ธนาคารกลาง ตุรกี ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ลงมาอยู่ที่ 13% หลังจากแตะอยู่ที่ระดับ 14% นานร่วม 7 เดือน นับเป็นการตัดสินที่สวนทางกับความคาดหวังของตลาด และเป็นเซอร์ไพรส์ที่สร้างความกังขาเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางตุรกี จนฉุดให้ค่าเงินลีราดิ่งลงอย่างรุนแรงจนใกล้แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
แม้ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางตุรกีนับตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นจังหวะที่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก เพราะมีขึ้นในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งเกือบแตะ 80% แล้ว ดังนั้นจึงถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างสวนทางกับทิศทางภาวะของตลาด และสวนทางกับการตัดสินใจของบรรดาธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก
ทิโมธี แอช นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่จาก BlueBay Asset Management แสดงความเห็นว่า การเคลื่อนไหวของธนาคารกลางตุรกีเป็นความเคลื่อนไหวที่งี่เง่า เพราะเป็นเรื่องที่บ้ามากที่จะตัดลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนุนให้เงินเฟ้อขยับขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางตุรกีจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 79.6% ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อพุ่งตัวแรงตามราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น
แถลงการณ์ของธนาคารกลางตุรกีระบุสาเหตุของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจและเพิ่มปริมาณการจ้างงานในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์
ขณะเดียวกันธนาคารกลางตุรกียังชี้ให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวขึ้นได้ลดประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน ก่อนย้ำว่าธนาคารกลางเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อที่จะปรับตัวลดลง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของตรุกีกำลังสูญเสียโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมควรที่จะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของธนาคารกลางตุรกีทำให้หลายฝ่ายอดตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางตุรกีไม่ได้ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปีที่แล้ว ธนาคารกลางตุรกีได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องรวม 5.00% ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันจากประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำประเทศ ที่ได้ประกาศปลดผู้ว่าการธนาคารกลางหลายคนก่อนหน้า เหตุไม่ยอมสนองนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของรัฐบาล โดยผู้นำตุรกีอ้างว่าการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำจะช่วยหนุนการส่งออกและการจ้างงานในประเทศ
ความกังขาดังกล่าวทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลางในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ที่พากันเทขายค่าเงินลีราของตุรกี ฉุดให้ค่าเงินลีราร่วงลงอีก 0.83% มาอยู่ที่ 18 ลีราต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงเวลานี้เมื่อ 5 ปีที่แล้วค่าเงินลีราเคยอยู่ที่ 3.5 ลีราต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจของตุรกีอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะปัจจัยด้านความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งซ้ำเติมค่าเงินลีราที่อ่อนค่าลงอย่างมากก่อนหน้านี้ จากการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้เกิดวิกฤตค่าเงินลีราที่ทรุดตัวหนักถึง 44% ในปีที่ผ่านมา
หลายปีก่อนหน้านี้เศรษฐกิจตุรกีเติบโตอย่างรวดเร็วจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ทว่าในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ประธานาธิบดีเออร์โดกันกลับปฏิเสธที่จะใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น โดยมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น Mother of all evil หรือสุดยอดของความเลวร้ายขั้นสุด
ผลที่ได้คือค่าเงินลีราที่ลดลง และกำลังการใช้จ่ายของชาวเติร์กโดยเฉลี่ยที่น้อยลงไปมาก โดยค่าเงินลีราสูญเสียมูลค่าไปแล้ว 26% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และร่วงลง 80% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP