงานก่อสร้างทางรถไฟหรือว่ากลุ่มคนที่ทำงานให้กับ รฟท. มาก่อน ด้วยปัจจัยที่ว่า การอาศัยอยู่บนพื้นที่ริมทางรถไฟมีความสะดวกต่อการทำงาน
เช่น กรณีของชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน
กรณีของชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันนั้นเป็นภาพที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนของข้อมูลทั้งสองชุดที่บุญเลิศได้เล่ามา ในกรณีแรกก็คือ ชาวบ้านเห็นว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวนั้นเป็นที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า จึงได้เข้าไปจับจองก่อสร้างพัฒนาจนเป็นชุมชน เป็นที่อยู่อาศัย และในกรณีต่อมาคือส่วนหนึ่งผู้ที่มาอาศัยในพื้นที่ของ รฟท. บริเวณย่านมักกะสันก็เป็นลูกจ้างของ รฟท. เองที่เป็นแรงงานราคาถูก เป็นกรรมกรที่ทำไม้หมอนรถไฟ และเลือกเอาพื้นที่บริเวณที่ใกล้กับแหล่งงานของตนเป็นที่อยู่อาศัย หรือในบางกรณีที่ได้อยู่ในที่พักอาศัยของ รฟท. แต่เมื่อเกษียณอายุแล้วยังไม่มีที่อยู่อาศัย ก็เข้าไปอยู่อาศัยในชุมชนเหล่านี้แทน
คนจนกับรางรถไฟ ปัญหาที่ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ
ปัญหาเรื่องชุมชนโดยรอบทางรถไฟนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแทบทุกหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศที่ต้องการการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากในการพัฒนาเมืองอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ได้วางแผนรองรับผู้คนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย
ณัฐวุฒิ กรมภักดี เจ้าหน้าที่กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในแง่หนึ่ง รถไฟนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางอพยพย้ายถิ่นฐาน ในอดีตนั้นคนที่เข้ามาอยู่บริเวณริมทางรถไฟตามต่างจังหวัด มีทั้งคนที่อยู่ในบริเวณจังหวัดนั้นๆ ที่เดินทางเข้ามาในส่วนเมืองเพื่อหาพื้นที่และโอกาสทำกิน โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น
อย่างชุมชนรถไฟในภาคอีสานก็เกิดจากการที่ผู้คนรอบนอกจังหวัดที่เส้นทางรางรถไฟพาดผ่าน โยกย้ายถิ่นอาศัยขยับเข้ามาอยู่ใกล้กับเขตเมือง เพราะพวกเขารู้ว่าพื้นที่เมืองต้องการแรงงานในการสร้างทางรถไฟหรือว่าสร้างถนน ดังนั้นเมื่อเดินทางเข้ามาแล้ว ก็มาอาศัยอยู่ตามพื้นที่ที่ไม่มีคนจับจองอยู่ก่อนแล้ว
“รถไฟในภาคอีสานเริ่มมีความสำคัญขึ้นในช่วงสงครามเย็น สงครามเวียดนาม เพราะแถบภาคอีสานมีฐานทัพของอเมริกาอยู่หลายที่ อเมริกาก็ลงทุนสร้างถนนมิตรภาพ สร้างทางรถไฟไว้ขนของขนส่งจากกรุงเทพฯ คนที่เข้ามาทำงานแต่ก่อนก็เข้ามาทำรางรถไฟ ทำไม้หมอน ทำถนนมิตรภาพ แล้วด้วยความที่การรถไฟที่เยอะและไม่มีคนอยู่ คนก็เลยไปอยู่กัน”
ณัฐวุฒิได้อธิบายต่อว่า การเกิดขึ้นของชุมชนเมืองในบริเวณโดยรอบริมทางรถไฟในหัวเมืองใหญ่ๆ ช่วงแรกนั้นมีความคล้ายกับการเกิดขึ้นของชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งงานจำนวนมาก เพราะลักษณะทั่วไปของสถานีรถไฟในหัวเมืองใหญ่ๆ นั้นจะเป็นพื้นที่ชุมชน มักจะมีตลาดขนาดใหญ่อยู่เพื่อขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอื่นที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับรางรถไฟ
ตลาดเหล่านี้เป็นแหล่งงานของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเป็นแรงงานแบกหาม ขนสินค้าต่างๆ ที่ขนส่งมากับรถไฟหรือรับจ้างในตลาด เมื่อคนเหล่านี้เข้ามาโดยไม่มีที่อยู่ จึงจับจองเอาพื้นที่ที่รกร้างของการรถไฟเป็นที่อยู่อาศัย จากนั้นก็ชักชวนเพื่อนฝูงหรือญาติมิตรที่ถิ่นฐานของตนเข้ามาทำงานร่วมกัน หรือว่าย้ายมาอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน
ต่างพื้นที่ ปัญหาเดียวกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟในบริเวณภาคอีสานคือ การขยายเส้นทางรถไฟทางคู่และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงต่อเนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาถึงหนองคาย โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักจะกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในพื้นที่ที่ทางรถไฟดังกล่าวตัดผ่าน ได้แก่ ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย
ณัฐวุฒิเล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องที่ดินรถไฟนั้นมีทั้งความเหมือนและความต่างกับปัญหาที่ดินของ รฟท. ในกรุงเทพฯ ความเหมือนคือ หลายชุมชนริมทางรถไฟในภาคอีสานเข้ามาอยู่อาศัยโดยไม่มีการเช่าที่กับการรถไฟ ชุมชนเหล่านี้จึงเป็นชุมชนที่มีความเสี่ยงในการโดนไล่รื้อมากที่สุด โดยที่อาจะไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เพียงแค่จังหวัดขอนแก่นจังหวัดเดียวอาจมีมากกว่า 20 ชุมชนที่จะพบกับปัญหาเหล่านี้ในอนาคต
และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาคือ เป็นชุมชนที่ได้เช่าที่กับทาง รฟท. โดยผ่านการเจรจาต่อรองในอดีต แต่โดยกฎหมายของ รฟท. เองไม่ได้มีการให้เช่าที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้สิ่งนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่ว่า ถ้าหากเกิดการไล่รื้อขึ้น ผู้คนในชุมชนจะได้รับการเยียวยาหรือไม่
ณัฐวุฒิกล่าวถึงการบอกกล่าวและการเตรียมตัวในการไล่รื้อว่า “วิธีคิดของระบบราชการเป็นปัญหา เพราะจริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้มันแก้ไขและหาทางออกร่วมกันได้ รัฐสามารถจัดสรรที่อยู่ต่างๆ ให้กับคนย้ายไปอยู่ได้ แต่ส่วนมากรัฐจะขยับตัวช้า มักจะมาบอกกันในช่วงที่อีกไม่กี่เดือนก็จะต้องย้ายแล้ว ทำให้การเจรจาต่อรองเกิดขึ้นได้ยาก
“เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วเคยมีการไล่รื้อ โดยที่บอกกล่าวล่วงหน้าช้ามาก ทำให้คนส่วนหนึ่งต้องกลายไปหาห้องเช่าราคาถูกอยู่ กลายเป็นคนจนในห้องเช่าที่คุณภาพชีวิตแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ บางส่วนก็กลายเป็นคนไร้บ้านอย่างถาวรไปเลย”
โอกาสที่ไม่เท่าเทียม
ฝั่งความแตกต่างของชุมชนริมทางรถไฟในต่างจังหวัดกับชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ ณัฐวุฒิเทียบในส่วนของขนาดชุมชน โดยเราอาจเห็นชุมชนขนาดใหญ่มากมายในกรุงเทพฯ และในบางพื้นที่ก็ยังคงมีการขยายขนาดอย่างต่อเนื่อง แต่ในต่างจังหวัดชุมชนเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่าและไม่ค่อยขยายตัวเช่นเดียวกับเมืองหลวง โดยความแตกต่างนี้เป็นเพราะ 2 สาเหตุใหญ่ด้วยกัน
สาเหตุแรกคือการเปลี่ยนแปลงวิธีการขนส่งที่รถไฟเริ่มหมดความสำคัญในด้านการขนส่งสินค้า เพราะเมื่อถนนหนทางพัฒนาขึ้นแล้ว การขนส่งสินค้าก็หันไปเส้นทางนี้แทน ทำให้ตลาดขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้สถานีรถไฟหัวเมืองหลายๆ ที่เริ่มร้างรา โอกาสในการทำงานก็เริ่มหายไป เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีการย้ายถิ่นฐานของแรงงานเข้ามาอยู่ในพื้นที่
สาเหตุประการต่อมาคือ การขยายตัวของเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน
“ที่ชุมชนในกรุงเทพฯ ยังมีขนาดใหญ่อยู่ ส่วนหนึ่งก็เพราะคนชนบทยังเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ยังเป็นศูนย์รวมของโอกาสอยู่ ถึงเราจะพยายามพูดถึงการกระจายอำนาจยังไงก็ตาม แต่เราสังเกตได้เลยว่าคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะคนจน ก็ยังมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพราะเป็นที่ที่มีโอกาสในการทำงาน”
การขยายตัวของเมืองด้วยอัตราเร่งที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ ทำให้แหล่งงาน แหล่งอาชีพ กลับไปกระจุกตัวอยู่ที่เมืองหลวงของประเทศไทย ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องหันหน้าเข้ากรุงเทพฯ คนจนในหัวเมืองจำนวนมากต้องอพยพเข้าสู่เมืองหลวงหรือเพื่อไปเป็นคนจนในเมืองที่ใหญ่กว่า แต่มีโอกาสในการทำกินมากกว่า
การพัฒนาที่ผิดผลาด ทำให้ชนบทล่มสลาย
หากกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของชุมชนริมทางรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเมืองหลวงหรือว่าเมืองใหญ่ที่มีเส้นทางรถไฟพาดผ่าน ว่าเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเข้าเมืองของแรงงานที่จำเป็นต้องหาพื้นที่ใกล้แหล่งงานเป็นที่อยู่อาศัย และด้วยเงื่อนไขเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย นำไปสู่การเลือกพื้นที่รกร้างริมทางรถไฟที่ไม่มีใครประโยชน์ก่อนหน้าเป็นแหล่งพักพิง
หากพื้นที่ที่เรียกว่าบ้านเหล่านี้ไม่สามารถเป็นพื้นที่อยู่อาศัยได้นิรันดร์ เนื่องจากในทางกฎหมายแล้วที่ดินเหล่านี้มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้มีสิทธิ์เด็ดขาดในการใช้สอยพื้นที่ หากวันหนึ่งเจ้าของต้องการนำที่ดินไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อ ก็เกิดการขับไล่ออกจากพื้นที่ขึ้น
คมสันต์ จันทร์อ่อน เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องที่อยู่อาศัยกับคนจนเมืองเกิดขึ้นเพราะการพัฒนาที่ผิดผลาดของรัฐ ทำให้ชนบทล่มสลาย และคนจำนวนมากต้องกลายมาเป็นแรงงานราคาถูกในยุคที่ไทยเริ่มพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในช่วงแรก อย่างในส่วนของแรงงานในภาคการเกษตรที่ย้ายเข้ามาเป็นแรงงานในเมืองเพื่อพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม
ปัญหาคือ รัฐเองต้องการแรงงานจำนวนมากสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่รัฐไม่ได้เตรียมตัวหาพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่ย้ายเข้ามาว่าจะต้องไปอยู่ตรงไหนอย่างไร ไม่ได้วางแผนหรือเตรียมตัวจนทำให้เกิดปัญหาที่อยู่อาศัยขึ้น แรงงานจำนวนมากจึงต้องเข้ามาบุกเบิกพื้นที่เพื่อหาที่อยู่อาศัย
คมสันต์ตั้งคำถามกับการพัฒนาที่อิหลักอิเหลื่อของรัฐไทยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของแรงงานว่า จากแนวทางของฝ่ายนโยบายประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมหรือประเทศอุตสาหกรรมกันแน่ เพราะในทางหนึ่งรัฐก็ให้ความสำคัญกับการอัดฉีดภาคอุตสาหกรรมอย่างมากผ่านการลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรม หากในเวลาเดียวกันรัฐกลับบอกว่า ยังมีความต้องการให้ประเทศเดินหน้าในรูปแบบของการขยับเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรม
“ในอดีตแน่นอนว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่พอมาวันนี้ประเทศเราเน้นอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมกันแน่ เรามีโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งเกิดขึ้น แต่ในทางหนึ่งเราก็บอกให้คนกลับบ้านไปทำไร่ไถนา คำถามคือรัฐจะพัฒนาไปทางไหน”
กลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึง
เมื่อมีคำถามว่า หากการทำงานในเมืองหลวงมีข้อจำกัดในหลายมิติ ทำไมผู้คนเหล่านี้จึงไม่กลับบ้านเกิดของตนเอง คมสันต์ขยายความต่อไปว่า การกลับต่างจังหวัดหรือกลับบ้านนอกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด ไม่เหมือนอย่างในโฆษณาที่จะสามารถกลับไปได้ง่ายๆ เพราะคนจำนวนมากก็ไม่มีที่ดินในพื้นที่บ้านเกิดเหลืออยู่แล้ว เพราะถูกกว้านซื้อไปจนหมดในช่วงที่ราคาที่ดินทะยานขึ้น หลายคนขายที่ดินเพื่อนำมาเป็นต้นทุนการแสวงโชคผ่านการเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ หรือไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายเพื่อการมีชีวิตในเมืองหลวงก็สูง ไม่ได้เหลือเฟือสำหรับเก็บออมเป็นเงินก้อนใหญ่ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา การจ้างงานในเมืองหลวงถดถอยลง คนเหล่านี้ก็ไม่เหลือที่ดินให้ลงทุนหรือบ้านให้กลับแล้ว
“อีกปัญหาที่สำคัญคือ เราบอกกันว่าถ้าอยู่ในเมืองไม่ได้ก็กลับบ้าน คำถามคือกลับไปแล้วจะไปทำอะไร แน่นอนว่ามีบางคนที่ทำไร่ไถนาเป็นหรือพอมีที่ดินอยู่บ้าง แต่การทำการเกษตรก็ต้องมีต้นทุน ทั้งราคาค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน เชื้อเพลิง คำถามคือคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำอยู่ในเมืองแบบนี้กลับไปแล้วจะทำมาหากินแบบนั้นได้อย่างไร จะเอาทุนจากที่ไหนมาทำ”
คมสันต์อธิบายต่ออีกว่า คนจนเมืองจำนวนมากก็ไม่ใช่คนต่างจังหวัดเสียทั้งหมด คนต่างจังหวัดหลายคนเมื่อมีครอบครัวอยู่ที่นี่ก็กลายเป็นคนกรุงเทพฯ ไปแล้ว หลายคนเป็นลูกหลานของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ รุ่นที่ 2 ที่ 3 ที่เมื่อถึงยุคสมัยของตนเองก็ไม่มีที่ดินอยู่ที่ต่างจังหวัดแล้ว หรือกล่าวได้ว่าเกิดมาโดยไม่เคยมีที่ดินหรือสิทธิ์ในที่ดินเลย การกลับไปบ้านเกิดของครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ปัญหาใหญ่คือทัศนคติ
ถัดจากเรื่องของการมองว่าคนจนเมืองบุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่รกร้างโดยไม่มีสิทธิ์ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ ทัศนคติที่มองว่าชุมชนเมืองเป็นแหล่งเสื่อมโทรม แหล่งรวมยาเสพติด
“ในอดีตคำเป็นทางการที่รัฐใช้เรียกชุมชนเมืองคือ แหล่งเสื่อมโทรมและแหล่งวิบัติ จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ เป็นสลัม เป็นชุมชนแออัด สายตาจากคนภายนอกก็มองเข้าไปว่าที่เหล่านี้เป็นแหล่งยาเสพติด มีแต่คนขายยา ในความเป็นจริงคือคนขายยาเสพติดนั้นอยู่บนตึก อยู่คฤหาสน์ทั้งนั้น พอเวลาผ่านไปทางเราก็เริ่มพยายามเปลี่ยนมุมมองคนให้เข้าใจมากขึ้นว่าเราไม่ใช่แค่คนที่มาบุกรุก แต่คนเหล่านี้เป็นคนที่ร่วมพัฒนาให้เมืองเจริญขึ้น คนเหล่านี้คือคนที่ทำให้เมืองอยู่ได้”
คมสันต์ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของคนจนเมือง แรงงานราคาถูก ผู้เป็นฟันเฟืองของทุกฐานเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนในเมืองหลวงว่า
“ถ้าหากบอกว่าคนเหล่านี้ที่เข้ามายึดเอาที่ดินต่างๆ ไม่ควรมีที่อยู่ คำถามคือ เมืองต้องการคนเหล่านี้ไหม เมืองต้องการแรงงานไหม ถ้าไม่มีคนเหล่านี้เมืองอยู่ได้ไหม คนที่บอกให้คนเหล่านี้ออกไปจะมาทำงานแทนคนเหล่านี้ไหม จะมาเป็นแม่บ้าน เป็น รปภ. เป็นวินมอเตอร์ไซค์ หรือทำงานในโรงงาน ทำของรายชิ้น เก็บขยะ กวาดถนน ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ ใครจะทำงานพวกนี้”
Land Sharing คนไม่ต้องย้าย เจ้าของได้ประโยชน์
ทั้งบุญเลิศ ณัฐวุฒิ และคมสันต์ มองว่า ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐในเรื่องนี้มักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะใช้วิธีคิดแบบกลไกตลาดมากเกินไป การจะหาที่ดินมาให้คนจนเมืองอยู่อาศัย รัฐจะใช้วิธีการไปหาที่ดินที่ราคาถูกที่คนเหล่านี้จะผ่อนไหว ซึ่งที่ดินราคาถูกเหล่านั้นก็มักจะอยู่ห่างไกลออกไป และพอห่างไกลออกไปเช่นนั้น คนก็จะไม่ไปอยู่ เพราะมันไกลแหล่งงาน เมื่อไม่มีงานก็ย่อมไม่มีกำลังผ่อนส่ง ทำให้โครงการเหล่านี้ส่วนมากล้มเหลว
บุญเลิศได้เสนอว่า ในทางวิชาการ วิธีการแก้ปัญหาคนจนเมืองจะมีการใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘Land Sharing’ หรือการแบ่งปันที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินแบ่งที่ดินจำนวนหนึ่งที่จะใช้เพื่อพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ให้กับคนจนเมือง เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีที่อยู่อาศัย โดยอาจปรับจากการที่อยู่เป็นชุมชนขนาดใหญ่มาเป็นตึกสูง แต่ทำให้คนเหล่านี้ได้อยู่ในพื้นที่เดิม ได้อยู่ใกล้กับแหล่งงาน หรือทำให้คนเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมพัฒนาไปด้วย เช่น ทำงานในพื้นที่ที่กำลังจะมีการก่อสร้าง หรือทำงานในโครงการเหล่านั้น ในแง่นี้ทั้งเจ้าของที่ดินและผู้อยู่อาศัยก็ได้ประโยชน์ ชาวบ้านเองได้อยู่ในที่อยู่อาศัยเดิม เจ้าของที่ดินอาจได้แรงงานเพิ่มขึ้นหรือได้ผลประโยชน์ทางภาษีด้วยเช่นกัน
ณัฐวุฒิมองว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการมองผ่านมิติกฎหมายที่ตั้งต้นว่า คนมีสิทธิ์เด็ดขาดคือเจ้าของตามกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน ต้องมองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีที่อยู่อาศัย ต้องมีการปฏิรูปการถือครองที่ดิน การเก็บภาษีจากคนที่ถือครองที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก หรือการแบ่งปันพื้นที่เหล่านั้นให้คนจนเมืองเองเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ
คมสันต์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐต้องมีการจัดสรรปันส่วนที่ดินใหม่ให้เหมาะสม ให้คนจนเมืองที่เป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาเมืองมีสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย โดยจะใช้เพียงวิธีคิดด้านกฎหมายและกลไกตลาดเข้ามาแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียวไม่ได้
คมสันต์ทิ้งท้ายว่า ในอนาคตอันใกล้จะมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในเมืองตามมาอีกจากกลุ่มผู้เช่าห้องพักหรือเช่าบ้านพัก เพราะในช่วงวิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมามีคนถูกไล่ออกจากหอพักและห้องเช่าจนกลายเป็นคนไร้บ้านจำนวนมาก หากรัฐยังไม่มีมาตรการที่จะจัดการในเรื่องนี้ และยังเดินหน้าที่จะไล่ที่ชุมชนต่างๆ ต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่ปัญหาชุมชนแออัด แต่จะกลายเป็นปัญหาคนไร้บ้านในอนาคต
การพัฒนาของรัฐที่พลาดผิดหรือคนที่ทำผิดผลาด
จากคำให้สัมภาษณ์ของทั้งสามคนได้สะท้อนให้เห็นว่า ต้นตอของปัญหาการบุกรุกที่ดินของคนจนเมืองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่คนจนที่เห็นแก่ตัว ต้องการมีบ้านอยู่อาศัยใจกลางเมือง แต่เป็นเพราะการพัฒนาเมืองของรัฐเองที่ต้องการแรงงานราคาถูกเข้ามาอย่างมหาศาล โดยที่ไม่ได้มีแผนการรองรับผู้คนที่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามา จนทำให้เกิดชุมชนแออัดจำนวนมากขึ้นในเมือง
ไม่เพียงแต่บริเวณริมทางรถไฟ แต่ชุมชนแออัดแทบทุกแห่งในเมืองล้วนเคยเป็นแหล่งงานหรือแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก่อน เช่น ย่านชุมชนคลองเตย บ่อนไก่ หรือชุมชนแออัดย่านบางนา อุดมสุข ผู้คนที่อยู่อาศัยในชุมชนเหล่านี้ล้วนเคยเป็นผู้ที่พัฒนาเมืองในด้านเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่พัฒนาเมืองในเชิงพื้นที่ ทำให้ที่ดินที่เคยไม่มีราคาและรกร้างว่างเปล่ากลายเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัย เกิดชุมชนขึ้นโดยรอบ กลายเป็นที่ดินที่ทั้งรัฐและเอกชนสนใจเอาโครงการขนาดใหญ่มาลง มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยที่เจ้าของที่ดินเดิมไม่ได้ลงทุนพัฒนาอะไรเลย
สุดท้ายแล้วการทำความเข้าใจปัญหาการบุกรุกหรือบุกเบิกที่ดินของคนจนเมืองอาจไม่สามารถมองเพียงแค่สิ่งใดถูกหรือผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกันการทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของปัญหา ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของรัฐในอดีต และการเข้าใจความสำคัญของโอกาสในการทำมาหาเลี้ยงชีพ
อาจเป็นมิติที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในการทำความเข้าใจปัญหานี้เช่นกัน
ภาพ: Plus Seven