วันนี้ (15 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ และเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2563 วงเงินรวม 995.03 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 3 กิจกรรม
สำหรับความคืบหน้าทั้ง 3 กิจกรรม ประกอบด้วย
- งานด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector เพื่อทดสอบกระบวนการผลิตวัคซีนกลุ่ม Adenovirus ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ ระดับโรงงานต้นแบบ จนถึงระดับอุตสาหกรรม และรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน งบประมาณดำเนินการ 596.24 ล้านบาท ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
- การพัฒนาวัคซีนต้นแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยชนิด mRNA มีงบประมาณดำเนินการ 365 ล้านบาท มีการพัฒนาวัคซีน 2 รุ่น ประกอบด้วย วัคซีนรุ่นที่ 1 (1st Gen ChulaCoV-19, Wild Type) จะใช้เวลาเกินกว่าแผนเดิมที่มีกำหนดเสร็จสิ้นเดือนกันยายน 2565 ประมาณ 4-6 เดือน เนื่องจากมีการปรับกระบวนการผลิต ทำให้ต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัย และความเป็นพิษในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัครเพิ่มเติม เพื่อเทียบเคียงวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ ส่วนวัคซีนรุ่นที่ 2 (2nd Gen ChulaCoV-19, New Variants) ที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน โดยศึกษาในสัตว์ทดลอง จะดำเนินการจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566
- การเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง งบประมาณที่ได้รับ 33.79 ล้านบาท เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนและยาในสัตว์ไพรเมต คาดว่าจะนำมาติดตั้งได้ในเดือนกันยายน 2565 และสามารถรับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 ได้ในเดือนตุลาคม 2565 และสามารถทดลองใช้งานได้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566
ไตรศุลีกล่าวต่อไปว่า การพัฒนาวัคซีนโควิดชนิด mRNA ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2566 จะเป็นการวิจัยคลินิกระยะที่ 3 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนรับการอนุมัติขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนำออกใช้ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รายงานว่าจะมีการอนุมัติภายในปี 2567
สำหรับวัคซีน Baiya SARS-CoV2 Vax (ผลิตจากโปรตีนใบยาสูบ) ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด คือความร่วมมือระหว่างบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทาง อว. ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสูตรเพื่อทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 2 และจะศึกษาวิจัยในระยะที่ 3 ในต้นปี 2566 ก่อนจะขึ้นทะเบียนภายในปี 2567 เช่นเดียวกัน
ไตรศุลีกล่าวต่ออีกว่า ด้านโครงการที่ร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ คือการพัฒนาวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตาย NDV-HXP-S ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับสถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา ดำเนินการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะเริ่มระยะที่ 3 ในปลายปี 2565 และขึ้นทะเบียนภายในปี 2566
นอกจากนี้ อว. รายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าของวัคซีนชนิดหยอดจมูก (Ad5 Wuhan) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่าได้มีการทดสอบพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตวัคซีนในโรงงานต้นแบบ และจะพัฒนาต่อเนื่องสำหรับรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต