×

‘BOI-สภาอุตฯ’ เชื่อทุนต่างชาติไหลลงทุนไทย หลังออกนโยบายส่งเสริมการลงทุน เดินหน้าดันธุรกิจ EV และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

24.08.2022
  • LOADING...
เงินลงทุนต่างชาติ

‘BOI-สภาอุตสาหกรรมฯ’ เผย เงินลงทุนต่างชาติ ช่วยผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เดินหน้าออกนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

รัชนี วัฒนวิศิษฏพร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่พยายามนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องเสริมความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน

 

“รัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าเราจะผลิตรถไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเองได้ โดยออกนโยบาย 30@30 คือการที่เราสามารถผลิตรถไฟฟ้าในประเทศได้ 30% ภายในปี 2030 และต่อไปเราจะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตรถไฟฟ้าของโลก โดยการเพิ่มศักยภาพทางด้านการแข่งขันของประเทศ” รัชนีกล่าว

 

รัชนีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านนี้ โดย BOI จะส่งเสริมผู้ลงทุนและให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนมากที่สุด

 

ทั้งนี้ ในปี 2021 อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า กลุ่มการแพทย์ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ โดยประเทศที่มีการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ตามลำดับ

 

“รัฐบาลทำงานอย่างหนักในการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และพยายามดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเพิ่มมาตรการและข้อเสนอจูงใจต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค” รัชนีกล่าว 

 

วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทยว่า ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตโควิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เรากำลังเผชิญกับปัญหาการติดขัดด้านการค้าดิจิทัล สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงปรากฏการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการขาดตลาดของชิปเซมิคอนดักเตอร์ในขณะนี้

 

วิวรรธน์วิเคราะห์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะมาจาก 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคบริการ คิดเป็น 59% ของ GDP, ภาคอุตสาหกรรม คิดเป็น 32% ของ GDP และภาคเกษตรกรรม คิดเป็น 9% ของ GDP ตามลำดับ โดยทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ประสานกับภาคเกษตรกรรม เพื่อทำให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ และนับเป็น 40% ของ GDP โดยเรียกรวมว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร

 

ทั้งนี้ จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงปี 2020-2021 จึงมองว่าประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้เน้นไปทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการว่างงานอย่างยั่งยืน

 

ด้านธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คลังสินค้าแบบทันสมัย หรือสมาร์ทแวร์เฮาส์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรม โดยมีความต้องการในตลาดที่สูงขึ้น กลุ่มผู้ผลิตมีความต้องการซื้อที่ดินเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าอนาคตของภาคโลจิสติกส์และภาคอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากโควิด กลุ่มผู้ซื้อมีการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น การซื้อสินค้า สั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก ทำให้รูปแบบของการผลิต ระบบขนส่งจากโรงงานไปยังคลังสินค้าเปลี่ยนไป คลังสินค้าในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงโรงเก็บของ แต่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าและจัดการ จัดสรร รวมถึงจัดระบบการขนส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อโดยตรงอีกด้วย

 

“เราต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมกิจการอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและจะสูงขึ้นอีกในอนาคต โดยต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการใช้หุ่นยนต์มาช่วยสร้างศักยภาพให้กับคลังสินค้าเหล่านี้ ตลอดจนการเพิ่มสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับแรงงานที่ทำงานภาคอุตสาหกรรมนี้ นี่จึงเป็นจุดศูนย์ถ่วงใหม่ในระบบเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา” ธนพลกล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X