×

อิตัลไทย ไม่ใช่ อิตาเลียนไทย?

09.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • อิตัลไทยและอิตาเลียนไทยเป็นคนละบริษัทกัน มีผู้บริหารคนละทีม
  • อิตัลไทยไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่อิตาเลียนไทยจดทะเบียนในชื่อหุ้น ITD
  • อิตัลไทยมีรายได้หลักจากการบริการและไลฟ์สไตล์ ส่วนอิตาเลียนไทยมีรายได้หลักจากการก่อสร้าง

ไม่เพียงแต่ชื่อที่คล้ายกันมากเท่านั้น แต่ที่มาที่ไปของทั้งอิตัลไทยและอิตาเลียนไทยก็เกี่ยวพันกันและยากที่จะแยกออกจากกันโดยง่าย จนเมื่อเกิดข่าวของเบอร์ 1 อิตาเลียนไทยอย่าง ‘เปรมชัย กรรณสูต’ ที่ถูกจับกุมพร้อมอาวุธปืนและซากสัตว์ขึ้น ทางอิตัลไทยจึงรีบออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับอิตาเลียนไทยแต่อย่างใด

 

สิ่งที่สังคมสงสัยคืออิตัลไทยคือใคร? ไม่ใช่บริษัทในเครืออย่างที่เคยเข้าใจกันหรอกหรือ?

 

อิตัลไทยมาก่อนอิตาเลียนไทย

เมื่อตรวจสอบประวัติของอิตัลไทยผ่านเว็บไซต์ ได้ชี้แจงที่มาของบริษัทดังนี้

 

กลุ่มบริษัทอิตัลไทยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยหุ้นส่วนคนไทยคือ ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต และมิสเตอร์จิโอจิโอ เบลลินเจียรี่ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนชาวอิตาลี จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กลุ่มบริษัทอิตัลไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งจนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มธุรกิจแนวหน้าของประเทศ กลุ่มบริษัทอิตัลไทยดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท อันได้แก่ ธุรกิจเครื่องจักรกลหนัก ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร ธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ และธุรกิจไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร รวมถึงการนำเข้าสินค้าต่างๆ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทอิตัลไทยมีพนักงานกว่า 5,000 คน ใน 7 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก

 

ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนคือทั้งอิตัลไทยและอิตาเลียนไทยก่อตั้งโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันคือ หมอชัยยุทธ กับมร.เบลลินเจียรี่ โดยเริ่มต้นจาก บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด เมื่อปี 2489 แบ่งกันถือหุ้นคนละ 50% เป็นบริษัทแรกของอิตัลไทยกรุ๊ป เริ่มธุรกิจจากการเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าและจัดจำหน่ายในลักษณะเทรดเดอร์ จนเมื่อปี 2501 ทั้งสองจึงก่อตั้ง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ในเวลานั้นแวดวงธุรกิจทราบดีว่าหมอชัยยุทธมีความใกล้ชิดกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นอย่างดี ประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างถนนเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร จึงไม่น่าแปลกที่อิตาเลียนไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทแนวหน้าของวงการก่อสร้างอย่างรวดเร็วและเป็นธุรกิจหลักของเครือในที่สุด

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอิตัลไทยเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2524 มร.เบลลินเจียรี่เสียชีวิตกะทันหันด้วยอาการหัวใจวายโดยที่ไม่มีผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา ตระกูลกรรณสูตจึงซื้อหุ้นคืนจากครอบครัวของเขา และโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาจนถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

อิตาเลียนไทยมีประธานบริหารคือ เปรมชัย กรรณสูต ขณะที่อิตัลไทยมี ยุทธชัย จรณะจิตต์ เป็นประธานเจ้าหน้าบริหาร แม้จะคนละนามสกุล แต่ก็มีความเกี่ยวพันทางสายเลือด โดยยุทธชัยเป็นบุตรของ นิจพร จรณะจิตติ์ (กรรณสูต) พี่สาวของเปรมชัย ซึ่งปัจจุบันนิจพรถือหุ้นอยู่ในอิตาเลียนไทยเป็นอันดับสองที่ 7.04% และพ่อของเขาคือ อดิสรณ์ จรณะจิตติ์ อดีตเบอร์ 1 ของอิตัลไทยที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อปี 2546 ทำให้ยุทธชัยต้องขึ้นมาดูแลอิตัลไทยต่อในวัยเพียง 24 ปีจนถึงปัจจุบัน

 

เว็บไซต์ของอิตัลไทยระบุว่ามี 4 กลุ่มธุรกิจคือ ธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร ธุรกิจอุตสาหกรรมการบริการ และกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ ซึ่งผู้บริหารอิตัลไทยเคยให้ข้อมูลว่ารายได้หลักของอิตัลไทยคือการบริการและไลฟ์สไตล์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือรับเหมาก่อสร้างและสินค้าอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทสำคัญในอิตัลไทยกรุ๊ปคือ

 

  1. อิตัลไทยอุตสาหกรรม – นำเข้าเครื่องจักรกล
  2. อิตัลไทยวิศวกรรม – ทำงานผู้รับเหมา งานระบบไฟฟ้าและพลังงาน
  3. ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป – รับบริหารจัดการโรงแรม รีสอร์ต และสปา,
  4. อิตัลไทยฮอสพิทาลิตี้ – นำเข้าชา ไวน์ และน้ำผลไม้
  5. ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ (เจริญกรุง)

 

อิตัลไทยตั้งเป้าจะมีรายได้แตะ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 นี้ ขณะที่รายได้ปีล่าสุดมากกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทแล้ว

 

ถ้าพิจารณาจากกระดาษและตัวอักษรก็ชัดเจนว่าอิตัลไทยและอิตาเลียนไทยเป็นคนละบริษัท อิตาเลียนไทยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 ชื่อหุ้นที่ทุกคนรู้จักคือ ITD แต่อิตัลไทยนั้นไม่ได้เข้าตลาดด้วย อิตาเลียนไทยทำธุรกิจก่อสร้างเป็นหลัก ขณะที่อิตัลไทยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอื่น ล่าสุดทีมประชาสัมพันธ์ของอิตัลไทยพยายามที่จะชี้แจงเรื่องนี้และระบุว่า

 

“การบริหาร รวมทั้งคณะผู้บริหาร กลุ่มบริษัท และบริษัทในเครือ ทางกลุ่มบริษัทอิตัลไทยไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับ บมจ. อิตาเลียนไทย ตามที่คนทั่วไปเข้าใจผิดกันมาโดยตลอด”

 

ไม่เกี่ยวข้อง แต่จะเกี่ยวพัน สัมพันธ์ ผูกพันกันอย่างไร คนในแวดวงธุรกิจพอจะทราบคำตอบดีพอๆ กับที่คนธรรมดาอย่างเราๆ รู้ดีว่า ‘เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X