ในที่สุดเศรษฐกิจไทยก็เข้าสู่ยุค ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ตามประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้าสักพักแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นครั้งแรกใน 4 ปีเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในรอบนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้งและจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูต่างประเทศมอง ธปท. กำลังเดิมพันดอกเบี้ยกับ เงินเฟ้อ ชี้นโยบายการเงินไทยมองโลกในแง่ดีเกินไป ด้าน ‘อาคม’ ย้ำยังไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ในประเด็นแรกนั้น แถลงข่าวผลการประชุม กนง. และคำสัมภาษณ์ในหลายวาระของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกไว้ชัดเจนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องโดยไม่สะดุด (Smooth Takeoff) ซึ่งตีความได้ว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งละร้อยละ 0.25 ต่อปี ซึ่งเป็นขนาดปกติของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แทนการปรับขึ้นร้อยละ 0.5 หรือร้อยละ 0.75 ต่อปี ซึ่งแรงกว่าปกติแบบที่เราเห็นในหลายประเทศ
อย่างไรก็ดี กนง. ทิ้งท้ายไว้ว่า การปรับนโยบายการเงินต้องสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ซึ่งหมายความว่า กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่าร้อยละ 0.25 ต่อปีก็ได้ หาก กนง. พิจารณาแล้วเห็นสมควร ซึ่งในภาษาวิชาการเราเรียกว่าเป็นการปรับนโยบายแบบขึ้นกับพัฒนาการของข้อมูล (Data Dependent)
เช่น ถ้าสัปดาห์หน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ร้อยละ 1 ต่อปี ตามที่ผู้เล่นในตลาดบางรายเริ่มคาดการณ์หลังจากเห็นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุด จากเดือนก่อนที่ส่วนใหญ่คาดกันว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.5 ต่อปี ก็จะถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่ กนง. จะเอามาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ
ประเด็นที่สอง อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขึ้นไปสูงสุดแค่ไหน ตอบยากกว่าข้อแรกมาก ยิ่งมองข้างหน้าไปไกล ความไม่แน่นอนของพัฒนาการของข้อมูลยิ่งสูงกว่าในระยะสั้น แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีอะไรให้เกาะทีเดียว โดยถ้าเศรษฐกิจไทยกลับไปเป็นปกติ ระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยก็ควรจะกลับไปเป็นปกติด้วย
คำถามคือ แล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในระดับปกติอยู่ที่เท่าไร โดยทั่วไปแล้วนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่า ในภาวะปกติอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรจะอยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเล็กน้อย เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยนโยบายลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) เป็นบวก เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่คุมไม่ได้ (Runaway Inflation) และการเก็งกำไรในระบบการเงิน
ถ้าเราสำรวจคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยโดยสำนักวิเคราะห์ต่างๆ จะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ใช้หลักการนี้ โดย KKP มองว่าเงินเฟ้อในระยาวของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี (ค่ากลางของช่วงเป้าหมายนโยบายการเงินของ ธปท. ที่ร้อยละ 1-3 ต่อปี) KKP จึงให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไปสิ้นสุดในปีหน้าที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี
ตัวเลขร้อยละ 2.25 ต่อปีนี้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในอดีตที่ร้อยละ 2 ต่อปี จึงไม่ได้ถือว่าสูงจนเศรษฐกิจไทยจะรับไม่ได้แต่อย่างไร (อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยขึ้นไปสูงสุดที่ร้อยละ 5 ต่อปีในปี 2549) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และถ้าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าถูกกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เราอาจไปไม่ถึงร้อยละ 2.25 ก็ได้ ดังนั้นธุรกิจและประชาชนที่ต้องกู้เงิน ไม่ควรวิตกกับ ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ในรอบนี้มากนัก
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าล่าสุดผมไม่สบายใจกับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่งออกมามากนัก การที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากเห็นข้อมูลเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนกังวลว่า Fed อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1 ในสัปดาห์หน้า แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าเป็นเพราะตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะไปหยุดที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี ตามที่ Fed ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
ภาพ: ธนาคารกลางสหรัฐฯ และกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร
ถ้า Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปร้อยละ 5-6 ต่อปี ตามที่เริ่มมีคนพูดกัน นอกจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยรุนแรงแล้ว ยังจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ถ่างออกจากกันมากขึ้นด้วย แม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและสหรัฐฯ ในปัจจุบันจะไม่ได้ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยต่างจากประเทศอื่นๆ มากนัก แต่หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นไปที่ร้อยละ 6 ต่อปี เราคงเห็นหลายประเทศขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงตาม และเราคงยากที่จะยืนระยะที่ร้อยละ 2.25 ต่อปีได้ คงต้องลุ้นให้ Fed สามารถคุมอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสูงๆ ครับ
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP