วันนี้ (31 สิงหาคม) ชานันท์ ยอดหงษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ กฎหมายคู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้ากรอบการพิจารณาร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่าเนื่องจากคณะ กมธ. ได้มีมติวางกรอบการพิจารณาทั้ง 4 ร่างควบคู่กันไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พิจารณาทุกวันพุธ และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) หรือที่เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พิจารณาทุกวันพฤหัสบดี เพื่อให้แล้วเสร็จทั้ง 2 กลุ่มแบบคู่ขนาน อันนำไปสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2 และวาระ 3 ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
และที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะเสนอให้ทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 18 กันยายนนี้ โดยจะเสนอสภาพิจารณาทั้งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ควบคู่กันโดยไม่ปัดตกร่างใด
อย่างไรก็ตาม ชานันท์กล่าวว่าในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มีส่วนที่คล้ายคลึงกันของเนื้อหาในเรื่องสิทธิของ LGBTQ แต่หัวใจหลักในรายละเอียดของเนื้อหารายมาตรานั้นยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นการแก้ไข สร้างพัฒนาการให้กับกฎหมายเดิม คือ ป.พ.พ. เพื่อให้บุคคลไม่ว่าเพศวิถีเพศสภาพใดก็ตาม สามารถจดทะเบียนสมรสคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses) เพื่อสลายการผูกขาด ยุติการเลือกปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค
หากร่างนี้ผ่านในวาระต่อไปและมีการปรับปรุงแก้ไข ป.พ.พ. จะถือได้ว่าเป็นการปักหมุดวิวัฒนาการของกฎหมายไทย โดยเฉพาะ ป.พ.พ. ที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเรื่อยมาให้เท่าทันกับข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นกฎหมายที่แก้ไขได้ ไม่ถูกแช่แข็ง เพราะสังคมและประชาชนในประเทศมีพัฒนาการ
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ ที่แบ่งแยกจาก ป.พ.พ. และมีการปฏิบัติที่ต่างกัน เป็นร่างที่พัฒนามาจากสมัยปี 2556 ในบริบทสากลขณะนั้น ประเทศต่างๆ ได้ออก Civil Partnership Bill สำหรับการจดทะเบียนคู่รักเพศเดียวกัน มีการใช้คำใหม่อย่าง ‘คู่ชีวิต’ ขึ้นมาในร่างกฎหมาย ซึ่งจะต้องไปเพิ่มคำว่า คู่ชีวิต เข้าไปกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งยังขาดการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการบางประการ และทาง กมธ. พยายามปรับปรุงพัฒนาร่างนี้ให้เข้ากับบริบทปัจจุบันสากลที่มีสมรสเท่าเทียมแล้ว
“เนื่องจากแต่เดิม ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตั้งใจออกแบบใช้กับคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น เพื่อกีดกันไม่ให้คนรักเพศเดียวกันไปจดทะเบียนสมรสเหมือนคู่รักต่างเพศ ชายหญิง แต่ในชั้นกรรมาธิการนี้ ได้พิจารณาให้ชายหญิงรักต่างเพศสามารถเลือกได้ว่าจะจดคู่ชีวิตหรือจดทะเบียนสมรสได้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าได้เปิดโอกาสให้ชายหญิงรักต่างเพศมีโอกาสทางเลือกมากกว่าคนรักเพศเดียวกัน” ชานันท์กล่าว
ชานันท์ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าหากชายหญิงสามารถเลือกจดคู่ชีวิตได้แล้ว ความแตกต่างระหว่างการจดคู่สมรส คู่ชีวิตต่างกันอย่างไร ซึ่งในหลายประเทศที่เปิดโอกาสให้ทุกเพศสภาพเพศวิถี ชายหญิง LGBTQ สามารถเลือกจดได้ทั้งคู่ชีวิตหรือสมรสเท่าเทียม มีความแตกต่างกันอยู่
นำไปสู่การพิจารณาว่า จะให้คู่ชีวิตกำหนดสิทธิต่างๆ น้อยกว่าการจดทะเบียนเป็นคู่สมรสหรือไม่ ซึ่งเท่ากับว่าหากร่างนี้ผ่านแล้วถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้สิทธิของ LGBTQ ไม่เสมอภาคกับชายหญิงที่จดทะเบียนสมรส จะเห็นได้ว่าสมรสเท่าเทียมคือการทำให้เกิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกเพศ แต่คู่ชีวิตคือกฎหมายทางเลือกที่มีส่วนแตกต่างจากการสมรส เพราะเป็นการสร้างกฎหมายพิเศษขึ้นมาที่กีดกันไม่ให้ LGBTQ ได้จดทะเบียนสมรสตาม ป.พ.พ.
มากไปกว่านั้น มีสถานการณ์น่ากังวลใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพราะมีกรรมาธิการท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม และจะคัดค้านทุกมาตรา ด้วยการสงวนความเห็นของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อไปคัดค้านและตัดออกทุกมาตรา ในชั้นสภาสำหรับการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อให้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถูกใช้เป็นกฎหมาย
“ทั้งนี้ ในชั้นกรรมาธิการพบว่า มีหลายท่านขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการยอมรับศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีอคติต่อความหลากหลายทางเพศ ไม่ยอมรับคู่รัก LGBTQ ในฐานะคู่สมรส มีคนที่มองไม่เห็นปัญหาการเลือกปฏิบัติ และกล่าวว่าไม่ควรแก้กฎหมายที่มีอยู่เดิมของคนจำนวนมาก เพียงเพื่อคน 10% ซึ่งหมายถึง LGBTQ ควรไปใช้กฎหมายคู่ชีวิตแทน เพราะความรักเพศเดียวกัน ชายชาย หญิงหญิง เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ควรใช้คำว่าคู่สมรส เพราะจะทำลายสถาบันครอบครัว” ชานันท์กล่าว
ชานันท์กล่าวต่อไปว่า การใช้คำว่าคู่สมรสแทนสามีภรรยาเป็นการละเมิดสิทธิสามีภรรยา ทั้งนี้เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ากฎหมายนั้นสัมพันธ์กับสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ และคุณค่าความเป็นคน ดังนั้น กฎหมายจึงต้องเป็นแนวทางและใช้ได้กับประชาชนทุกคนไม่เลือกอัตลักษณ์ รสนิยมทางเพศ เพื่อให้เราประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันได้มีมาตรฐานร่วมกันได้ และกฎหมายนั้นอิงไปกับวิถีชีวิต จารีตประเพณีตามความเข้าใจสังคม ซึ่งทั้งสังคมและประเพณีมีพลวัต พัฒนาเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา
กฎหมายแพ่งและพานิชย์ที่ถูกเขียนขึ้นมาตามพัฒนาการของมนุษย์ ตั้งแต่เกิด เป็นหนี้ ทำงาน มีทรัพย์ แต่งงาน และตาย จะเห็นได้ว่าในอารยประเทศจากที่เคยผูกขาดการสมรสไว้เฉพาะชายหญิงรักต่างเพศ มาสู่สมรสเท่าเทียมที่ทุกเพศสรีระ เพศสภาพ เพศวิถีสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไป
ดังนั้น ตนในฐานะ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จึงวอนขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาการเคลื่อนไหวของคณะ กมธ. ชุดนี้และในสภา และร่วมช่วยกันยกระดับเพดานความคิดและสามัญสำนึก เปิดใจกว้างยอมรับศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนไม่ว่าจะมีเพศสภาพเพศวิถีใด สามารถอยู่ร่วมกันและปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกันได้ โดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติโดยกฎหมาย
เพราะคนใดที่พยายามขัดขวางสมรสเท่าเทียม เท่ากับว่าเป็นการขัดขวางสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี และความเสมอภาคของประชาชนที่จะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ และต้องการรักษาการเลือกปฏิบัติ ไม่สนใจความเป็นคนของพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ