ภาพการปะทะคารมกันระหว่าง เจมส์ มิลเนอร์ กับ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค หลังจากที่ลิเวอร์พูลเสียประตูขึ้นนำ (อีกแล้ว) ให้แก่ทางด้านแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในศึกแดงเดือด กลายเป็นภาพที่ถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาของทีมที่ได้รับการยกย่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าเป็น 1 ใน 2 ทีมที่ดีที่สุดของอังกฤษ
เพราะไม่ใช่แค่เป็นอีกครั้งที่พวกเขาต้องเป็นรองคู่แข่ง (ซึ่งเราจะพูดถึงในภายหลัง) แต่ที่มาของการเสียประตูเกิดจากการที่ฟาน ไดจ์ค ที่เคยเป็นยักษ์ผู้ปกปักรักษาลิเวอร์พูลตลอดหลายปีที่ผ่านมา เอาแต่ยืนนิ่งเอามือไขว้หลังและรอให้ จาดอน ซานโช (ซึ่งต้องชมเทคนิคและความนิ่งที่ดึงบอลหลอกจนมิลเนอร์ที่ผวามาช่วยหลงทางไปพร้อมกับ อลิสสัน เบ็คเกอร์) มีเวลาเลือกมุมยิง
การยืนนิ่งๆ ของฟาน ไดจ์ค เป็นสิ่งที่มิลเนอร์ – ซึ่งอยู่ในฐานะรองกัปตันและเป็น Leader ในแอนฟิลด์เหมือนกัน – ไม่สามารถยอมรับได้
ก่อนที่สุดท้ายลิเวอร์พูลจะเสียอีกประตูในระหว่างที่พยายามหาทางกลับมาในช่วงต้นครึ่งหลัง ซึ่งก็เริ่มต้นจากความผิดพลาดง่ายๆ ของ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันทีม ที่สุดท้าย มาร์คัส แรชฟอร์ด ได้หลุดเดี่ยวก่อนยิงสวนอลิสสันอย่างเหนือชั้น
กว่าที่ลิเวอร์พูลจะไล่ตีไข่แตกได้ก็ในช่วงก่อนหมดเวลา 10 นาที จาก โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ซึ่งมันช้าเกินไปแล้วสำหรับทีมที่เคยพลิกสถานการณ์เอาตัวรอดได้เสมอ เพราะวันนี้พวกเขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีพอที่จะพูดคำว่า Never Give Up
สุดท้ายลิเวอร์พูลพ่ายแพ้เป็นเกมแรกของฤดูกาลนี้ พ่ายแพ้ในลีกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าปี 2022 และทำให้ 3 นัดแรกของฤดูกาล พวกเขามีแค่ 2 คะแนนเท่านั้น
เกิดอะไรขึ้นกับทีมของ เจอร์เกน คล็อปป์?
Hangover จาก 4 แชมป์?
ย้อนกลับไปในเกมเปิดนัดแรกของฤดูกาลที่พวกเขาต้องไล่ตามตีเสมอฟูแลมแบบเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะเอาตัวรอดกลับมาจากคราเวน ค็อตเทจ หลังจบเกมวันนั้นคล็อปป์ตำหนิ ‘ทัศนคติ’ ของทีมอย่างชัดเจน
การที่ผู้จัดการทีมที่ ‘คิดบวก’ ที่สุดคนหนึ่งออกมาพูดในเรื่องนี้กับทีมที่เคยได้รับการยกย่องอย่างมากในเรื่องของทัศนคติการเล่น แปลว่ามีอะไรที่ไม่ปกติเกิดขึ้น
และเรื่องนี้ก็ยิ่งชัดขึ้นใน 2 นัดต่อมาที่ลิเวอร์พูลดู ‘หย่อนยาน’ กว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งรวมถึงความพ่ายแพ้ที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงแต่ฟาน ไดจ์คที่เล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ทั้งทีมก็เล่นได้แย่ไม่แตกต่างกัน ไม่มีแรงขับเคลื่อนที่ร้อนแรงเหมือนเดิม ไม่มีการเล่นสอดประสานเป็นทีม
เรียกว่าหากไม่มีโครงของระบบที่เข้มแข็งรองรับ ลิเวอร์พูลพร้อมจะแตกสลายเป็นชิ้นๆ ได้ เพราะแต่ละจุดที่รัดโยงกันไว้นั้นหลวมโพรกอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนหนึ่งที่มีการวิจารณ์กันมาจากการที่ทีมชุดนี้กรำศึกอย่างหนักในฤดูกาลที่แล้ว กับความพยายามในการที่จะไล่ล่าคว้าแชมป์ 4 รายการในฤดูกาลเดียว (Quadruple) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีสโมสรใดในอังกฤษเคยทำได้มาก่อน
การที่ต้องลงเล่นมากถึง 63 นัดรวมทุกรายการนั้นไม่ได้หมายถึงจำนวนเกมที่ต้องเล่นซึ่งสัมพันธ์กับความอ่อนล้าของร่างกายเท่านั้น แต่หมายถึงการที่ทั้งทีมต้องเผชิญกับสภาพความกดดันที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นทุกนัดที่ลงสนาม เพราะหมายถึงเดิมพันที่ยิ่งใหญ่
ปัญหาคือพวกเขาดัน ‘แพ้เดิมพัน’ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของฤดูกาล เมื่อทำได้เพียงแค่การเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีก แพ้แมนเชสเตอร์ ซิตี้แค่เพียงคะแนนเดียวอีกครั้ง และยังไปพ่ายต่อเรอัล มาดริดในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกด้วย
นั่นทำให้สภาพจิตใจของนักเตะที่กรำศึกหนักมาอาจจะเริ่มไม่ไหว – ซึ่งความจริงก็เริ่มเห็นมาตั้งแต่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาลที่แล้วที่ลิเวอร์พูลต้องตกเป็นรองคู่แข่งก่อนทุกนัด
เมื่อรวมกับการเตรียมความพร้อมที่มีเวลาน้อยกว่าปกติ รวมถึงการตัดสินใจของฝ่ายบริหารที่ให้ทีมออกเดินทางมาทัวร์เอเชียก็ยิ่งทำให้การเตรียมทีมประสบปัญหามากขึ้นไปอีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ลิเวอร์พูลอยู่ในสภาพที่ไม่มีสภาพแบบนี้
วิกฤตตัวเจ็บครึ่งทีม
ในช่วงครึ่งหลังของเกมที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ในขณะที่ทีมตกเป็นฝ่ายตามหลัง 2 ประตู สิ่งที่คล็อปป์สามารถทำได้เพื่อแก้ไขเกมคือการเปลี่ยนตัว ฟาบินโญ กองกลางตัวรับลงมาแทนที่ของเฮนเดอร์สัน
และไพ่อีกใบในแนวรุกที่ใช้ได้บนม้านั่งสำรองคือ ฟาบิโอ คาร์วัลโญ กองหน้าดาวรุ่งวัย 19 ปีที่ซื้อมาจากฟูแลมเมื่อช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา โดยที่นอกเหนือจากนั้นแล้วคือ บ็อบบี คลาร์ก, คอสตาส ซิมิคาส, สเตฟาน ไบเซติช, แนต ฟิลลิปส์, เซปป์ ฟาน เดน เบิร์ก, อาเดรียน และ ฮาร์วีย์ เดวีส์ ซึ่งสองคนหลังเป็นผู้รักษาประตูด้วย
ที่เป็นเช่นนี้เพราะลิเวอร์พูลประสบปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บมากมายในเวลานี้ โดยตัวผู้เล่นชุดใหญ่ที่หายหน้าไปมีมากถึงครึ่งทีม โดยรายชื่อตัวเจ็บในเวลานี้ประกอบไปด้วย
- ติอาโก อัลกันตารา (ต้นขา)
- ดีโอโก โชตา (ต้นขา)
- โจเอล มาทิป (ขาหนีบ)
- ควีวิน เคลเลเฮอร์ (ขาหนีบ)
- เคอร์ติส โจนส์ (น่อง)
- อเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์ลิน (ต้นขา)
- อิบราฮิมา โกนาเต (เข่า)
- คาลวิน แรมซีย์ (ไม่ระบุ)
- นาบี เกอิตา (เจ็บเล็กน้อย)
ไม่นับการขาดหายของ ดาร์วิน นูนเญซ หัวหอกตัวใหม่ที่ชดใช้กรรมของตัวเองจากการบันดาลโทสะในเกมกับคริสตัล พาเลซ ด้วยการติดโทษแบน 3 นัด
แน่นอนส่วนหนึ่งที่ถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกันคือการกรำศึกหนักของผู้เล่นในฤดูกาลที่แล้ว (ซึ่งน่าแปลกที่แทบไม่มีปัญหาอาการบาดเจ็บ) แต่บางครั้งเรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย จนถึงขั้นที่คล็อปป์เองบอกว่าเหมือนมี ‘แม่มดสาป’ อยู่ในศูนย์ฝึกที่เคิร์กบีเลย
ทีมไหนที่ตัวเจ็บมากขนาดนี้แน่นอนว่าย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่ต้องสงสัย
ชอบต่อให้คู่แข่งก่อน?
ประตูของ จาดอน ซานโช ในช่วงครึ่งแรกของเกมที่โอลด์แทรฟฟอร์ด กลายเป็นเกมที่ 7 ติดต่อกันแล้วที่ลิเวอร์พูลเสียประตูให้คู่แข่งก่อนในเกมพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นสถิติใหม่เลยทีเดียว
การเสียประตูให้คู่แข่งก่อนเป็นการทำให้ทีมตกอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบ และเป็นสิ่งแรกที่ไม่ว่าทีมไหนก็ต้องหลีกเลี่ยง
“เราให้ทุกทีมได้ประตูนำเราไปก่อน” แอนดี โรเบิร์ตสัน ฟูลแบ็กจอมอึดยอมรับสภาพ “เราไม่สามารถทำให้ตัวเราเองต้องเข็นครกขึ้นภูเขาแบบนี้ได้ทุกนัด มันเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง”
เรื่องนี้เป็นไปตามที่โรเบิร์ตสันกล่าวจริงๆ เพราะถึงจะเป็นทีมที่เก่งแค่ไหน แต่การต้องมาเหนื่อยวิ่งไล่ตามทีมอื่นทุกครั้งก็ไม่ไหวเหมือนกัน
และเรื่องนี้ก็จะวนกลับไปยังคล็อปป์และสตาฟฟ์ที่ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมพวกเขาถึงเสียประตูไปก่อน?
แนวรับบกพร่อง? แดนกลางไม่สามารถปกป้องแนวรับ? หรือเป็นที่ระบบการเล่นแบบ High-Line ที่มีความเสี่ยงสูงและใช้มานานจนคู่แข่งเริ่มหาทางแก้ได้
Smart Buy ที่กลายเป็นปัญหา?
มาถึงเรื่องสุดท้ายที่มีการพูดถึงอย่างมากในหมู่เดอะ ค็อปในเวลานี้คือ การที่ลิเวอร์พูลปรับทัพเสริมทีมน้อยเกินไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จริงอยู่ที่ในช่วง 2-3 ปีหลังก็มีนักเตะอย่าง คอสตาส ซิมิคาส, ดีโอโก โชตา, ติอาโก อัลกันตารา, อิบราฮิมา โกนาเต, หลุยส์ ดิอาซ, ดาร์วิน นูนเญซ, ฟาบิโอ คาร์วัลโญ และ คาลวิน แรมซีย์ เข้ามา แต่ทีมก็มีการปล่อยผู้เล่นออกไปหลายรายเช่นกัน
ยกตัวอย่างในแนวรุกที่ในช่วงปิดฤดูกาลนี้ปล่อยตัว ดิวอค โอริกิ, ทาคุมิ มินามิโนะ และ ซาดิโอ มาเน ออกจากทีม แต่ได้แค่นูนเญซและคาร์วัลโญเข้ามาแค่สองคน
ขณะที่ในแดนกลางแม้จะมีนักเตะให้เลือกใช้หลายราย แต่ในจำนวนนักเตะที่มีนั้นดูเปราะบางอย่างบอกไม่ถูก เพราะมีทั้งตัวที่ผลงานไม่กระเตื้องและเจ็บบ่อยอย่าง อเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์ลิน, นาบี เกอิตา, เคอร์ติส โจนส์ ส่วน จอร์แดน เฮนเดอร์สัน และ เจมส์ มิลเนอร์ ก็เริ่มโรยรา
คนที่ไว้ใจได้อย่าง ติอาโก อัลกันตารา ก็เป็นนักเตะที่เปราะบางเจ็บง่ายอยู่แล้ว ครั้นจะมาฝากความหวังกับเด็กอย่าง ฮาร์วีย์ เอลเลียตต์ หรือคาร์วัลโญก็ไม่ใช่ที่
จุดนี้ย้อนกลับไปที่การวางแผนสร้างทีมแบบลิเวอร์พูลในสไตล์ Moneyball ของ FSG ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่จะซื้อนักเตะที่ ‘เหมาะสม’ กับทีมและสถานการณ์ (ย้ายทีมได้-ค่าตัวไม่สูงเกินไป) มาเท่านั้น และการที่คล็อปป์ค่อนข้างเชื่อมั่นกับขุนพลในทีมทำให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อย
สิ่งที่น่าคิดคือการที่คล็อปป์มีการหลุดปากพูดถึงเรื่องของการเสริมทีมว่า “เขาไม่ใช่คนคุมงบ” ซึ่งหมายถึงจริงๆ แล้วบอสชาวเยอรมันอาจจะอยากได้นักเตะใหม่เข้ามาเสริมทีม โดยเฉพาะในแดนกลางที่ความจริงอยากได้ โอเรเลียง ชูอาเมนี กองกลางทีมชาติฝรั่งเศสแต่นักเตะเลือกไปเรอัล มาดริด
ต้องจับตาว่าในช่วงก่อนตลาดการซื้อขายจะปิด สถานการณ์ที่เป็นอยู่จะทำให้คล็อปป์ไปจนถึง จูเลียน วอร์ด ในฐานะผู้อำนวยการสโมสรคนใหม่ จะตัดสินใจแหกกฎของ Smart Buy ด้วยการซื้อแบบ Panic Buy สักทีหรือไม่
แต่คำถามที่ตอบยากกว่าคือ ในเวลานี้จะมีนักเตะแบบที่คล็อปป์และทีมงานอยากได้หรือไม่