เศรษฐกิจโลกอาจกำลังเผชิญกับภาวะการณ์ต่างๆ ที่คล้ายกับช่วงวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 1997 ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ประวัติศาสตร์ไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง แต่เตือนว่า เปโซของฟิลิปปินส์ รูปีของอินเดีย บาทของไทย มีแนวโน้มอ่อนค่าเป็นพิเศษในระยะสั้น
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน สู่ระดับ 3.00-3.25% โดยครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ ได้ผลักขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และไหลเข้าสู่สหรัฐอเมริกาแทน ทำให้ค่าเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียอ่อนค่าอย่างหนัก จนก่อให้เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียและทำให้ตลาดหุ้นร่วงหนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยถึงปีหน้า
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ปัจจุบันรากฐานของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมีสุขภาพดีขึ้นและสามารถทนต่อแรงกดดันด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้นแล้ว
โดย Tan Teck Leng ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารฝ่ายแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของเอเชียแปซิฟิกจาก UBS Global Wealth Management ระบุในรายการ Squawk Box Asia ของ CNBC เมื่อวันพฤหัสบดีว่า “เนื่องจากการถือครองทรัพย์สินท้องถิ่นของชาวต่างชาติในเอเชียน้อยลง การไหลออกของเงินทุน (Capital Flights) จึงจะสร้างความเจ็บปวดทางการเงินน้อยลงในครั้งนี้ นอกจากนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน”
เงิน ‘เปโซ’ เปราะบางสุดในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม Tan Teck Len กล่าวว่า ในบรรดาสกุลเงินที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ‘เงินเปโซของฟิลิปปินส์’ คือหนึ่งในสกุลเงินที่เปราะบางที่สุด เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของฟิลิปปินส์ที่อ่อนแอ พร้อมทั้งมองว่า เปโซของฟิลิปปินส์ รูปีของอินเดีย และบาทของไทย มีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้นมากที่สุดในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ธนาคารกลางฟิลิปินส์ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% พร้อมส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก เพื่อลดความเสี่ยงเงินทุนไหลออกและอัตราแลกเปลี่ยนล่มสลาย
ขณะที่ Louis Kuijs หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจาก S&P Global Ratings ระบุว่า เศรษฐกิจที่มีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น กล่าวคือเศรษฐกิจที่ไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยควบคู่ไปกับสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น อาจเผชิญความเสี่ยงที่สกุลเงินจะอ่อนค่าอีก พร้อมทั้งเตือนอีกว่า แรงกดดันด้านค่าเงินในเอเชียอาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการคาดการณ์ว่า Fed จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2023
อย่างไรก็ตาม Louis Kuijs ก็มองว่า วิกฤตทางการเงินในเอเชียไม่น่าเกิดขึ้นอีกครั้งเช่นกัน
สำหรับเงินหยวนของจีน Dwyfor Evans หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เอเชียแปซิฟิกจาก State Street Global Markets ชี้ให้เห็นว่า หยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพมาก
“มีการพูดถึงการอ่อนค่าของเงินหยวนอย่างกว้างกว้าง แต่ในความเป็นจริงค่าเงินหยวนของจีนเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอื่นๆ ปรับตัวได้ค่อนข้างดี” อย่างไรก็ตาม Dwyfor Evans กล่าวเสริมอีกว่า “การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าและออกนอกประเทศสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเงินหยวนในระยะต่อไป”
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP