บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในอาเซียน ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจควบคู่กับ ESG ผ่านโครงการ ‘ปลูก เพาะ รัก: ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ’ เตรียมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ไปพร้อมกับสร้างความตระหนักรู้ และส่งต่อจิตสำนึกการสร้างผืนป่า ส่งต่อวิถีชีวิตแห่งความยั่งยืน
ในช่วงที่ผ่านมา ‘ภาวะโลกร้อน’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่เมกะเทรนด์เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้ภาคธุรกิจต้องตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างกำไร (Profit) ไปพร้อมกับการดูแลสังคม (People) และโลก (Planet) ผ่านการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อให้ทั้งหมดล้วนสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDGs) ที่ถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ
‘1 ล้านต้น’ คือเป้าหมายของทุกคน
หนึ่งในวิถีที่ SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนได้ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ราชการ และหน่วยงานท้องถิ่นบริเวณพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกคน โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะปลูกป่า 1,000,000 ต้น ผ่านโครงการ ‘ปลูก เพาะ รัก: ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ’ ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยโครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแนวทางและเป้าหมายด้าน ESG ทั้ง 3 มิติของ SCGC ซึ่งจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 โดยมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% จากปี 2564 ภายในปี 2573 ด้วยแนวทาง ‘Low Carbon, Low Waste’ ได้แก่ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น การใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาและลงทุนในเทคโนโลยีที่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ลักษณะต่างๆ รวมถึงป่าชายเลน นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองกับเป้าหมายด้านสังคมและบรรษัทภิบาลไปพร้อมกัน
‘ปลูกป่า’ เพื่อสร้างบ่อเก็บคาร์บอนจากธรรมชาติ นวัตกรรมจากผืนดิน
อย่างที่ได้กล่าวในข้างต้นว่า ปัจจุบันหลายธุรกิจได้มีการตั้งเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการใช้นวัตกรรมการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ซึ่งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงในวันนี้ ทว่าความจริงแล้วหนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากธรรมชาติ และสามารถใช้แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดีก็คือ ‘ป่าไม้’
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา ป่าไม้ในหลายพื้นที่ได้ถูกบุกรุก ทำลาย หรือเปลี่ยนสภาพไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น SCGC จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ และชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของผืนป่า ให้ความรู้วิธีปลูกป่าที่ถูกต้อง ทำให้ชุมชนเกิดความรักในทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นตนเอง โดยตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน SCGC ได้ร่วมปลูกต้นโกงกางและไม้อื่นๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนไปแล้วร่วม 154,600 ต้น คิดเป็นพื้นที่ราว 220 ไร่ ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ถึง 1,924 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
โดยในปี 2565 SCGC ได้ยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการปลูกเพื่อคาร์บอนเครดิต กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ทช.) พื้นที่จำนวน 1,000 ไร่ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดูดซับคาร์บอนได้ถึง 2,750 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
เพาะต้นกล้าใหม่ สู่ ‘ธนาคารต้นไม้’
นอกเหนือจากการฟื้นฟูผืนป่าแล้ว หนึ่งในพันธกิจสำคัญคือการสร้าง ‘ธนาคารต้นไม้’ โดยหลังจากที่ SCGC ได้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง จึงได้สานต่อโครงการด้วยการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้หายาก เกิดเป็นโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้ เพื่อนำเมล็ดพันธุ์จากต้นไม้ในพื้นที่เขายายดามาเพาะขยายพันธุ์ พร้อมแจกจ่ายให้กับพนักงานของบริษัทและบุคคลทั่วไป โดยปัจจุบันเพาะกล้าไม้แล้วกว่า 10,500 ต้น
ไม่เพียงแค่เมล็ดพันธุ์ป่าเท่านั้น ปัจจุบัน SCGC ได้ขยายขอบเขตของการเพาะเมล็ดพันธุ์ไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ด้วยการส่งต่อต้นกล้าจากโครงการธนาคารต้นไม้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,100 คน และมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกแล้วกว่า 6,100 ต้น และตั้งเป้าให้มีการส่งเสริมให้ชุมชนนำไปปลูกให้ถึง 16,600 ต้น คิดเป็นการดูดซับคาร์บอนราว 157 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
รักษาไว้ไม่ให้ถูกทำลาย
ถึงแม้ป่าจะได้รับการฟื้นฟู และมีการส่งต่อเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายขอบเขตของการสร้างพื้นที่สีเขียวแล้วก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือขั้นตอนของการรักษาผืนป่าให้คงอยู่ต่อไป เพื่อให้เป้าหมายที่วาดไว้สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่สูญสลายและกลายเป็นแบบที่ผ่านมา
SCGC ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีพันธกิจร่วมกัน รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครการรวมกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่น ได้แก่ เครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.), กรมป่าไม้ และชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านแลง ในการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ที่เคยบุกรุกทำลายป่า ให้กลายมาเป็นผู้รักษาชีวิตและธรรมชาติ สร้างแนวคิดคนดูแลป่า ป่าดูแลคน ผ่านการจัดกิจกรรมการดูแลพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง และมีการเปิดรับสมาชิกรุ่นใหม่ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และจิตสำนึกต่อไปยังคนกลุ่มอื่นๆ โดยได้มีการตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมเครือข่ายอาสาสมัคร 200 คน เพื่อร่วมเป็นแกนนำในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต่อไป
โดยสรุป โครงการ ‘ปลูก เพาะ รัก: ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ’ ที่ขับเคลื่อนโดย SCGC นั้น ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ภาคธุรกิจสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ ESG ช่วยสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหา และความสำคัญของผืนป่า เครื่องดักจับคาร์บอนที่สร้างจากธรรมชาติ และสามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมยุคใหม่ที่มุ่งเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อม และก้าวสู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีทุกคนเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ และส่งต่อความยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป