ขณะนี้นักลงทุนทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่ผลของการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะประกาศผลการประชุมเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 22 กันยายน 2565 (ตามเวลาประเทศไทย)
หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2565 ออกมาสูงกว่าคาด ที่ระดับ 8.3% ทำให้นักลงทุนต่างคาดการณ์กันว่าจะเห็น Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% หรืออาจจะไปได้ถึง 1% สำหรับการประชุมรอบนี้ ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้ค่าเงินอื่นๆ ทั่วโลกอ่อนลงไปตามๆ กัน หนึ่งในนั้นคือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแตะระดับ 37.1 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่ามากสุดในรอบ 16 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และทิศทางของกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) ทั่วโลกน่าจะเริ่มใกล้เข้าสู่จุดสมดุลใหม่อีกครั้ง จากมุมมองของ ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
“ถึงจุดหนึ่งจะเกิดจุดสมดุลใหม่ ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์ไม่แข็งค่าทางเดียวอย่างที่เป็นมา และจะช่วยเปิดให้ปัจจัยอื่นๆ เริ่มส่งผลมากขึ้น เช่น ภาคเศรษฐกิจจริง สิ่งที่ต้องติดตามคือผลการประชุม Fed ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพต่างๆ ชัดมากขึ้น”
ณัฏฐะกล่าวต่อว่า จุดสมดุลใหม่ที่จะเกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ทำให้เงินทุนที่เคยไหลเข้าสหรัฐฯ เพราะดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง จะเริ่มกระจายออกไป
สำหรับประเทศไทยที่เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้ Fund Flow อาจจะชะลอการเข้าหรือถอนออก แต่หลังจากเข้าสู่จุดสมดุล ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะเริ่มกลับมาส่งผลมากขึ้น ขณะที่เงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่านี้เท่าใดนัก
ในมุมของการลงทุนหลังจากที่เกิดจุดสมดุลใหม่ และด้วยสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยจะสูงต่อเนื่องตามวลีสำคัญของ Fed ที่บอกว่า “Higher for Longer” จะทำให้ต้นทุนของเงินทุนไม่ถูกอีกต่อไป ทำให้นักลงทุนต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมากขึ้น
“ดอกเบี้ยจะสูงยาวนาน ทำให้เงินรอไม่ได้เพราะต้นทุนสูงขึ้น เพราะฉะนั้นอะไรที่ยังไม่มีกำไร หรือบอกว่าอีก 5 ปีจะมีกำไร คงต้องอยู่ห่างไว้ก่อน ตอนนี้ต้องเน้นกลุ่มที่โตได้จริง”
หากจะมองเป็นภูมิภาคอย่างเวียดนามที่กำลังเติบโต จีนที่กำลังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไทยที่กำลังฟื้นตัว แม้ว่าจะฟื้นไม่แรงแต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าจะเห็นการเติบโตได้จริง
“การเลือกหุ้นในตอนนี้ต้องเลือกหุ้นที่ถูก ถามว่าถูกคือเท่าใด อย่างน้อยควรจะ P/E ต่ำกว่า 20 เท่า เพราะเมื่อแปลงมาเป็น Earning Yield จะอยู่ที่ 5% ซึ่งพอจะสู้กับต้นทุนดอกเบี้ยได้”
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในระดับโลกที่ยังค่อนข้างถูกและยังมีแนวโน้มจะเติบโตได้ คือกลุ่มพลังงาน เหมืองแร่ และโลหะ ซึ่งยังเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินบาทว่า อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก แม้ว่าอาจจะเห็น Fund Flow ชะลอไปบ้าง แต่ด้วยแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ทำให้เงินทุนไม่น่าจะไหลออกรุนแรง
นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าอย่างมาก ทำให้เราเห็นการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในทิศทางเดียวกันทั่วโลก
สำหรับหุ้นไทย กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทน่าจะเป็นกลุ่มส่งออก โดยมองว่าผู้ส่งออกอาหารน่าสนใจกว่าผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะได้รับแรงกดดันจากการอ่อนตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่า
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP