เกิดอะไรขึ้น:
การที่ประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ได้กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น จาก 7.67 แสนคน ในเดือนมิถุนายน สู่ ~1.4 ล้านคน ในเดือนสิงหาคม (41% ของระดับก่อนเกิดโควิด) ส่งผลทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยรวม ~4.6 ล้านคน ใน 8 เดือนแรก
เมื่ออิงกับข้อมูลอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม InnovestX Research พบว่านักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางฟื้นตัวแข็งแกร่งที่สุด (67% ของระดับก่อนเกิดโควิด ส่วนใหญ่มาจากซาอุดีอาระเบีย) ตามด้วยเอเชียใต้ (66% ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย) สหรัฐอเมริกา (46%) และยุโรป (45%) โดยเอเชียตะวันออกฟื้นตัวช้าที่สุด (27% ส่วนใหญ่มาจากจีน ที่ 3% ของระดับก่อนเกิดโควิด โดยมีสาเหตุมาจากนโยบาย Zero-COVID)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รมว.คลัง คาด GDP ปี 66 โต 3-4% อานิสงส์ท่องเที่ยว ส่งออก และการลงทุนภาครัฐ รับยังห่วงปัญหาเงินเฟ้อ
- ‘ท่องเที่ยว-รายได้เกษตรกร’ หนุนเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ขยับดีขึ้น จับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จ่อกระทบการผลิต การส่งออก
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น MoM ตามรายงานของ AOT สำหรับวันที่ 1-17 กันยายน บ่งชี้ว่าโมเมนตัมที่แข็งแกร่งขึ้นยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะสร้าง Upside ต่อประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ 8 ล้านคน ในปี 2565 และสนับสนุนมุมมองที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งสู่ 25 ล้านคน ในปี 2566
สำหรับนักท่องเที่ยวจากจีน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) รายงานว่า สำนักงานการบินพลเรือนจีน (CAAC) ได้เสนอให้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินประจำระหว่างจีนกับประเทศไทย จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 15 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และสายการบินของไทยก็ตอบรับด้วยการยื่นแผนเส้นทางบินต่อ CAAC โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนกันยายน
แม้ว่าจำนวนเที่ยวบินยังน้อยเมื่อเทียบกับที่ประเมินได้ ~1,200 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในปี 2562 แต่มองว่าเป็นพัฒนาการที่ดี InnovestX Research ใช้สมมติฐานว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะทยอยกลับเข้ามาใน 2H65 และจะเข้ามามากยิ่งขึ้นในปี 2566 ที่ ~5 ล้านคน หรือ 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว (SETTOURISM) ปรับเพิ่มขึ้น 5.1%MoM โดย
ราคาหุ้น AOT ปรับเพิ่มขึ้น 1.7%MoM สู่ระดับ 73.25 บาท
ราคาหุ้น AWC ปรับเพิ่มขึ้น 7.3%MoM สู่ระดับ 5.90 บาท
ราคาหุ้น CENTEL ปรับเพิ่มขึ้น 8.0%MoM สู่ระดับ 47.25 บาท
ราคาหุ้น ERW ปรับเพิ่มขึ้น 10.0%MoM สู่ระดับ 4.20 บาท
ราคาหุ้น MINT ปรับลดลง 14.2%MoM อยู่ที่ระดับ 28.75 บาท
ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 1.1%MoM สู่ระดับ 1,644.19 จุด
มุมมองต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย:
ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ERW, CENTEL และ AWC ซึ่งโรงแรมตั้งอยู่ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ รายงานอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น QoQ (แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด) อัตราการเข้าพัก (ไม่รวม HOP INN) ของ ERW อยู่ที่ ~65% (เทียบกับ 55% ใน 2Q65) CENTEL (ไม่รวม JV ในประเทศดูไบ) อยู่ที่ ~53% (เทียบกับ 46% ใน 2Q65) และ AWC อยู่ที่ ~50% (เทียบกับ 43% ใน 2Q65)
อัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ARR) ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด ด้วยเหตุนี้ InnovestX Research จึงคาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องที่มีทั้งหมด (RevPar) จะอยู่ที่ ~90% ของระดับก่อนเกิดโควิด สำหรับ ERW ~80% สำหรับ CENTEL และ ~63% สำหรับ AWC ซึ่งจะหนุนให้ผลประกอบการ 3Q65 ปรับตัวดีขึ้น YoY และ QoQ
ยกเว้น MINT เพราะแหล่งรายได้หลักอยู่ในยุโรป ซึ่งไตรมาส 3 เป็น Low Season โดย RevPar และผลประกอบการจะอ่อนตัวลง QoQ แต่เพิ่มขึ้น YoY ใน 3Q65
หุ้นเด่นกลุ่มท่องเที่ยว InnovestX Research เลือก AOT และ ERW เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศสูง และภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เป็นบวก จะหนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ในขณะที่เชื่อว่า AWC จะได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้ว 22% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งให้มี Upside จำกัด จึงนำออกจากการเป็นหุ้นเด่นและปรับลดคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือน ลงสู่ NEUTRAL (จาก OUTPERFORM)
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและความต้องการเดินทาง และ
- นักท่องเที่ยวจากจีนฟื้นตัวช้า