×

บททดสอบครั้งใหญ่ของ ธนาคารกลางจีน เมื่อต้องเผชิญวิกฤตอสังหา และเศรษฐกิจที่ทรุดตัวแรง

24.08.2022
  • LOADING...
ธนาคารกลางจีน

ธนาคารกลางจีนกำลังเผชิญกับบททดสอบที่ท้าทาย เนื่องจากต้องยึดมั่นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ที่อ่อนแอและการลงทุนของภาคเอกชน ท่ามกลางการระบาดของโควิด การใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ รวมถึงการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ผู้นำระดับสูงของประเทศยังให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่ไม่ยั่งยืน

 

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา Yi Gang ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง พร้อมทั้งประกาศให้สินเชื่อพิเศษแก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหา และเรียกร้องให้ธนาคารของรัฐออกสินเชื่อเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนเตรียมประกาศปรับลดอัตราส่วนการดำรงเงินสำรอง (Reserve Requirement Ratio หรือ RRR) เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำเงินส่วนนี้มาปล่อยกู้หรือลงทุนได้มากขึ้น

 

แม้ว่าธนาคารกลางจีนยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น แต่ทางการจีนก็ยังให้ความสำคัญกับการจำกัดความเสี่ยงอยู่ สอดคล้องกับแนวคิดเชิงนโยบายที่ระมัดระวังของ หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และสภาแห่งรัฐที่ระบุว่า จีนจะไม่ “ผ่อนคลายด้านการเงินในอนาคตมากเกินไป”

 

Hui Feng หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ The Rise of the People’s Bank of China และอาจารย์อาวุโสจาก Griffith University ระบุว่า แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สดใส แต่ธนาคารกลางจีนก็กังวลว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินจะนำไปสู่การ Leverage เศรษฐกิจ ด้วยต้นทุนที่สูงกว่าผลประโยชน์

 

ความท้าทายทางเศรษฐกิจกำลังทวีคูณขึ้น ขณะที่จีนเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ซึ่งประธานาธิบดี สีจิ้นผิง คาดว่าจะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นสมัยที่ 3 ท่ามกลางปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังตกต่ำ และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ที่กำลังทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และอาจจะทำให้เป้าหมายการเติบโตของ GDP ประจำปีพลาดเป้ามากที่สุด ตั้งแต่จีนเริ่มตั้งเป้าหมายนี้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990

 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนเคยให้สัญญาว่า จะใช้นโยบายการเงินแบบ ‘ผ่อนคลาย’ ต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ยังกล่าวเป็นนัยเกี่ยวกับข้อจำกัดที่ธนาคารกลางจีนมี แม้ว่าในอดีตก่อนหน้านี้เขาเคยต่อต้านมาตรการ QE และหลีกเลี่ยงการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง โดยเลือกใช้เครื่องมือที่ตรงเป้าหมายแทนก็ตาม

 

เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 สิงหาคม) ธนาคารกลางของจีนกล่าวในแถลงการณ์หลังจบการประชุม ซึ่งมีผู้ว่าฯ Yi Gang เป็นประธานว่า สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารรายใหญ่ของรัฐ ควรเพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้กับเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) 

 

ทางตัน: การคุมเงินเฟ้อพร้อมกับกระตุ้นการลงทุน

 

โดยอัตราเงินเฟ้อที่ยังควบคุมได้ของจีน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับปีก่อน แตกต่างกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเร็วสุดในรอบ 4 ทศวรรษในสหรัฐอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจตะวันตกอื่นๆ ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ให้เห็นถึงแนวทางเป้าหมายของธนาคารกลางจีนบางส่วน

 

PBOC กล่าวในรายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดในเดือนนี้ว่า จีนยืนกรานว่าจะไม่กระตุ้นหรือพิมพ์เงินจำนวนมากเกินไป เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่หามาได้ยาก

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ระมัดระวังของธนาคารกลางจีนดูเหมือนจะถึงทางตัน เพราะอุปสงค์ของเศรษฐกิจอ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดใหญ่และการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่เต็มใจที่จะขยายการลงทุนภายใต้ความไม่แน่นอนจากการระบาดใหญ่ รวมถึงการคุมเข้มด้านกฎระเบียบของรัฐบาลจีนต่ออุตสาหกรรมต่างๆ

 

นอกจากนี้ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาการหยุดชะงักของโครงการบ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้น ก็ยังคงสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมอสังหา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยครองสัดส่วนเกือบ 40% ของยอดสินเชื่อโดยรวม

 

โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและอุปทานสินเชื่อที่เพียงพอยังไม่สามารถทำให้การกู้ยืมแข็งแกร่งขึ้นได้ นอกจากนี้กลับเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิด ‘กับดักสภาพคล่อง’ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่สามารถกระตุ้นความต้องการสินเชื่อและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

 

จีนเข้าสู่การพัฒนาระยะใหม่ ต่อต้านการก่อหนี้ไม่ยั่งยืน

 

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ยืนยันว่า จีนได้เข้าสู่ ‘ระยะการพัฒนาใหม่’ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติ การลดความไม่เท่าเทียมของรายได้ และการรักษาเสถียรภาพทางสังคมแล้ว พร้อมกล่าวย้ำว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สมดุลมากขึ้น และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อสร้างผลิตภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยหนี้สินที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ”

 

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งของประธานาธิบดีแล้ว ธนาคารกลางของจีนไม่น่าจะใช้มาตรการกระตุ้นที่เกินขนาด เหมือนที่เคยทำหลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 หรือเมื่อเงินหยวนอ่อนค่าอย่างหนักจนทำให้ความเชื่อมั่นถูกสั่นคลอนเมื่อช่วงกลางปี ​​2015 ได้

 

และถึงแม้ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนต้องการใช้มาตรการผ่อนคลายครั้งใหญ่ก็ไม่น่าจะทำได้ เว้นแต่ประธานาธิบดีสีจะยินยอม นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากสภาแห่งรัฐ (State Council) ก่อนที่จะตัดสินใจครั้งใหญ่เกี่ยวกับปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากธนาคารประเทศขนาดใหญ่ทั่วโลกที่ได้รับอิสรภาพในระดับสูงจากรัฐบาล

 

การคุมความเสี่ยง มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย

 

แม้ว่าธนาคารกลางจีนมีความเป็นอิสระน้อยกว่าธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก แต่ในทางอื่น ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกลับมีอำนาจมากกว่า เพราะหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจจีนยังไม่ได้รับอิสระจากการควบคุมของรัฐ แม้จะผ่านการปฏิรูปตลาดมาเป็นเวลา 4 ทศวรรษแล้วก็ตาม ซึ่งในที่นี้รวมถึงภาคการธนาคารของจีน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 56 ล้านล้านดอลลาร์ด้วย

 

ธนาคารกลางจีนจึงมีอำนาจมหาศาลในการกำหนดทิศทางการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนกระแสเงินทุนข้ามพรมแดน ผ่านระบบที่เรียกว่า ‘Macro-Prudential Assessment System’ โดยระบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ควบคุมการสะสมของหนี้สิน และความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ (Pro-Cyclical) 

 

โดยธนาคารกลางจะตรวจสอบตัวชี้วัดทางธุรกิจของธนาคารเป็นประจำ เช่น ความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราส่วนวัดภาระหนี้สิน (Leverage Ratio) และอัตราการเติบโตของสินเชื่อ เพื่อลงโทษและให้รางวัลแก่ธนาคารตามผลการประเมิน เช่น การอนุมัติโควตาเงินกู้รายปีของธนาคาร และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารเมื่อจำเป็น

 

ท่ามกลางการคุมเข้มด้านกฎระเบียบดังกล่าว การให้เงินทุนโดยธนาคารเงา (Shadow Banking) หรือการกู้ยืมที่เกิดขึ้นนอกระบบธนาคารแบบดั้งเดิมได้ลดลงเหลือ 18 ล้านล้านหยวน จากระดับสูงสุดที่ 28 ล้านล้านหยวนเมื่อปี 2018 ตามข้อมูลของธนาคารกลางจีน โดยอุตสาหกรรมการให้กู้ยืมแบบ Peer-to-Peer เกือบจะหายไปหมดแล้ว ท่ามกลางการระงับการ IPO ของบริษัทเทคโนโลยีการเงินรายใหญ่อย่าง Ant Group

 

ขณะที่ Bert Hofman อดีตผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถาบันเอเชียตะวันออกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า การควบคุมหนี้และการควบคุมการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนในช่วงปลายปี 2020 มีส่วนทำให้อุตสาหกรรมชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว

 

“แต่การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางราย และความลังเลใจในการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยที่ตามมาของผู้คน ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมไปถึงความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้อีกในอนาคต ไปจนถึงปัญหาในภาคการธนาคาร” Hofman กล่าว

 

Hofman ยังให้เหตุผลว่า การจัดระเบียบแพลตฟอร์มฟินเทคและอีคอมเมิร์ซทำให้บริษัทขนาดเล็กประสบความยากลำบากขึ้นมาก เนื่องจากต้องพึ่งพาบริษัทเหล่านั้นในการขายสินค้าและรับเงินทุน พร้อมมองว่า “ทางการได้ประเมินความสำคัญของฟินเทคและอีคอมเมิร์ซต่ำไป สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”

 

คาดจีนหั่นดอกเบี้ยอีกภายในกลางปีหน้า

 

ธนาคารกลางจีนมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และยึดมั่นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง เนื่องจากช่องว่างความแตกต่างของดอกเบี้ยระหว่างธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางประเทศอื่นๆ กว้างขึ้น ทำให้สินทรัพย์ของสหรัฐฯ และหลายประเทศมีความน่าสนใจกว่าจีน เป็นการกระตุ้นให้เงินทุนไหลออก และส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่น

 

Li Daokui อดีตที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำ Tsinghua University ในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมยังเป็นสิ่งจำเป็น หากการระบาดของโควิดและมาตรการควบคุมการระบาดยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พร้อมทั้งคาดว่า ขอบเขตในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.3-0.5% ภายในเดือนมิถุนายน 2023

 

“ตอนนี้นโยบายการเงินควรทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันห่วงโซ่การเงินในตลาดที่อยู่อาศัยจากการล่มสลาย” Li กล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X