×

7 Things We Love About Alexander McQueen ดีไซเนอร์หัวขบถ ผู้เปลี่ยนแฟชั่นไปตลอดกาล

16.09.2022
  • LOADING...
Alexander McQueen

Lee Alexander McQueen (ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน) ชื่อที่แทบไม่ต้องเกริ่นนำถึงความยิ่งใหญ่ของเขาในโลกของแฟชั่น ดีไซเนอร์ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ของแฟชั่น งานของเขาเป็นมากกว่าแค่เสื้อผ้า มันคืองานศิลปะที่สามารถสวมใส่ได้ 

 

แม้เขาได้จากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม แต่ความเป็นตำนานของเขาไม่เคยจางหายไปเลย ดีไซเนอร์หัวขบถผู้ท้าทายขอบเขตงานดีไซน์อยู่เสมอ แฟชั่นโชว์ของเขาทลายกรอบการทำโชว์แบบเดิมไปตลอดกาล เสื้อผ้าอันแสนวิจิตรถูกถ่ายทอดผ่านแฟชั่นโชว์ช็อกสายตาผู้ชม ที่แม้แต่ปัจจุบันยังไม่มีดีไซเนอร์คนไหนไปถึงในจุดที่เขาทำได้อีกเลย 

 

เพื่อเป็นการรำลึกถึงดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่จากแดนอังกฤษ THE STANDARD POP จะพาทุกคนย้อนกลับไปถึง 7 ปัจจัยหลักว่าทำไม Alexander McQueen ถึงประสบความสำเร็จขนาดนี้ 

 

Alexander McQueen

 

STRONG AMBITION SINCE THE START 

 

Lee Alexander McQueen เกิดและโตที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นลูกคนเล็กสุดจากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน เขาชื่นชอบงานศิลปะตั้งแต่เด็กและไม่เคยอินกับการเรียนหนังสือแบบปกติเลย เขาเลิกเรียนตอนอายุ 16 ปี และไปขอฝึกงานที่ร้านตัดสูท Anderson & Sheppard ร้านสูทที่ตั้งอยู่บนถนน Savile Row ย่าน Mayfair ซึ่งถือเป็นย่านที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการตัดสูท Tailor Made เขาได้ฝีมืองานตัดเทเลอร์คมกริบจนกลายเป็นซิกเนเจอร์หลักของแบรนด์ Alexander McQueen จากที่นี่ 

 

ไม่นานเขาได้ผันตัวเองไปเป็นช่างทำแพตเทิร์นที่โรงละครชื่อดัง Angels & Bermans ก่อนจะถูกเรียกตัวไปทำงานให้แบรนด์เสื้อผ้าที่ประเทศอิตาลี Romeo Gigli หลังจากสะสมประสบการณ์มาพอสมควร เขากลับมาที่ลอนดอนเพื่อสมัครเข้าเรียนสาขาแฟชั่นดีไซน์ที่ Central Saint Martins คอลเล็กชันจบการศึกษาของเขาได้รับการกล่าวถึงเป็นวงกว้าง และถูกกว้านซื้อทั้งคอลเล็กชันโดยแฟชั่นเอดิเตอร์และสไตลิสต์ชื่อดัง Isabella Blow ที่ภายหลังทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน 

 

Alexander McQueen

 

SHOCKING TACTIC 

 

Alexander McQueen เปิดแบรนด์ของเขาเองในปี 1992 ในชื่อ Alexander McQueen ในช่วงแรกๆ มุมมองของเขามักถ่ายทอดผ่านแนวคิดการล้มล้างกรอบธรรมเนียมประเพณีเดิมๆ เน้นการช็อกผู้ชมด้วยเสื้อผ้าและโชว์ที่มีลักษณะคล้ายละครเวทีมากกว่าแฟชั่นโชว์ปกติทั่วไป ในปี 1995 คอลเล็กชัน Highland Rape ของเขาได้รับกระแสทั้งแง่บวกและลบในคราวเดียว เสื้อผ้างานเทเลอร์ที่ถูกฉีกขาดทำให้ดูราวกับว่าเหล่านางแบบถูกทำร้ายร่างกายมา ดูไม่ค่อยน่ามองนัก แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าเสื้อผ้าของเขาสวยเหลือเกิน โดยเฉพาะงานเทเลอร์ หรือ Bumster ในปี 1995 กางเกงเอวต่ำแบบสุดขีดที่สามารถสร้างกระแสจนเป็นเทรนด์ยุคนั้นไปเลย ความแสบตรงนี้เองทำให้เขาได้ฉายา ‘L’enfant Terrible’ 

 

Alexander McQueen

 

TAILORING TO COUTURIER 

 

ในปี 1996 ฝีมือของเขาเป็นที่โจษจันอย่างมากจนสามารถคว้ารางวัลใหญ่ British Designer of the Year ไปครองได้ ไม่เพียงแค่นั้น เขายังถูกวางตัวให้มารับหน้าที่ดีไซเนอร์ให้กับห้องเสื้อระดับโลกอย่าง Givenchy แทนที่ John Galliano ที่ย้ายไปที่ Christian Dior แทน ซึ่ง LVMH บริษัทแม่ของ Givenchy อนุญาตให้เขาทำแบรนด์ของตัวเองควบคู่ไปด้วยได้ 

 

ผลงานของ Alexander McQueen ที่ Givenchy สร้างความฮือฮาตั้งแต่คอลเล็กชันเปิดตัว เมื่อเขาได้นำเอาความดราม่าและความใหญ่แบบละครเวทีมาผสมผสานลงบนโชว์ของ Givenchy ด้วยเช่นกัน Givenchy เวอร์ชันของเขานั้นดาร์กกว่าต้นฉบับ จนทำให้หลายคนกังวลว่าสิ่งที่เขาทำจะช่วยพยุงแบรนด์ไปได้จริงๆ เหรอ แม้จะอยู่ด้วยกันแค่ 5 ปีเท่านั้น แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของตัวเขาเลย เพราะเมื่อก่อนงานของเขาจะเน้นหนักที่งานเทเลอร์เป็นหลัก แต่ที่ Givenchy เขาได้ค้นพบเทคนิคงานดีไซน์ที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น และนั่นช่วยให้เขาสามารถคราฟต์งานต่อๆ มาในคอลเล็กชันของตัวเองได้อย่างไร้ที่ติ 

 

Alexander McQueen

 

THEATRICAL SHOWSTOPPER 

 

โชว์ของ Alexander McQueen ขึ้นชื่อเรื่องความ ‘ดรามาติก’ แฟชั่นโชว์ของเขามักผสมผสานระหว่างศิลปะการแสดงและละครเวทีเข้าด้วยกันมากกว่ารันเวย์ปกติ หลายโชว์ของเขาขึ้นแท่นแฟชั่นโชว์ที่ดีที่สุดตลอดกาล เช่น VOSS ในปี 2001 รันเวย์ในกล่องกระจกที่สุดท้ายเผยให้เห็นผู้หญิงอวบนอนเปลือยกายอยู่ด้านใน ซึ่งหลายคนมองว่ามันคือการเปรียบเปรยตัวเขาช่วงทำงานที่ Givenchy ที่เขาต้องถูกตีกรอบนั่นเอง 

 

หรือในปี 1999 เมื่อนางแบบ Shalom Harlow ปรากฏกายในเดรสเกาะอกสีขาว ก่อนจะมีหุ่นยนต์ขนาดใหญ่สองตัวพ่นสีลงบนชุดของเธอ โมเมนต์สุดไอคอนิกที่กลายเป็นภาพจำในประวัติศาสตร์ของแฟชั่น เช่นเดียวกับ The Widows of Culloden ในปี 2006 กับภาพโฮโลแกรมของ Kate Moss ที่ลอยเหนือรันเวย์พีระมิด ต่างก็สร้างภาพจำสุดไอคอนิกเช่นเดียวกัน

 

Alexander McQueen

 

THINK OUTSIDE THE BOX

 

Alexander McQueen เคยให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงที่เขาศึกษาแฟชั่นนั้นการไปชมงานแสดงศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ถือเป็นกิจกรรมโปรดของเขา และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมงานของเขามักได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติศาตร์ยุคต่างๆ นั่นเอง ไม่เพียงแค่นั้น เขายังชอบศึกษาและทดลองวัสดุแบบใหม่ เช่น การหยิบฟอร์มของธรรมชาติมาแปรสภาพให้กลายเป็นเครื่องนุ่งห่ม และยังชอบหยิบวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมาตีความในแบบของเขาเองอยู่บ่อยครั้ง 

 

เขาหลงใหลและชอบนำสิ่งที่ขัดแย้งกันมาผสมผสานในการสร้างเรื่องเล่าแบบใหม่ในแฟชั่นโชว์ของเขา เช่น คน vs. เครื่องจักร หรือ ธรรมชาติ vs. เทคโนโลยี ในปี 2010 คอลเล็กชัน Plato’s Atlantis ของเขาถือเป็นแฟชั่นโชว์แบบไลฟ์สตรีมครั้งแรกผ่านเว็บไซต์ SHOWstudio ถือเป็นการคิดนอกกรอบและทลายขนบของแฟชั่นโชว์ในเวลานั้น 

 

Alexander McQueen

 

ART AND COMMERCE

 

ในปี 2000 บริษัท Gucci Group (ปัจจุบันคือ Kering) ได้เข้าซื้อหุ้นของ Alexander McQueen กว่า 51% ตามคำแนะนำของ Tom Ford ดีไซเนอร์ผู้เป็นแรงบันดาลใจของ Alexander McQueen โดยให้เขารับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ตัวเอง แม้เขาจะขึ้นชื่อเรื่องงานดีไซน์ Avant-Garde แต่จริงๆ แล้ว Alexander McQueen สามารถผสมผสานระหว่างงานคราฟต์และงานขายได้อย่างน่าประหลาดใจ คอลเล็กชัน Irere ในปี 2003 เปิดตัวผ้าพันคอลายกะโหลกที่ขึ้นแท่นเป็นแอ็กเซสซอรีขายดีตลอดกาลของแบรนด์ 

 

รวมถึงการทำโปรเจกต์พิเศษกับแบรนด์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่าง Puma กับรองเท้าเทรนเนอร์คอลเล็กชันพิเศษ ณ ตอนนั้นเขาถือเป็นไฮแบรนด์แรกที่จับมือคอลแลบกับแบรนด์รองเท้ากีฬา ซึ่งปัจจุบันกระแสนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และเครื่องสำอาง M.A.C Cosmetics คอลเล็กชันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดาราดัง Elizabeth Taylor รวมถึงน้ำหอมอีกสองกลิ่น Kingdom และ My Queen และในปี 2006 เขาได้เปิดแบรนด์ลูกชื่อ McQ แบรนด์เสื้อผ้าที่เด็กลงและราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า 

 

Alexander McQueen

 

LEGACY NEVER DIE

 

อย่างที่เราเกริ่นไปข้างต้น ผลงานของเขานั้นยอดเยี่ยมจนสามารถชนะรางวัล British Designer of the Year จากเวที The British Fashion Council และยังคว้ารางวัล International Designer of the Year จาก CFDA ในปี 2003 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มอบรางวัล CBE ให้กับผู้ที่ทำผลงานอันดีเยี่ยมให้กับประเทศอังกฤษอีกด้วย 

 

แม้ว่าตัวเขาจะไม่อยู่แล้ว แต่ Alexander McQueen ถือเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ดูได้จากจำนวนผู้เข้าชมงานแสดง Alexander McQueen: Savage Beauty ที่จัดขึ้นที่ The Metropolitan Museum of Art สูงถึง 661,509 คนในระยะเวลา 3 เดือน กลายเป็นหนึ่งในงานแสดงผลงานที่ได้รับความนิยมสูงสุด และ Savage Beauty ยังได้ย้ายมาโชว์ต่อที่ลอนดอน ณ Victoria and Albert Museum สามารถสร้างสถิติผู้เข้าชมสูงที่สุดตลอดกาลกว่า 493,043 คน โดยคอลเล็กชัน Fall/Winter 2010 ถือเป็นคอลเล็กชันสุดท้ายที่เขาดีไซน์ก่อนจากไป และได้ส่งไม้ต่อให้มือขวาอย่าง Sarah Burton มารับช่วงต่อจวบจนปัจจุบัน 

 

ภาพ: Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X