วันนี้ (6 กันยายน) การประชุมรัฐสภา มีวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือฉบับของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะคณะผู้รณรงค์แก้ไข มาตรา 272 ได้ลุกเสนอหลักการและเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คนเป็นผู้เสนอ
สมชัยกล่าวว่า เราขอแก้ไขมาตราเดียว คือมาตรา 272 ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล ซึ่งประกอบด้วย 2 วรรค คือการให้อำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีแรกของรัฐสภาปัจจุบัน โดยขอตัดข้อความวรรคแรกทั้งหมดทิ้งไป และขอเปลี่ยนแปลงข้อความในวรรคที่สอง กรณีที่ประชุมไม่สามารถประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนำเสนอได้ ก็ใช้ทางออกให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยใช้กฎเกณฑ์กติกาแบบเดิมคือ ใช้เสียงที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 ยกเว้นการใช้ชื่อในบัญชีของพรรคการเมือง จากนั้นคืนกลับสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกนายกฯ คนนอกอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากในสภา
“เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเป็นทางออกของประเทศ เพราะจะทำให้สมาชิกวุฒิสภาคงความเป็นกลางทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 เพราะเมื่อใดก็ตามที่ ส.ว. เลือกคนของพรรคการเมืองใดสักคนเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนก็จะเข้าใจว่าท่านมีแนวโน้มสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งจะได้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาว่า ส.ว. จะลงมติเลือกใคร หรือจะจับมือกับพรรคการเมืองใด รวมถึงเพื่อเสริมสร้างเกียรติภูมิของรัฐสภา” สมชัยกล่าว
สมชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นโต้แย้งฝ่ายต่างๆ ที่เห็นว่าไม่ควรแก้ไขนั้น โดยระบุว่าการให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หากจะแก้ไขใหม่ต้องทำประชามตินั้น เรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องประชามติเพียงแค่ 3 กรณีคือ
- การแก้หมวด 1 หมวด 2
- แก้เรื่องวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ
- แก้เกี่ยวกับคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของศาล และองค์กรอิสระเท่านั้น
และการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ที่ระบุว่าเลือกภายใน 5 ปีแรก อีกไม่นานก็จะหมดเงื่อนไขแล้วนั้น ตนมองว่าทุกปีมีความหมาย การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเป็นไปด้วยความสง่างาม ไม่จำเป็นต้องรอ 5 ปี ส่วนให้นายกรัฐมนตรีทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศ หากติดตามการประชุมที่ผ่านมาทุกอย่างจบแล้ว มีผลงานเป็นที่พึ่งพอใจแล้ว ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป จะเป็นประโยชน์ต่อยุทธศาสตร์ชาติ
“การที่มีนายกรัฐมนตรีมีส่วน ส.ว. เลือก จะเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม การลงมติงดออกเสียงในร่างกฎหมายนี้ ไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นกลาง แต่เป็นการไม่ประสงค์ให้ร่างนี้ได้ผ่านการรับหลักการวาระที่ 1 การลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 6 กันยายน เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ประเทศจะเดินต่อไปทิศทางไหนขึ้นอยู่กับการลงมติของท่าน” สมชัยกล่าว