ผลการศึกษาดีเอ็นเอในโครงกระดูก ‘มนุษย์เชดดาร์’ (Cheddar Man) อายุ 10,000 ปี จากคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London) ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ในอังกฤษ พบว่า มนุษย์ยุคแรกที่อาศัยในแผ่นดินอังกฤษมีผิวสีน้ำตาลคล้ำและนัยน์ตาสีฟ้า
โครงกระดูกมนุษย์เชดดาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดถูกขุดพบเมื่อกว่า 100 ปีก่อนภายในถ้ำ Gough’s Cave มณฑลซัมเมอร์เซต ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับต้นกำเนิดและรูปร่างหน้าตาของมนุษย์เชดดาร์ เพราะเมื่อวิเคราะห์จากอายุโครงกระดูกแล้ว เขาน่าจะมีชีวิตในช่วงปลายยุคน้ำแข็ง หรือหลังจากที่มนุษย์กลุ่มแรกเดินทางมาตั้งรกรากในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศอังกฤษ โดยบรรพบุรุษของชาวอังกฤษผิวขาวปัจจุบันก็น่าจะมีต้นตระกูลมาจากมนุษย์กลุ่มนั้น
ก่อนหน้านี้มีการสันนิษฐานว่ามนุษย์เชดดาร์มีผิวและผมสีอ่อนหรือขาวซีด แต่จากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่สกัดจากโครงกระดูกดังกล่าวได้นำไปสู่ข้อสรุปว่า เขามีนัยน์ตาสีฟ้า ผิวสีน้ำตาลเข้มหรือดำ และผมดำหยักศก
ผลการศึกษาพบว่า ยีนที่กำหนดสีผิวอ่อนซึ่งกระจายอยู่ในประชากรยุโรปเพิ่งจะพัฒนาขึ้นในภายหลัง จากเดิมที่มีการสันนิษฐานว่าอาจมีมาก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผลวิจัยยังสนับสนุนแนวคิดที่ว่า สีผิวไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ตามต้นกำเนิดทางภูมิศาสตร์เสมอไปอย่างที่เรามักเข้าใจผิดกัน
Yoan Diekmann นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ยอมรับว่า การเชื่อมโยงระหว่างความเป็นคนอังกฤษกับความขาวอาจไม่จริงเสมอไป
ผลการศึกษายังพบว่า มนุษย์เชดดาร์มีต้นกำเนิดในตะวันออกกลาง โดยบรรพบุรุษของเขาอาจเดินทางจากแอฟริกามาตะวันออกกลางก่อนจะย้ายไปยุโรปในเวลาต่อมา จากนั้นก็ได้เดินทางข้ามดินแดนด็อกเกอร์แลนด์ (Doggerland) ที่เชื่อมระหว่างอังกฤษกับแผ่นดินยุโรปในยุคบรรพกาล
อ้างอิง: