×

อนุทิน เตรียมชง ครม. อนุมัติค่าตอบแทน อสม. และ อสส. 1.05 ล้านคน คนละ 2,000 บาท ขอบคุณที่ร่วมต่อสู้โควิดจนสำเร็จ

โดย THE STANDARD TEAM
26.09.2022
  • LOADING...

วันนี้ (26 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 กันยายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,100.61 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,039,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวม 1,050,306 คน ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2565 รวม 4 เดือน ในอัตรา 500 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็น 2,000 บาทต่อคน  

 

ทั้งนี้ เงินดังกล่าวเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย เสี่ยงภัย และสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของ อสม. และ อสส. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิดในชุมชน ในช่วงระยะเวลาที่โควิดยังคงเป็นโรคติดต่ออันตราย  

 

“รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายค่าตอบแทนแก่ อสม. และ อสส. ตามนโยบายที่ รมว.สาธารณสุขได้ให้ไว้ว่า จะดูแล อสม. และ อสส. ไปจนกว่าโควิดจะหมดไป เนื่องจากช่วงโควิดแพร่ระบาด อาสาสมัครมีภารกิจมากขึ้น ซึ่งจะต้องไม่เป็นภาระที่อาสาสมัครต้องจ่ายเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันรถส่งยา ค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วย และเก็บข้อมูลสุขภาพประชาชน ซึ่งหาก ครม. อนุมัติงบประมาณในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุน อสม. และ อสส. รวมแล้วเป็นเวลา 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง ตั้งแต่มีนาคม 2563 – กันยายน 2565 ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณอาสาสมัครทุกคนที่ได้ร่วมกันทำงานต่อสู้กับโควิดจนสำเร็จ” ไตรศุลีกล่าว

 

ไตรศุลีกล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทย อสม. และ อสส. นับเป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ จนประเทศไทยสามารถต่อสู้กับโรคระบาดได้สำเร็จ และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โควิดได้ลดระดับจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้ง อสม. และ อสส. จะยังคงเป็นกำลังสำคัญในการเตรียมความพร้อมประเทศเข้าสู่ระยะ Post-Pandemic เช่น การปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การดำเนินงานตามมาตรการของชุมชน เพื่อให้ชุมชนปลอดภัย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X