การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง เหตุเศรษฐกิจของประเทศตลาดหลักมีสัญญาณอ่อนแรง นอกจากนี้การส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มแผ่วลง สะท้อนจากเครื่องชี้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดว่า การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง โดยเฉพาะตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือนสิงหาคมที่ปรับลดลงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป ปัญหาภัยแล้ง และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในจีนทำให้มีการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
นอกจากนี้ แม้ว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตดีนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด แต่ก็มีแนวโน้มชะลอตัวหลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายลงในหลายประเทศ ทำให้สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงล็อกดาวน์ปรับลดลง ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลกเข้าสู่ช่วงขาลง และอาจกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด
อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีแนวโน้มได้รับผลดีจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงการปรับขึ้นภาษีส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่จะทำให้ผู้ส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากราคาที่ปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 23,632 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.5% จากปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 4.3% และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่คลี่คลายลง ส่งผลดีต่อการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กลับมาขยายตัวได้ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าขึ้นส่งผลให้การส่งออกยังเติบโตได้ดี
โดยการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกขยายตัว 11.0% ส่วนการส่งออกทองคำเดือนนี้กลับมาขยายตัว 16.7% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 7.4% จากปีก่อน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP