×

ล่มอีก! ประชุมสนธิสัญญาเพื่อการปกป้องมหาสมุทร เหตุประเทศต่างๆ ตกลงเงื่อนไขกันไม่ได้

โดย THE STANDARD TEAM
28.08.2022
  • LOADING...
สนธิสัญญา

การประชุมเพื่อผ่านสนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติ (UN High Seas Treaty) ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาสองสัปดาห์ในนิวยอร์ก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ ส่งผลให้ความพยายามในการผ่านข้อตกลงระดับโลกเพื่อปกป้องมหาสมุทรและสัตว์ทะเลของโลกล้มเหลวอีกครั้ง

 

ครั้งสุดท้ายที่มีการลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทรนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในปี 1982 นั่นคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea)

 

ข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดพื้นที่ที่เรียกว่าทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากล ซึ่งทุกประเทศมีสิทธิ์ในการจับปลา เดินเรือ และทำวิจัย โดยในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐภาคี 168 ชาติของสนธิสัญญาฉบับดั้งเดิม ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป ได้มาประชุมร่วมกันเพื่อพยายามทำข้อตกลงใหม่

 

คริสตินา ยาร์เด ที่ปรึกษาอาวุโสด้านทะเลหลวงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) อธิบายกับ BBC News ว่าเหตุใดสนธิสัญญานี้จึงมีความสำคัญมาก โดยเธอกล่าวว่า “ทะเลหลวงคือหัวใจของโลกใบนี้

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลหลวงส่งผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งของเรา ส่งผลกระทบต่อการประมงของเรา ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของเรา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วมีความสำคัญต่อเราทุกคน”

 

ยาร์เดเผยว่า การเจรจามุ่งเน้นไปที่สี่ประเด็นหลักคือ การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area) การปรับปรุงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การจัดหาเงินทุนและเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนา และการแบ่งปันทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (Marine Genetic Resources) ซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพจากพืชและสัตว์ในมหาสมุทรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น เภสัชกรรม กระบวนการทางอุตสาหกรรม และอาหาร

 

ทั้งนี้ แม้ว่าน่านน้ำสากลคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่มหาสมุทรของโลก แต่มีเพียง 1.2% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง โดยสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่คุ้มครองมีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์จากภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำประมงเกินขนาด และการขนส่งทางทะเล

 

ก่อนการประชุมกว่า 70 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร ได้ตกลงที่จะนำพื้นที่มหาสมุทร 30% ของโลกเข้าสู่พื้นที่คุ้มครอง ซึ่งจะส่งผลให้มีการจำกัดปริมาณการจับปลา เส้นทางการเดินเรือ และกิจกรรมการสำรวจ เช่น การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก (Deep Sea Mining)

 

การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกคือการขุดแร่ออกจากก้นทะเลซึ่งอยู่ต่ำกว่าพื้นผิว 200 เมตรลงไป แร่ธาตุเหล่านี้รวมถึงโคบอลต์ซึ่งใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่กระบวนการนี้อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล

 

เมื่อเดือนมีนาคม 2022 องค์กรพื้นท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority) ซึ่งกำกับดูแลกิจกรรมเหล่านี้ ได้ออกสัญญา 31 ฉบับ เพื่อสำรวจทะเลลึกเพื่อหาแร่ธาตุ แต่ประเทศต่างๆ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญๆ เกี่ยวกับสิทธิการทำประมง รวมถึงการระดมทุนและการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา

 

มีความกังวลว่าหากปราศจากสนธิสัญญานี้ ไม่เพียงสัตว์ทะเลจะไม่ได้รับการคุ้มครองเท่านั้น แต่บางชนิดจะไม่มีวันถูกค้นพบก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์

 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปีนี้ และได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) ชี้ให้เห็นว่า สัตว์ทะเล 10-15% มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

 

ฉลามและปลากระเบนเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่จะประสบกับความสูญเสียจากความล้มเหลวในการผ่านสนธิสัญญา พวกมันกำลังเผชิญกับวิกฤตการสูญพันธุ์ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก

 

ฉลาม รวมถึงสัตว์อื่นๆ ที่อพยพย้ายถิ่น เช่น เต่าและวาฬ เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรของโลก และอาจมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเดินเรือ ซึ่งอาจส่งผลให้พวกมันได้รับบาดเจ็บสาหัสและอาจถึงตายได้

 

นอกจากนี้ฉลามและปลากระเบนทุกสายพันธุ์ยังประสบกับการประมงเกินขนาด ทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าประเทศต่างๆ จะกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้งเมื่อใด แต่มีการกำหนดเส้นตายไว้ภายในสิ้นปีนี้ และหากมีการลงนามในสนธิสัญญาแล้ว ก็ยังมีงานที่ต้องทำต่อไป

 

ขณะเดียวกัน ชะตากรรมของมหาสมุทรยังขึ้นอยู่กับความพยายามของโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยข้อมูลจาก NASA ระบุว่า ทะเลของโลกดูดซับความร้อนถึง 90% ที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์

 

ศาสตราจารย์อเล็กซ์ โรเจอร์ส จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “ทะเลหลวงซึ่งคิดเป็นพื้นที่ถึงครึ่งหนึ่งของโลกของเรา กำลังปกป้องชีวิตบนพื้นโลกจากผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

 

ภาพ: Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X